กทม.-บช.น. ประชุมเคร่ง เร่งหาทางออกให้สถานประกอบการ ที่คล้ายสถานบริการเปิดได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย
นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะทำงานบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานครและสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้านสถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ โดยมี พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารและผู้แทน หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครและกองบัญชาการตำรวจ นครบาล (บช.น.) ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ตามที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บัญชาการ ตำรวจแห่งชาติได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการบูรณาการความร่วมมือ ระหว่างกรุงเทพมหานครและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เขตปทุมวัน นั้น ที่ประชุมได้มีมติให้มีการแต่งตั้ง คณะทำงานบูรณาการความร่วมมือในด้านต่างๆ และผู้ว่าฯกทม.ได้มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 213/2566 ลงวันที่ 20 มกราคม 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานบูรณาการความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครและสำนักงานตำรวจแห่งชาติในด้านต่างๆ จำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะทำงานด้านพื้นที่ปลอดภัย (Smart Safety Zone) คณะทำงานด้านยาเสพติด คณะทำงานด้านการจราจร และคณะทำงานด้านสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ
ในส่วนของคณะทำงานด้านสถานประกอบการที่มี ลักษณะคล้ายสถานบริการ มี พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าฯกทม. เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกทม. สั่งราชการสำนักเทศกิจ เป็นประธาน คณะทำงาน ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกรุงเทพมหานคร และผู้แทนจาก บช.น. ร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะทำงานด้านสถานประกอบการที่คล้ายฯ
ที่ประชุมได้หารือถึงข้อมูลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ การควบคุม กำกับ ดูแลสถานบริการและสถานประกอบการที่มี ลักษณะคล้ายสถานบริการ อาทิ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ร.บ. ควบคุมอาคาร พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ควบคุมการดำเนินกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) พ.ร.ฎ.กำหนดเขตพื้นที่เพื่อการอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในท้องที่กรุงเทพมหานคร เป็นต้น ซึ่งกฎหมายที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้เข้ากับยุคปัจจุบัน เช่น การกำหนดพื้นที่โซนนิ่ง (zoning) สถานบริการ ยังเป็นการกำหนดจากแบบแผนเดิมซึ่งมีเพียง 3 ย่านที่ได้รับอนุญาตให้มีสถานบริการ ได้แก่ ย่านพัฒน์พงษ์ ย่านเพชรบุรี และย่านรัชดาภิเษก ข้อมูลของ บช.น. พบว่ามีสถานบริการรวม 221 แห่ง อยู่ในโซนนิ่ง 68 แห่ง และ นอกโซนนิ่ง 153 แห่ง ข้อมูลของ กทม. พบว่าในพื้นที่ 50 เขต มีสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ 1,193 แห่ง ซึ่งหมายถึง มีสถานบริการและสถานประกอบการที่คล้ายฯ ขยายตัวออกไปเกินพื้นที่โซนนิ่งจำนวนมาก
รองปลัดกทม. กล่าวว่า ในส่วนของสถานบริการ ทาง บช.น.จะเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลและออกใบอนุญาต แต่สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ กทม.จะกำกับดูแลโดย พ.ร.บ.สาธารณสุข ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นร้านอาหารหรือร้านอาหารที่มีการแสดงดนตรี ทั้งนี้ การควบคุม กำกับ ดูแล สถานประกอบการต่างๆ เหล่านี้ ให้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและไม่เกิดปัญหาในเรื่องของการร้องเรียนในภายหลังนั้นเป็นสิ่งที่จะต้องหารือร่วมกัน
ในการนี้ ที่ประชุมได้มีมติให้ฝ่ายเลขานุการและคณะทำงานในส่วนของกทม. รวบรวมข้อมูลประมวลกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด นำข้อมูลสถานประกอบการที่คล้ายฯ ขึ้นแผนที่ดิจิทัล เพื่อให้ทราบว่าสถานประกอบการที่คล้ายฯ ที่มีอยู่ปัจจุบันอยู่ที่ไหนบ้าง มีพื้นที่โดยรอบเป็นวัด โรงเรียน โรงพยาบาลหรือไม่ ประชุมหารือและจัดทำสรุปเป็นข้อหารือเสนอไปที่ บช.น. โดยอาจจะจัดทำเป็น pilot project เฉพาะพื้นที่ จัดทำเป็นแนวทางการขยายโซนนิ่งสถานบริการโดยผ่านการวิเคราะห์พื้นที่โดยรอบเพื่อป้องกันการเกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งการขยายโซนนิ่งจะทำให้สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายฯ สามารถขอใบอนุญาตเป็นสถานบริการตามกฎหมายได้ แต่อาจจะต้องมีการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องบางประการในอนาคต
ที่มา: นสพ.แนวหน้า ฉบับวันที่ 10 ก.พ. 2566