(13 ก.พ.66) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการจัดส่งเอกสารการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยบริการไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับในพื้นที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ และสำนักงานเขตลาดพร้าว เพื่อรับฟังปัญหาและอุปสรรคในการทำงานและพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ณ ห้องประชุมชั้น 1 ศาลาประชาคมเมืองมีนถิ่นทอง เขตมีนบุรี
ในที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดส่งเอกสารการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ด้วยบริการไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับในพื้นที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ดังนี้ 1.กรณีปัญหาการแจ้งแบบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส. 3-4) และการแจ้งประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส. 6-8) ซึ่งมีปริมาณมาก และต้องส่งให้แก่ผู้เสียภาษีโดยตรง หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทำการของบุคคลนั้น โดยจดหมายได้ถูกตีกลับคืนมาเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีได้ แนวทางการแก้ไขปัญหาให้จัดทำแบบบัญชีรายการต่างๆ ให้เสร็จก่อนใกล้ครบกำหนดเวลาการนำส่ง หากมีหนังสือตีกลับอยู่ภายในเดือนที่กำหนดตามกฎหมายให้นำส่งใหม่ หากไม่สามารถนำส่งได้ให้กระทำโดยวิธีการปิดหนังสือในที่เห็นได้ง่าย ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษีนั้นหรือลงประกาศแจ้งความในหนังสือพิมพ์ และควรเปิดช่องทางให้ประชาชนแจ้งความประสงค์ให้กรุงเทพมหานครจัดส่งข้อมูลรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) 2.กรณีหนังสือแจ้งข้อมูลบัญชีรายการทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างหรือหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่หรือสถานที่ทำการของผู้เสียภาษี และจดหมายได้ถูกตีกลับเนื่องจากไม่มีผู้รับ แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของสำนักงานเขตช่วยนำส่งในกรณีสถานที่นำส่งตั้งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขต 3.กรณีส่งจดหมายแต่ไม่ได้รับใบเหลืองกลับคืนและไม่มีจดหมายตีกลับ แนวทางการแก้ไขปัญหาต้องจัดให้มีระบบเช็คข้อมูลสถานะจดหมายทางไปรษณีย์อัตโนมัติ ซึ่งบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เป็นใบตอบรับแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดว่าจะเริ่มต้นใช้งานได้ในไตรมาสที่ 3-4 ของปี พ.ศ.2566
4.กรณีจดหมายตีกลับคืนมายังสำนักงานเขตแต่ในระบบของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ระบุสถานะในการนำส่งจดหมายว่านำจ่ายสำเร็จ แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการปรับปรุงพัฒนาแก้ไขระบบการดำเนินการส่งไปรษณีย์ 5.กรณีการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส. 6-8) โดยวิธีการส่งไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับไม่ถึงผู้เสียภาษีเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้ตามกฎหมาย แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการนำจดหมายซึ่งถูกตีกลับส่งทางไปรษณีย์แบบธรรมดาและผู้เสียภาษีส่วนใหญ่ได้รับจดหมายแล้วมาชำระภาษีซึ่งได้ผลมากกว่าการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ 6.กรณีหนังสือแจ้งการประเมินที่ส่งทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับถูกตีกลับจำนวนมาก ใบเหลืองตอบรับฉีกขาดไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ไปรษณีย์ไม่ได้เก็บใบเหลืองตอบสำนักงานเขต แนวทางการแก้ไขปัญหาให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กำชับผู้ปฏิบัติงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อการทำงานของสำนักงานเขต 7.กรณีผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้เป็นผู้เซ็นรับหนังสือ แนวทางการแก้ไขปัญหาให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กำชับผู้ปฏิบัติงานให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อการทำงานของสำนักงานเขต 8.กรณีมีหนังสือตกค้างอยู่ที่ไปรษณีย์สาขาเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานกว่าจะส่งคืนสำนักงานเขต ทำให้ล่วงเลยกำหนดระยะเวลาการแจ้งหนังสือตามกฎหมาย แนวทางการแก้ไขปัญหาให้สำนักงานเขตประสานที่ทำการไปรษณีย์สาขา ตรวจสอบจดหมายตกค้างอย่างสม่ำเสมอ 9.จดหมายตีกลับ เนื่องจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ยอมรับหนังสือ เมื่อรู้ว่าเป็นหนังสือแจ้งการประเมินภาษี แนวทางการแก้ไขปัญหาให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ของสำนักงานเขต ช่วยจัดส่งและถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษีตามแนวทางที่หารือร่วมกันในที่ประชุม เพื่อให้การส่งหนังสือตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การจัดเก็บภาษีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ในการประชุมวันนี้มี นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายไพศาล เหมวัฒนานันท์ รองผู้อำนวยการสำนักการคลัง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักการคลัง สำนักงานเขตลาดพร้าว กลุ่มเขตกรุงเทพตะวันออก 9 เขต ประกอบด้วย เขตบางกะปิ เขตสะพานสูง เขตบึงกุ่ม เขตคันนายาว เขตลาดกระบัง เขตมีนบุรี เขตหนองจอก เขตคลองสามวา และเขตประเวศ กลุ่มเขตกรุงเทพใต้ 10 เขต ประกอบด้วย เขตปทุมวัน เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางคอแหลม เขตยานนาวา เขตคลองเตย เขตวัฒนา เขตพระโขนง เขตสวนหลวง และเขตบางนา บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และไปรษณีย์สาขา 11 แห่ง ประกอบด้วย ไปรษณีย์ลาดกระบัง ไปรษณีย์หนองจอก ไปรษณีย์จระเข้บัว ไปรษณีย์คลองจั่น ไปรษณีย์อ่อนนุช ไปรษณีย์บางรัก ไปรษณีย์รองเมือง ไปรษณีย์มีนบุรี ไปรษณีย์พระโขนง ไปรษณีย์ยานนาวา และไปรษณีย์บางนา ร่วมประชุม
#บริหารจัดการดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)