(22 ก.พ.66) นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณางบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. … โดยการประชุมมีหน่วยงานกรุงทพมหานครร่วมประชุมชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการจัดทำงบประมาณ ประกอบด้วย กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 9 เขต (32 รายการ) งบประมาณ 82,360,670 บาท และกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 7 เขต (69 รายการ) งบประมาณ 522,429,000 บาท
สำหรับโครงการที่สำนักงานเขตขอจัดสรรงบประมาณ อาทิ การปรับปรุงซอย การปรับปรุงฝาท่อบ่อพัก การสร้างท่อระบายน้ำและบ่อพัก การติดตั้งราวกันตกเขื่อนริมคลอง การขุดลอกคลอง การปรับปรุงระบบไฟฟ้าอาคารสำนักงานเขต การก่อสร้างห้องน้ำในสวนสาธารณะ งานบำรุงซ่อมแซมรั้ว ฝ้าและหลังคาโรงเรียน ห้องน้ำภายในและภายนอกโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยตรง
คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งข้อสังเกตและให้คำแนะนำแก่หน่วยงานกทม. ในประเด็นต่าง ๆ ประกอบด้วย การขุดลอกคูคลองเพื่อเตรียมรองรับน้ำฝน สำนักการระบายน้ำ และสำนักงานเขตควรประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด และมองภาพรวมการแก้ไขปัญหาควรทำทุกเขตต่อเนื่องให้เป็นระบบ เนื่องจากคลองแต่ละแห่งจะยาวต่อเนื่องไปหลายเขต และควรเร่งรัดดำเนินการให้ทันฤดูฝน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำในพื้นที่ การดำเนินการปรับปรุงอาคารต่าง ๆ ควรระมัดระวังไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนและไม่กีดขวางการจราจร สำหรับคลองที่ขุดลอกและยังไม่มีสันเขื่อนขอให้เขตของบประมาณเพื่อจัดทำสันเขื่อนเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นเส้นทางสัญจร และการของบประมาณเพื่อปรับปรุงเขื่อนให้ขอจัดสรรงบประมาณเพื่อติดตั้งราวกันตกไปพร้อมกันทีเดียว
ในเรื่องของการซ่อมแซมผิวจราจร ให้สำนักการโยธาสนับสนุนอุปกรณ์กับสำนักงานเขตในการซ่อมแซมผิวจราจรให้มีความเหมาะสมและปลอดภัย หากไม่เพียงพอสามารถขอจัดสรรงบประมาณเข้ามาได้ และในพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของสำนักการโยธาหากไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ขอให้ส่งมอบให้เขตดูแลเพื่อความรวดเร็วในการปรับปรุง แก้ไข การปรับปรุงฝาท่อระบายน้ำ ให้สำนักการระบายน้ำพิจารณาหารูปแบบฝาท่อระบายน้ำให้ยึดติดกับถนนเพื่อป้องกันการขโมย และออกแบบฝาท่อระบายน้ำให้เป็นรูปแบบเดียวกัน มีมาตรฐาน ลดปัญหาเสียงดังเมื่อรถวิ่ง เนื่องจากฝาท่อไม่เรียบไปกับพื้นผิวถนน การปรับปรุงท่อระบายน้ำหรือเปลี่ยนท่อระบายน้ำให้คำนึงปริมาณการรับน้ำฝน และทิศทางน้ำไหล การปูกระเบื้องทางเท้าต้องได้มาตรฐาน มีการควบคุมวัสดุและขั้นตอนการก่อสร้างทุกขั้นตอน หน่วยงานควรเคร่งครัดตรวจติดตามการทำงานของผู้รับจ้างเพื่อให้งบประมาณที่ใช้ไปมีความคุ้มค่ามากที่สุด และสำนักการระบายน้ำควรตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อติดตามงานด้านการลอกคลองโดยเฉพาะ
ด้าน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะคณะกรรมการวิสามัญฯ กล่าวถึงปัญหาการขุดเจาะพื้นผิวจราจรระหว่างหน่วยงานของกรุงเทพมหานครและหน่วยงานสาธารณูปโภคที่ซ้ำซ้อนกันหลายครั้ง ว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครมีแนวปฏิบัติในเรี่องของการขุดเจาะพื้นผิวจราจรอยู่ คือ เมื่อหน่วยงานมีโครงการปรับปรุงถนนต้องแจ้งหน่วยงานสาธารณูปโภคให้ทราบ และหากหน่วยงานสาธารณูปโภคประสงค์ดำเนินการร่วมกันสามารถดำเนินการร่วมสัญญาเดียวกับกรุงเทพมหานครได้ โดยแนวปฏิบัตินี้ให้สำนักงานเขตดำเนินการเช่นเดียวกัน แต่จากการลงพื้นที่จริงและสอบถามหน่วยงานสาธารณูปโภคพบว่าหน่วยงานไม่ทราบว่ากทม.มีโครงการขุดเจาะในบริเวณเดียวกัน และหากเป็นถนนที่อยู่ในความดูแลของกทม.หน่วยงานที่ประสงค์ขุดเจาะต้องขออนุญาตกทม.ก่อน หากไม่ขอสามารถสั่งให้หยุดการทำงานได้ จึงเห็นว่าเรื่องการประสานงานเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนี้ ในที่ประชุม คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้กล่าวชื่นชมสำนักงานเขตจตุจักรที่ของบประมาณให้โรงเรียนถึง 5 แห่ง จากโรงเรียนในพื้นที่ทั้งหมด 7 แห่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้อำนวยการเขตเห็นความสำคัญของการศึกษา และฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครควรส่งเสริมการจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นรวมถึงจัดโครงการเพื่อแลกเปลี่ยนนักเรียนกับนานาชาติ โดยสภากรุงเทพมหานครพร้อมขับเคลื่อนเพื่อประโยชน์ของเด็กนักเรียนทุกคนอย่างเท่าเทียม
สำหรับสำนักงานเขตที่เข้าชี้แจงงบประมาณในวันนี้ ประกอบด้วย เขตปทุมวัน บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย วัฒนา พระโขนง บางนา จตุจักร ลาดพร้าว หลักสี่ ดอนเมือง สายไหม บางเขนและบางซื่อ และในวันพรุ่งนี้ (23 ก.พ.66) จะเป็นการชี้แจงรายละเอียดงบประมาณของสำนักงานเขตสวนหลวง (9 รายการ) งบประมาณ 32,163,000 บาท กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 7 เขต (33 รายการ) งบประมาณ 75,659,100 บาท และกลุ่มเขตกรุงธนใต้ 7 เขต (95 รายการ) งบประมาณ 831,497,000 บาท