(20 ก.พ.66) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการประชุม ณ สภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง
*วอนฝ่ายบริหารประเมินการทำงานข้าราชการเขต
นางอนงค์ เพชรทัต ส.ก.เขตดินแดง ได้ขอหารือที่ประชุม ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารเขต โดยกล่าวว่า ในขณะนี้ได้เข้ามาปฏิบัติงานเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว แต่พบหาปัญหาต่างๆ ในพื้นที่เขตยังไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ซี่งการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการ โดยในพื้นที่เขตดินแดงมีแฟลตทั้งในความรับผิดชอบของการเคหะและส่วนอื่น กว่า 150 แห่ง รวมทั้งยังมีถนน ตรอก ซอยที่ยังขาดการปรับปปรุงอีกมากมาย แต่พบว่าส.ก.ซึ่งมีความมุ่งหวังในการพัฒนาพื้นที่ ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ไฟฟ้าส่องสว่าง และการดูแลเศรษฐกิจในภาพรวมของพื้นที่ กลับไม่ได้มีส่วนในการพิจารณาหรือรับทราบการจัดสรรงบประมาณครั้งนี้แต่อย่างใด ทั้งนี้ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้นโยบายจะมีการประเมินการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุก 3 เดือน หากไม่ผ่านการประเมินจะมีการโยกย้าย จึงขอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ
*ผู้ว่าฯ กทม.เสนอร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม 66 จำนวน 9,999.31 ล้านบาท
จากนั้น ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2566 พ.ศ. … โดยจ่ายขาดจากเงินสะสมของกรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ.2562 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2563 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2564 ข้อ 12 กำหนดให้กรณีที่กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นจะต้องจ่ายขาดเงินสะสมให้กระทำได้ในกรณีที่เป็นกิจการที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรุงเทพมหานคร และที่มีความจำเป็นหรือเร่งด่วนเกี่ยวกับการบริการชุมชนและสังคม หรือเป็นกิจการซึ่งแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนโดยตรง หรือเป็นกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้กรุงเทพมหานคร และต้องเป็นไปตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร หรือตามที่มีกฎหมายกำหนด และให้คำนึงถึงฐานะเงินสะสมของกรุงเทพมหานครด้วย อย่างไรก็ดี กรุงเทพมหานครต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกินปีงบประมาณถัดไป หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้ตกเป็นเงินสะสม
“กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นเร่งด่วนในการบริการชุมชนและสังคม และให้ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ในการดำเนินการซ่อม สร้าง ช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยา จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร” ผู้ว่าฯกทม. กล่าว
โดยสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 27 ม.ค.66 กรุงเทพมหานครมีเงินฝากธนาคาร 91,685.62 ล้านบาทโดยเป็นเงินสะสม จำนวน 56,270.34 ล้านบาท หรือคิดเป็น 61.37 % ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ณ วันที่ 30 ก.ย.65 จำนวน 213 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 76,406.44 ล้านบาท ฐานะเงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพันประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ณ วันที่ 27 ม.ค.66 จำนวน 36,843.65 ล้านบาท
ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. …. วงเงินงบประมาณ 9,999.31 ล้านบาท จำแนกตามลักษณะงาน ประกอบด้วย ด้านความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อย จำนวน 61.44 ล้านบาท (0.61%) ด้านพัฒนาสังคมและชุมชนเมือง จำนวน 136.10 ล้านบาท (1.36%) ด้านสาธารณสุข จำนวน 328.81 ล้านบาท (3.29%) ด้านเมืองและการพัฒนาเมือง จำนวน 2,619.62 ล้านบาท (26.20%) การจัดบริการของสำนักงานเขต จำนวน 2,907.67 ล้านบาท (29.08%) และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 3,945.67 ล้านบาท (-39.46%)
จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้ร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง ดังนี้
นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง กล่าวว่า ขอขอบคุณฝ่ายบริหารที่เห็นความจำเป็น และเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งงบกลางคืองบที่ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก ในส่วนของร่างงบประมาณสำนักการระบายน้ำ ถือว่ามีประโยชน์เพราะเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ตะวันออก แต่ที่จะติคือ คือเรื่องประตูระบายน้ำคลองสามเสน-คลองบางซื่อ พบว่าไม่มีการเสนอเข้ามาซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงอยากสอบถามว่าเป็นเพราะอะไร ในครั้งประชุมพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญก็ได้สอบถามไปแล้วแต่ยังไม่มีการบรรจุเพื่อขอรับงบประมาณแต่อย่างใด ซึ่ง 3-4 เดือนหน้าจะเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคงไม่อยากให้ประชาชนเดือดร้อน
“สถานีสูบน้ำสามเสนและสถานีสูบน้ำบางซื่อ มีความจำเป็นเพราะฝนตกน้ำท่วม และผู้สื่อข่าวให้ความสนใจ เพราะการสูบน้ำการดึงน้ำไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งที่ได้รับโอนจากกรมชลประทานมากว่า 30 ปี ทั้ง 2 สถานีมีการสูบน้ำเพียง 30% ทั้งที่เป็นสถานีสูบน้ำที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร อีกทั้งเครื่องเก็บขยะที่สถานีสูบน้ำสามเสนใช้งานไม่ได้เลย ส่วนเครื่องเก็บขยะที่สถานีสูบน้ำบางซื่อ ใช้งานได้ 2 เครื่อง จาก 17 เครื่อง นอกจากนี้ สถานีสูบน้ำทั้ง 2 แห่ง ไม่มีปั๊มน้ำสำรองหากไฟฟ้าดับ” ส.ก.สุทธิชัย กล่าว
สำหรับงบประมาณของสำนักการโยธาพบว่ามีการตั้งงบประมาณเพื่อเวนคืนที่ดินหลายจุด ซึ่งในพื้นที่เขตทุ่งครุของส.ก.กิตติพงศ์ รวยฟูพันธุ์ มีปัญหาการจราจรติดขัดหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณถนนประชาอุทิศ 9 เขตทุ่งครุ ที่ต้องเร่งดำเนินการเนื่องจากมีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มีประชาชนอาศัยหนาแน่น แต่ขนาดถนนเท่าเดิม จึงขอให้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเวนคืนที่ดินพร้อมรองรับการขยายถนนต่อไปในอนาคตด้วย นอกจากนี้ยังพบว่าที่ผ่านมาการของบประมาณของสำนักการโยธาเพื่อปรับปรุงฟุตบาททางเท้าและผิวจราจรมีจำนวนมากหลายแห่ง หน่วยงานที่ออกแบบควรกำหนดรูปแบบมาตรฐาน ให้สวยงาม และมีความปลอดภัยสำหรับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา รวมทั้งตรวจสอบภายหลังการดำเนินการและควบคุมงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งควรติดตามเพื่อให้งบประมาณที่ใช้ไปคุ้มค่าและเกิดประโยชน์
ส.ก.สุทธิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ฝ่ายบริหารชี้แจงข้อเท็จจริงความล่าช้าโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตดุสิต เขตพระนคร และโครงการเรือไฟฟ้าของสำนักการจราจรและขนส่งซึ่งได้หยุดให้บริการมานานกว่า 3 เดือนแล้ว และการขอยืมรถดูดเลนจากสำนักการระบายน้ำเพื่อแก้ปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันในพื้นที่เขตจอมทอง ซึ่งหากเขตจอมทองขอจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดซื้อรถดูดเลนในครั้งต่อไปขอให้ฝ่ายบริหารพิจารณาด้วย เนื่องจากมีความสำคัญและจำเป็นมาก
*ส.ก.พญาไท กำชับฝ่ายบริหารขับเคลื่อนใช้งบปี66 ให้มีประสิทธิภาพ
นายพีรพล กนกวลัย ส.ก.พญาไท กล่าวว่า งบประมาณปี66 ที่สภากทม.ได้พิจารณาเห็นชอบไปแล้ว พบว่ามีการใช้ไปเพียง 10% แต่ในวันนี้ฝ่ายบริหารจะมาของบประมาณเพิ่มเติม จึงเกรงว่าจะเป็นการซ้ำซ้อนกับงบประจำปีเดิมหรือไม่ และเหตุใดไม่ขับเคลื่อนการใช้งบประมาณประจำปีที่มีอยู่ โดยเฉพาะสำนักการโยธามีการของบประมาณเพื่อปรับปรุงทางเท้าจำนวนมาก แต่กรุงเทพมหานครไม่เคยมีมาตรฐานทางเท้าที่เหมือนกันเลย และต้องซ่อมแซมทุก 2-3 ปี รวมถึงการเว้นระยะทางเท้าบริเวณหน้าบ้านเรือนประชาชนทำให้ประชาชนที่ต้องเดินผ่านต้องเดินขึ้น-ลงทางเท้า ซึ่งควรทำเป็นเนินราบเพื่อให้เจ้าของบ้านขับรถขึ้นไปแทน เพื่อให้ผู้ที่เดินเท้าได้รับความสะดวกเช่นเดียวกับผู้ที่ขับรถ สำหรับข้อสังเกตเพื่อทำถนนเส้นใหม่ ขอให้มีการออกแบบทางเท้า ท่อระบายน้ำ ท่อร้อยสายลงดิน ไปพร้อมกัน เพื่อไม่ต้องขุดเจาะหลายครั้งและก่อให้เกิดความไม่สวยงาม ซึ่งการใช้งบประมาณต้องให้ได้ประโยชน์และสวยงามด้วย
“กรุงเทพฯต้องเปลี่ยนแปลงในยุคนี้ เพราะประชาชนเป็นล้านคนได้เชื่อมั่นและมอบคะแนนเสียงให้ และการใช้งบประมาณต้องครอบคลุมกระจายทุกหน่วยงานให้เท่าเทียมกัน เนื่องจากประชาชนคาดหวังจากท่านมาก การเปลี่ยนแปลงนี้เชื่อว่าจะทำได้” ส.ก.พีรพล
*ขอบคุณฝ่ายบริหารและผู้บริหารเขต ร่วมแก้ปัญหาเขตลาดกระบัง
นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยอภิปรายเรื่องถนนหลายครั้ง ถนนร่มเกล้า ถนนคุ้มเกล้า ถนนฉลองกรุง ถนนเจ้าคุณทหาร ถนนหลวงแพ่ง 10 ถนนประชาอุทิศ ซึ่งมีทั้งปัญหาฝุ่นและน้ำท่วม ทุกปัญหาพบได้ในพื้นที่เขตลาดกระบังเช่นกัน ทั้งนี้ต้องขอบคุณผอ.เขตและผู้ว่าฯ ที่นำปัญหาลงเล่มร่างงบประมาณครั้งนี้ และลาดกระบังนี้จะดีขึ้นภายใน 4 ปี ภายใต้การดูแลของผู้ว่าฯและผู้บริหารเขต และการดูแลทุกข์สุขประชาชนจากตนเอง
*เตรียมหารือขอจัดสรรค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่กทม.
นายสัณห์สิทธิ์ เนาถาวร ส.ก.เขตวัฒนา กล่าวว่า จากประมาณการงบประมาณที่ผ่านมาพบว่ารายรับจริงของกรุงเทพมหานครเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าเมื่อเปิดประเทศ เศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่มีคำถามในเรื่องของการจัดสรรงบประมาณของแต่ละพื้นที่เขต และส.ก.ในฐานะตัวแทนพี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมในจุดใดได้บ้าง เขตอาจมีความรู้ในเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่ดี แต่ส.ก.เองก็มีความรู้เพราะเห็นปัญหาประชาชนอยู่เป็นประจำ นอกจากนี้ในเรื่องของทางเท้า เขตวัฒนามีหลายซอยที่เชื่อมต่อกับเขตพื้นที่อื่น เช่น ซอยนานา แต่จากข้อมูลพบว่าเป็นพื้นที่การดูแลของสำนักการโยธา จึงขอทราบว่าความเป็นไปได้ในการโอนภารกิจดูแลจากสำนักการโยธาเพื่อให้เขตพื้นที่ดูแลเอง และในฐานะคณะกรรมการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการงบประมาณ ในอนาคตจะขอให้กรุงเทพมหานครพิจารณาเรื่องค่าเหยียบแผ่นดิน หรือภาษีนักท่องเที่ยว ซึ่งรัฐบาลเรียกเก็บ ควรจัดสรรให้กรุงเทพมหานครด้วย เนื่องจากกรุงทพมหานครจะได้นำมาพัฒนาและดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในเขตกทม.ต่อไปได้
*เสนอจัด Workshop ผอ.เขต สรุปภาพรวมความต้องการเขตก่อนจัดทำงบประมาณ
นายสมชาย เต็มไพบูลย์กุล ส.ก.เขตคลองสาน กล่าวว่า นโยบายของผู้บริหารที่ผ่านมาจะเน้นคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณเป็นหลัก แต่ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ และความพร้อมของเขตด้วย โดยอาจจัดทำเป็น workshop เพื่อสรุปภาพรวมปัญหาอุปสรรค แนวทางการดำเนินการที่เขตต้องการ เพื่อจัดทำคำของบประมาณและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่ได้ตรงจุด ซึ่งการคำนึงถึงแต่ความคุ้มค่าโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนจะทำให้การทำงานแก้ไขความเดือดร้อนยากขึ้น
*ตั้งข้อสังเกตให้คณะกรรมการวิสามัญร่วมตรวจสอบติดตามความล่าช้าการใช้งบประมาณ
นายนภาพล จีระกุล ส.ก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า แนวทางการปฏิบัติเพื่อของบประมาณซึ่งควรเป็นโครงการเร่งด่วนแต่พบว่าหลายโครงการไม่มีความเร่งด่วน เช่น โครงการก่อสร้างเส้นทางผจญภัย พื้นที่เขตดุสิต ของสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งควรมีการศึกษารายละเอียดโครงการให้ชัดเจนก่อน รวมทั้งโครงการปรับปรุงถนนตรอกซอย ที่ผ่านมาในหลายเขตมีปัญหาความล่าช้าเนื่องจากติดขัดเรื่องระบบสาธารณูปโภค ทั้งการไฟฟ้า และการประปา ทำให้หลายโครงการไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด จึงขอสอบถามความเป็นไปได้ในการให้กรุงเทพมหานครจัดทำท่อร้อยสายเอง และการพิจารณจัดเก็บภาษีเสาไฟฟ้าและการจัดเก็บภาษีโรงแรมเพิ่มเติมเพื่อเป็นรายได้ให้กับกทม.
สำหรับการป้องกันน้ำท่วมเห็นด้วยกับการลอกท่อระบายน้ำโดยกรมราชทัณฑ์ แต่หลายเขตยังไม่มีการเซ็นสัญญาว่าจ้างกับกรมราชทัณฑ์แต่อย่างใด บางพื้นที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการล่าช้าในขณะที่ใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว เนื่องจากเป็นนโยบายของคณะผู้บริหาร เขตจึงไม่ได้ใช้วิธีการจ้างรูปแบบอื่น หากเปิดโอกาสให้เขตใช้วิธีอื่นการทำงานคาดว่าจะเร็วขึ้น หรืออนุมัติให้เขตจัดซื้อรถดูดเลนลอกท่อ ซึ่งจะประหยัดแรงงาน สามารถย่นระยะเวลา และมีความคุ้มค่ามากกว่า รวมถึงได้ตั้งข้อสังเกตว่าหลายหน่วยงานมีงบประมาณประจำปีอยู่แล้ว แต่บางหน่วยงานดำเนินการล่าช้า บางครั้งต้องยกเลิกแต่กลับมาของบประมาณเพิ่มเติมเข้ามาอีกครั้ง จึงขอให้คณะกรรมการวิสามัญต้องพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย
*ส.ก.ยานนาวา ฝากแก้ไขปัญหาในพื้นที่ อำนวยความสะดวกประชาชนหลายพันคน
นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา กล่าวว่า ได้เคยหารือปัญหาถนนนนทรี เขตยานนาวา กับผู้บริหารสำนักการโยธาในอดีตเกี่ยวกับเรื่องการปรับปรุงถนนนนทรี แต่ยังไม่พบว่ามีการบรรจุในงบประมาณเพิ่มเติมครั้งนี้ ซึ่งมีทั้งปัญหาฝาท่อระบายน้ำแตกหัก ยุบตัว โดยในบริเวณใกล้เคียงมีโรงเรียนในพื้นที่ด้วย หากดำเนินการได้จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนและนักเรียนได้หลายพันคน
สำหรับสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ซึ่งแล้วเสร็จไปนั้น พบว่ามีปัญหาไฟฟ้าส่องสว่างไม่ทั่วถึงถนนด้านล่าง ประกอบกับพื้นถนนไม่เรียบ จนทำผู้ที่ไม่ชำนาญเส้นทาง หรือผู้ที่เดินข้ามถนนเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง จึงขอให้เร่งดำเนินการแก้ไข รวมถึงโครงการปรับปรุงทางเท้าถนนสาธุประดิษฐ์ โดยสำนักการจาจรและขนส่ง ซึ่งใช้วิธีการบดอัดทรายให้แน่นก่อนปูคอนกรีตอาจจะเกิดการทรุดตัวและไม่ทนทานได้
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงข้อสอบถามของส.ก.ว่า โครงการคลองผดุงกรุงเกษมได้จัดสรรงบประมาณปี 65 และก่อหนี้ผูกพันได้แล้ว ส่วนโครงการสถานีสูบน้ำสามเสนก็ได้ตั้งงบประมาณในปี 67 แล้วเช่นเดียวกัน และกรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงรูปแบบการทำทางเท้า โดยการเทลีน (Lean Concrete)
หรือเทคอนกรีตเพื่อปรับผิวหน้าดินสำหรับเตรียมพื้นที่ไว้รองรับการเทคอนกรีต ซึ่งจะทำให้ทางเท้ามีความแข็งแรงขึ้น ในส่วนของคำแนะนำและข้อสังเกตอื่นของส.ก.นั้น กรุงเทพมหานครจะรับไปพิจารณาและปรับปรุงให้ดีขึ้นต่อไป
*เห็นชอบตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่าง 35 ท่าน
ที่ประชุมสภามีมติเห็นชอบรับหลักการแห่งร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 พ.ศ. … และให้แต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ 35 ท่าน กำหนดการแปรญัตติภายใน 7 วันทำการ และจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน (นับจากวันที่สภาฯรับร่างข้อบัญญัติฯ เป็นครั้งแรก) คือภายในวันที่ 5 เม.ย.66
—————