(13 ก.พ. 66) เวลา 15.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เขตมีนบุรี เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะ สำนักงานเขตมีนบุรี สร้างต้นแบบการคัดแยกขยะ ต่อยอดให้การคัดแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร วิธีการคัดแยกขยะ โดยมีถังขยะแยกประเภทในแต่ละอาคาร ดังนี้ ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) ได้แก่ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ ถังขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ได้แก่ ขยะเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) ได้แก่ กระดาษ พลาสติก กระป๋อง ถังขยะอันตราย (สีส้ม) ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อน วัตถุอันตราย สารเคมี ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) ได้แก่ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หรือสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่ง นอกจากนี้ ฝ่ายรักษาฯ จัดการอบรมการคัดแยกขยะให้กับบุคลากรภายในเขตฯ โดยให้ความรู้ในการคัดแยกขยะต้นทาง ซึ่งจะมีการคัดแยกขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะเศษอาหาร โดยนำขยะเศษอาหารรวบรวมไว้ที่ถังหมักขยะ เพื่อนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ อีกทั้งภายในสำนักงานเขตฯ มีจุดรวมขยะอันตราย 1 จุด และมีผู้ประกอบการมารับขยะเศษอาหารที่ได้จากโรงอาหาร เพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ การตั้งจุดแยกขยะขวดพลาสติกตามโครงการแยกขวดเพื่อพี่ไม้กวาด จัดทำคอกหมักปุ๋ยอินทรีย์ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์โครงการไม่เทรวม ขอความร่วมมือบุคลากรของเขตฯ และประชาชนที่มาติดต่อราชการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ สำหรับปริมาณขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน ปริมาณขยะทั่วไปหลังคัดแยก 30 กิโลกรัม/เดือน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ถนนรามคำแหง เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 27 แห่ง ประเภทท่ารถตู้โดยสาร 13 แห่ง ประเภทอู่รถเมล์ 1 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 10 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 10 แห่ง ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 18 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่โดยรอบแพลนท์ปูนตลอดเวลา เปลี่ยนน้ำบ่อล้างล้อรถ ตรวจสอบรถวัดควันดำรถโม่ปูนอย่างสม่ำเสมอ
สำรวจพื้นที่จัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณหน้าหมู่บ้านรินทร์ทอง ถนนรามคำแหง เพื่อจัดทำเป็น Hawker Center ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม พร้อมทั้งบริหารจัดการดูแลทำความสะอาดพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบความสะอาดของสินค้าและอาหารที่จำหน่าย มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำ Hawker Center อาจจะเป็นพื้นที่ว่างของเอกชน โดยคำนึงถึงผู้ค้าขายและผู้ซื้อสินค้า ช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ รวมถึงหาแนวทางยุบรวมจุดที่มีผู้ค้าจำนวนน้อยราย โดยให้มาทำการค้าในจุดเดียวกัน ตลอดจนย้ายผู้ค้าที่อยู่ริมถนนหรือปากซอยให้เข้าไปอยู่ในซอย เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่ ทั้งนี้เขตฯ ไม่มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 11 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 117 ราย ได้แก่ 1.ถนนร่มเกล้า 5 ราย 2.ถนนนิมิตใหม่ 1 ราย 3.ถนนรามคำแหง 10 ราย 4.ถนนราษฎร์อุทิศ 8 ราย 5.ถนนสามวา 8 ราย 6.ถนนสีหบุรานุกิจ 25 ราย 7.ถนนสุวินทวงศ์ 25 ราย 8.ถนนหทัยราษฎร์ 30 ราย 9.ถนนประชาร่วมใจ 1 ราย 10.ถนนหม่อมเจ้าฯ 3 ราย และ 11.ถนนบึงขวาง 1 ราย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ ถนนคุ้มเกล้า เป็นโรงเรียนขนาดกลาง ระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียน 500 คน วิธีการคัดแยกขยะ จัดกิจกรรมการคัดแยกขยะ ธนาคารขยะ ทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำปุ๋ยหมัก จุดรับวัสดุรีไซเคิล การรวบรวมกล่องนม รวบรวมขยะอันตราย รวบรวมน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว ซึ่งเขตฯ ได้ให้การอบรมความรู้ในการคัดแยกขยะต้นทางและการทำน้ำหมักชีวภาพให้นักเรียนได้มีความรู้ต่อยอดในการนำไปใช้ที่บ้านได้ ทั้งนี้ เขตฯ ร่วมกับศูนย์การเรียนรู้เด็กพิเศษมีนบุรี โดยมูลนิธิกู้ภัย-ร่มไทรมีนบุรี ให้ความรู้การคัดแยกขยะต้นทาง การนำขยะมาใช้ประโยชน์ (D.I.Y) การนำขยะเศษอาหาร ทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำหมัก มอบถังหมักให้โรงเรียนนำต่อยอดทำน้ำหมัก สำหรับปริมาณขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน ปริมาณขยะทั่วไปหลังคัดแยก 15 กิโลกรัม/เดือน เขตฯ จัดเก็บขยะ 2 ครั้ง/สัปดาห์
พร้อมกันนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สอบถามเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ถนนคุ้มเกล้า ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 62,463 แปลง สำรวจแล้ว 62,422 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 52,392 แห่ง สำรวจแล้ว 49,307 แห่ง ห้องชุด 10,497 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 125,352 รายการ สำรวจแล้ว 122,226 รายการ คงเหลือ 3,126 รายการ ปัจจุบันพื้นที่บางแห่งอาจเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน เขตฯ จึงต้องลงสำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อจัดเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง เพื่อนำไปประเมินการจัดเก็บภาษีให้มีความถูกต้องครบถ้วน โดยให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศักดิ์ชัย ใสสุข ผู้อำนวยการเขตมีนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตมีนบุรี สำนักเทศกิจ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนวัดทองสัมฤทธิ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)