(15 ก.พ. 66) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรม Electric Vehicle (EV) ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และภาคเอกชนที่สนับสนุนการยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจัดขึ้น ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เขตพระนคร ตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ การไฟฟ้านครหลวง สาขาย่อยเพลินจิต เขตปทุมวัน และห้างสรรพสินค้า Central World เขตปทุมวัน
ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกรุงเทพมหานครให้แก่ นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมด้วยคณะจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และผู้แทนจากภาคเอกชนที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดในการขับเคลื่อนยานพาหนะ ได้แก่ นางสาวอเดลิน คุย หัวหน้าแผนกนโยบายสาธารณะและการพัฒนาธุรกิจ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัท เทสลา นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธ์ จำกัด (มหาชน) ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้มีการนำเสนอถึงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกรุงเทพมหานคร ดังนี้
เรื่องแรก การจัดการปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของกรุงเทพมหานครดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยกรุงเทพมหานครจะมีการควบคุมติดตามฝุ่นด้วยการระบุประเภทของฝุ่น การรับปัญหาร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue และการพยากรณ์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศและมีเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศในการควบคุมติดตามด้วย โดยกรุงเทพมหานครจะนำข้อมูลที่ได้มาดำเนินการลดฝุ่นละอองที่เกิดขึ้นและนำมาใช้เพื่อการป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่นละอองดังกล่าวต่อไป
ส่วนเรื่องที่ 2 กรุงเทพมหานครมีเป้าหมายสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยในปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ร่วมกับองค์กร JICA ในการจัดทำแผนแม่บทกรุงเทพมหานครว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งได้มีการวิเคราะห์สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและจัดทำเป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ รวมถึงยังมีการดำเนินงานร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (Thailand Greenhouse Gas Management Organization : TGO) ในการคำนวณ Carbon Footprint ของกรุงเทพมหานครอีกด้วย
สำหรับแนวทางอื่นๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การใช้รถบัส EV ในการเชื่อมประชาชนกับเป้าหมายในการเดินทาง การสนับสนุนการจัดให้มีระบบนิเวศเพื่อยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า เช่น การเพิ่มสถานีชาร์ตพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงกรุงเทพมหานครยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ในการรองรับการใช้จักรยานหรือการเดินทางที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งสนับสนุนการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานสะอาดในอาคารสำนักงาน การบริหารจัดการขยะและน้ำเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครยังส่งเสริมให้มีการเพิ่มสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานครด้วย
จากนั้นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมคณะกับ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (Energy Absolute Public Company Limited : EA) และผู้เกี่ยวข้อง เดินทางไปเยี่ยมชมและร่วมกิจกรรมตามจุดต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้
เวลา 14.40 น. เดินทางออกจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วยรถบัสพลังงานไฟฟ้า (Electric Bus) ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รับฟังการบรรยายจาก รศ.ดร.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ รศ.ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย นักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ในหัวข้อ ดังนี้ 1. การพัฒนาโร้ดแมปการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Bangkok ‘s Decarbonization Roadmap) โดยใช้เครื่องมือ cutting edge US modelling ดำเนินการโดยห้องปฏิบัติการ แห่งชาติแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ (Pacific Northwest National Laboratory : PNNL) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สหรัฐอเมริการและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 2. โครงการฝึกงานด้านพลังงานสำหรับสตรี ดำเนินการโดยองค์การเพื่อการพัฒนา ระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development : USAID) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เวลา 15.30 น. เดินทางจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยเรือเฟอร์รี่พลังงานไฟฟ้า จากท่าเรือลานปรีดีฯ พร้อมรับฟังการบรรยาย โดย นายฉัตรพล ศรีประทุม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์และวางแผนการลงทุน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด หรือ Energy Absolute (EA) และร่วมหารือบนรถบัสพลังงานไฟฟ้าและเรือเฟอร์รี่พลังงานไฟฟ้า ในประเด็นเกี่ยวกับการริเริ่มดำเนินงานด้านพลังงานสะอาดของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด เช่น โครงการเรือเฟอร์รี่พลังงานไฟฟ้าและรถบัสพลังงานไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่และการพัฒนาเชื้อเพลิงสำหรับการเดินอากาศที่ยั่งยืน เพื่อมุ่งเน้นให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองพลังงานสะอาด
เวลา 16.00 น. เดินทางถึงท่าเรืออาคาร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) โดยมีผู้แทนจาก MuvMi (บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้เทค จำกัด) และผู้แทนจากบริษัท Agoda ประเทศไทย พบปะพูดคุยกับประชาชนบริเวณตลาดน้อย ในประเด็นประสบการณ์ส่วนบุคคลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุทกภัย การแพร่ระบาดของโควิด-19 และ PM2.5 รวมถึงพูดคุยในประเด็นการคืนกำไรสู่สังคมผ่านการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนของบริษัท Agoda
เวลา 16.30 น. เดินทางจากชุมชนตลาดน้อยไปยังสถานีชาร์จไฟฟ้า ณ สำนักงานของการไฟฟ้านครหลวง สาขาย่อยเพลินจิต โดยรถยนต์เทสลา เมื่อถึงสถานีชาร์จไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง ได้รับฟังบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle) โดยการไฟฟ้านครหลวง ซึ่งมีผู้แทนจากการไฟฟ้านครหลวงและผู้แทนจาก บริษัท อีวีโลโม เทคโนโลยีส์ จำกัด (EVLOMO Technologies Co., Ltd.) เป็นผู้บรรยาย
เวลา 17.30 น. เดินเท้าจากการไฟฟ้านครหลวงไปยังสถานีซุปเปอร์ชาร์จจิ้ง (Supercharging Station) แห่งแรกของเทสลา ณ ห้างสรรพสินค้า Central World เยี่ยมชมสถานีซุปเปอร์ชาร์จจิ้งดังกล่าว และร่วมชมการใช้งานจริงจากประชาชนที่มาใช้บริการ โดยมีผู้แทนจาก บริษัท เทสลา เป็นผู้แนะนำสถานีฯ และการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ เสร็จสิ้นการร่วมกิจกรรม
————————- (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)