(23 ก.พ. 66) นายแพทย์สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร ประธานในพิธีเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ณ ห้องกิ่งทอง โรงแรมเอเชีย กรุงเทพ เขตราชเทวี
รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำหนดนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี ซึ่งในด้านสุขภาพดีนั้นสอดคล้องกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี โดยมีนโยบายที่เกี่ยวกับเด็กหลากหลาย สำหรับปัญหาตามที่ได้รับรายงานจะเห็นว่าการเข้าถึงการคัดกรองหรือการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของเด็ก 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเรื่องพัฒนาการ เรื่องออทิสติก และเรื่องสมาธิสั้น ยังมีจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการและการรักษาพยาบาล เมื่อเข้าไม่ถึง เด็กกลุ่มนี้ก็จะมีการพัฒนาการที่ล่าช้า ไม่ได้รับการรักษาพยาบาลที่ทำให้กลับสู่ภาวะปกติหรือสามารถมีพัฒนาการที่ดีได้ รวมถึงเรื่องการเรียนการใช้ชีวิตประจำวัน และจะเกิดผลกระทบตามมา โครงการอบรมนี้จึงเป็นโครงการที่ดี ซึ่งได้เชิญทั้งนายแพทย์ ทั้งผู้ที่ทำงานด้านสุขภาพจิตของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. รวมทั้งโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคทั้งกลุ่ม 3 นี้ ว่าจะคัดกรองอย่างไร และจะมีระบบส่งต่ออย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อในศูนย์บริการสาธารณสุข ซึ่งมีทั้งหมด 7 ศูนย์ฯ ที่มีแพทย์ที่จบทางด้านจิตเวช โดยได้มีการหารือกันว่า ทั้ง 7 ศูนย์ฯ นี้ จะต้องเพิ่มเติมอาวุธให้ เช่น การอบรมหลักสูตรพิเศษ ที่จะพัฒนาให้สามารถทำการรักษาได้โดยไม่ต้องส่งต่อไปที่โรงพยาบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุขด้วย และเชื่อว่า 2-3 กลุ่มโรคที่พูดถึง จริง ๆ แล้วไม่ได้ซับซ้อนมาก สามารถดูแลโดยจิตเวชเด็ก หรือจิตเวชผู้ใหญ่ที่ผ่านการอบรมในเรื่องนี้ได้และเบ็ดเสร็จ โดยไม่ต้องส่งโรงพยาบาล การอบรมในวันนี้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับทุกคน
สำหรับโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น จัดโดย สถาบันราชานุกูล ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ส่งเสริมป้องกัน และแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ในเขตสุขภาพที่ 13 โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยบริการในสังกัดสำนักอนามัย และสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร จากการดำเนินงานปีงบประมาณ 2565 พบว่าเด็กพัฒนาการล่าช้าได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ ร้อยละ 68.89 ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการจนกลับมาสมวัยร้อยละ 30.04 ผู้ป่วยออทิสติก (ASD) ซึ่งเป็นโรคที่บ่งชี้ระบบบริการสำหรับเด็กเล็ก เข้าถึงบริการสุขภาพจิต ร้อยละ 22.70 และผู้ป่วยสมาธิสั้น (AD HD) โรคบ่งชี้ระบบบริการสำหรับวัยเรียนและวัยรุ่น เข้าถึงบริการสุขภาพจิตร้อยละ 8.95 ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาด้านฐานข้อมูล แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการ การอบรมครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 13 ให้สามารถดูแลช่วยเหลือเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการล่าช้า วินิจฉัยผู้ป่วยออทิสติกและสมาธิสั้นได้ด้วยความมั่นใจ รวมทั้งดูแลหรือส่งต่อผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ได้ตามศักยภาพของหน่วยงาน โดยผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ ที่รับผิดชอบงานพัฒนาการสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ รวมทั้งสิ้น 66 คน
พิธีเปิดในวันนี้มี นายเกรียงไกร ตั้งจิตรมณีศักดา รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ แพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมงาน