(26 ต.ค.65) นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2565 โดยมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(สก.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า)
โดยก่อนการประชุมประธานสภากทม. กล่าวชื่นชมเหตุการณ์เมื่อวันที่ 22 ต.ค.65 ดช.ศิราพัช ศรีงาม นักเรียนระดับชั้น ป.6 สังกัดโรงเรียนศาลาคู้ เขตมีนบุรี ช่วยชีวิตเด็ก 6 ขวบจากเหตุการณ์จมน้ำ ด้วยวิธี CPR โดยดช.ศิราพัช ได้รับการอบรมวิธีการช่วยเหลือจากมูลนิธิร่มไทรเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งขอให้ฝ่ายบริหารดำเนินการการอบรมขั้นพื้นฐาน CPR และการใช้เครื่อง AED กระจายไปทุกหน่วยงานของกทม. เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ประกสบภัยได้อย่างทันท่วงที
จากนั้น ประธานสภากทม. ชี้แจงเกี่ยวกับการบรรจุวาระการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ว่า ในการเสนอญัตติเข้าสู่ที่ประชุมจะดำเนินการโดยฝ่ายสก.และฝ่ายบริหาร สำหรับฝ่ายบริหารหากเสนอญัตติให้สภากรุงเทพมหานครพิจารณา จะบรรจุเป็นวาระในสมัยประชุมนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาการบรรจุญัตติได้ทำตามระเบียบมาโดยตลอด รวมถึงหากเอกสารไม่ครบถ้วนจะต้องขอเอกสารเพิ่มเติม โดยเฉพาะในญัตติที่เกี่ยวพันกับข้อกฎหมายจำเป็นต้องพิจารณาเอกสารเพิ่มเติมให้ละเอียดเพื่อประโยชน์ต่อการพิจารณาญัตตินั้น ๆ รวมถึงบางครั้งต้องประสานหน่วยงานภายนอกด้วย และส่งให้คณะกรรมการสามัญสภากรุงเทพมหานคร ทั้ง 12 คณะพิจารณาในเบื้องต้นถึงแม้ว่าเอกสารนั้นจะยังไม่ครบถ้วน ซึ่งญัตติในวันนี้หลายญัตติเห็นว่ายื่นมานานแต่คณะกรรมการสามัญเห็นว่าเอกสารยังขาดจึงได้ประสานกันภายในเพื่อขอให้ดำเนินการให้ครบ จึงทำให้วาระมีความล่าช้า
จากนั้นในที่ประชุมได้ร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับญัตติที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอ ได้แก่ ญัตติขอรับความเห็นจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่อง แนวทางการเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และ ญัตติขอรับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
นายพีรพล กนกวลัย สก.เขตพญาไท กล่าวว่า ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2562 เมื่อวันที่ 11 เม.ย.62 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและด้านระบบรถไฟฟ้าซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งด้านละหนึ่งคน เป็นกรรมการ และปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายที่ 1 (ช่วงสถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง) และโครงการส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) โดยให้เจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จึงทำให้การพิจารณารายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการรถไฟฟ้าไม่ได้อยู่ในอำนาจของกทม.แต่อย่างใด
“สภากทม.ไม่มีหน้าที่ในการกำหนดราคา รวมถึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ว่าฯ อีกต่อไป เพราะคำสั่งคสช.ใหญ่กว่าข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2552 การดำเนินการจึงเสี่ยงต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จำเป็นต้องมีการดำเนินการให้รอบคอบ ไม่ใช่เพียงการขอรับความเห็นจากสภากทม.เท่านั้น” สก.พญาไท กล่าว
นายนภาพล จีระกุล สก.เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า เมื่อมีคำสั่งคสช.ให้รวมส่วนต่อขยายที่ 1 และ2 เข้าด้วยกัน ทำให้กทม.ต้องบริหารทั้งเส้นทาง หากพิจารณาจากพรบ.ระเบียบบริหารราชการกทม.ประกอบ จะเห็นว่าส่วนต่อขยายอยู่นอกเขตกทม. หากกทม.รับมาดำเนินการต้องขอความเห็นชอบในการดำเนินการจากสภากทม. และ สภาต้องพิจารณาว่าเงินที่นำไปใช้นอกเขตกทม.มีประโยชน์ต่อกทม.อย่างไร ข้อมูลที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้ามีจำนวนมาก จึงควรส่งให้คณะกรรมการการจราจรและขนส่งพิจารณาในเบื้องต้นและเสนอความเห็นต่อสภากทม.อีกครั้ง
ทั้งนี้ในที่ประชุม ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติในชุดนี้ไม่ได้เป็นผู้เริ่มแต่มารับต่อเพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน หลายความเห็นเป็นเรื่องที่ดี เราไม่ได้ขออนุมัติหรือขอมติจากสภากทม.เป็นเพียงแค่ขอความเห็น เราเป็นตัวแทนประชาชนหากเราไม่พูดประชาชนจะพูดได้อย่างไร สิ่งที่สก.พูดคือสิ่งที่อยากได้ยิน หากไม่ได้เริ่มต้นในวันนี้เรื่องนี้จะไม่จบ
จากนั้น นายวิรัช คงคาเขตร ได้เสนอญัตติเพื่อให้ผู้ว่าฯ กทม.ถอนญัตติดังกล่าวออกจากวาระการประชุม เพื่อให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครได้มีเวลาในการพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบและรอบด้าน รวมถึงอาจเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมหารือหรือการตั้งคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบและให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครถอนญัตติดังกล่าวออกจากการประชุมในครั้งนี้
—————-