(15 ก.พ.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจอมทอง ประกอบด้วย
สำรวจพื้นที่ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณตลาดพิบูลย์วิทย์ 6 ถนนเอกชัย ซึ่งเป็นตลาดเอกชน จำนวนแผงค้าทั้งหมด 200 แผง มีแผงค้าว่างสามารถรองรับผู้ค้าได้อีก 30 แผง เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่างในจุดที่เหมาะสม โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม พร้อมทั้งบริหารจัดการทำความสะอาดพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center อาจจะเป็นพื้นที่ว่างของเอกชน โดยคำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ พิจารณายุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน รวมถึงย้ายผู้ค้าที่อยู่ติดถนนใหญ่หรือปากซอยให้เข้าไปอยู่ในซอย เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
ตรวจพื้นที่ทำการค้า บริเวณตลาดใหม่จอมทอง ถนนจอมทอง เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 12 แห่ง รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 174 ราย ได้แก่ 1.ซอยจอมทอง 16 ถึงสุดซอยจอมทอง 16 ผู้ค้า 19 ราย เวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 2.ซอยจอมทอง 16 ถึงด้านซ้ายหลังธนาคารกสิกรไทย ผู้ค้า 13 ราย เวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 3.ซอยจอมทอง 14 ถึงหลังตลาด ผู้ค้า 25 ราย เวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 4.ซอยจอมทอง 12 ถึงซอยจอมทอง 12 ผู้ค้า 17 ราย เวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 5.สถานีรถไฟฟ้า BTS วุฒากาศ ผู้ค้า 18 ราย เวลาทำการค้า 15.00-21.00 น. 6.ถนนพระรามที่ 2 ซอย 28 (วัจนะ) ผู้ค้า 12 ราย เวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 7.ถนนพระรามที่ 2 ซอย 28 (หลังโรงพยาบาลบางปะกอก 9) ผู้ค้า 32 ราย เวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 8.ซอยสุขสวัสดิ์ 14 ผู้ค้า 8 ราย เวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. 9.ซอยเอกชัย 43 (หน้ามัธยมโรงเรียนวัดสิงห์) ผู้ค้า 12 ราย เวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 10.ถนนพุทธบูชา ซอย 7 ถึงซอย 23 ผู้ค้า 9 ราย เวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 11.ถนนพระราม 2 ซอย 33 หน้าวัดยายร่ม ผู้ค้า 6 ราย เวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 12.ถนนพระราม 2 ซอย 3 ถึงซอย 45 ผู้ค้า 3 ราย เวลาทำการค้า 09.00-13.00 น. ซึ่งในพื้นที่เขตฯ ไม่มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน ทั้งนี้รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้า กวดขันไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า เพื่อให้ประชาชนและผู้ค้าสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันอย่างสะดวกและปลอดภัย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ถนนราชพฤกษ์ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทโรงงานที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) 8 แห่ง ประเภทการผลิต สะสม แบ่งบรรจุธูป 1 แห่ง ประเภทการต่อ ประกอบ เคาะ ปะผุ พ่นสี หรือพ่นสารกันสนิมยานยนต์ 26 แห่ง ประเภทการหลอม หรือหล่อโลหะทุกชนิด 15 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบบ่อคายกากคอนกรีตตกตะกอน ปรับพื้นที่ให้เรียบไม่ให้เป็นแอ่งน้ำขังเวลาที่ฝนตก ตรวจวัดควันดำรถโม่ปูนอย่างสม่ำเสมอ
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนวัดสีสุก ถนนพระราม 2 ซอย 28 มีประชากร 187 คน บ้านเรือน 57 หลัง เป็นชุมชนที่ผ่านการคัดเลือกการประกวด Zero Waste ในปีงบประมาณ 2565 วิธีการคัดแยกขยะแต่ละประเภท ดังนี้ 1.การจัดการขยะและใช้ประโยชน์จากขยะที่ต้นทาง ขยะรีไซเคิลแยกขายเอง กิ่งไม้ใบไม้คัดแยกทำปุ๋ย เศษอาหารแยกทำปุ๋ยหมักชีวภาพ หรือให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงสัตว์ คัดแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป และทิ้งขยะอันตรายในจุดที่ชุมชนจัดไว้ 2.การจัดการขยะที่กลางทางอย่างมีประสิทธิภาพ จัดรถเก็บขนมูลฝอยเข้าบริการจัดเก็บขยะ เพื่อนำเข้าสู่ระบบกำจัดอย่างทั่วถึง 3.การจัดการขยะที่ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ ขยะที่จัดเก็บได้ในแต่ละวันถูกขนส่งไปยังศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และศูนย์กำจัดมูลฝอยสายไหม สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยก 15 ถุง/ครั้ง ปริมาณขยะหลังการคัดแยก 11 ถุง/ครั้ง ปริมาณขยะที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ 1-2 ถุง/ครั้ง เขตฯ จัดเก็บขยะทางเรือวันเว้นวัน
ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตจอมทอง วิธีการคัดแยกขยะ โดยตั้งวางถังขยะแยกประเภทในอาคาร ดังนี้ ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) ได้แก่ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ ถังขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ได้แก่ ขยะเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) ได้แก่ กระดาษ พลาสติก กระป๋อง ถังขยะอันตราย (สีส้ม) ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อน วัตถุอันตราย สารเคมี ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) ได้แก่ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หรือสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่ง พร้อมทั้งขอความร่วมมือบุคลากรของเขตฯ และประชาชนที่มาติดต่อราชการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ สำหรับการคัดแยกขยะจากร้านค้าภายในเขตฯ เจ้าหน้าที่เขตฯ จะจัดเก็บเศษอาหารและขยะจากร้านค้าในเวลา 13.30 น. และจะนำไปรวบรวมบริเวณจุดคัดแยกขยะ ส่วนวิธีการคัดแยกขยะแต่ละประเภท แม่บ้านจะคัดแยกขยะแต่ละชั้น แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ขยะทั่วไป ขยะอันตราย ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และจะนำไปรวบรวมบริเวณจุดคัดแยกขยะ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยก 15-18 ถุง/วัน ปริมาณขยะหลังการคัดแยก 6-7 ถุง/วัน ปริมาณขยะที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ 1-2 ถุง/วัน
สำรวจการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บริเวณที่รกร้างว่างเปล่าถนนพระราม 2 ซอย 44 ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 48,361 แปลง สำรวจครบแล้ว แปลง สิ่งปลูกสร้าง 59,492 แห่ง สำรวจแล้ว 44,115 แห่ง คงเหลือ 15,377 แห่ง ห้องชุด 14,871 ห้อง สำรวจแล้ว 14,619 ห้อง คงเหลือ 252 ห้อง สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 122,724 รายการ สำรวจแล้ว 107,095 รายการ คงเหลือ 15,629 รายการ ปัจจุบันพื้นที่บางแห่งอาจเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าเจ้าของที่ดินปล่อยทิ้งไว้ไม่ใช้ประโยชน์ เขตฯ จึงต้องลงสำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อจัดเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง เพื่อนำไปประเมินการจัดเก็บภาษีให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจัดเก็บภาษี พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายณัฐพงษ์ มีโภคกิจ ผู้อำนวยการเขตจอมทอง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตจอมทอง สำนักเทศกิจ ชาวชุมชนวัดสีสุก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)