(19 ต.ค. 65) นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มเกินมาตรฐานในช่วงฤดูหนาวของทุกปีและกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุตลอดจนผู้ป่วยที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ดังนั้นเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน กรุงเทพมหานครจึงมีมาตรการและแนวทางรับมือฝุ่นละออง PM2.5 โดยได้ประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก เพื่อจัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ปี 2566 เพื่อใช้สำหรับเป็นแผนเผชิญเหตุและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในทุกพื้นที่ที่มีความเสี่ยง
โดยกรุงเทพมหานครได้จัดทีม “นักสืบฝุ่น” และวิจัยหาต้นเหตุของฝุ่นละออง PM2.5 บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เช่น การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง การบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และเรื่องสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งจะเป็นการขยายขีดความสามารถการพยากรณ์มลพิษทางอากาศของกรุงเทพมหานคร ที่จะดำเนินการล่วงหน้าได้ใน 3 วัน พร้อมปรับปรุงให้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับแอปพลิเคชัน BMA Traffic และป้ายแสดงผลของสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) อีกทั้งยังจะขยายระบบการติดตามและแจ้งเตือนฝุ่นสู่ระดับแขวง 1,000 จุด จากปัจจุบันมีเครือข่ายระบบการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 557 จุด เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนประชาชนให้ครอบคลุม ทั่วถึงและทันท่วงที โดยเชื่อมโยงข้อมูลการตรวจวัดคุณภาพอากาศทั้งหน่วยงานราชการ ภาคเอกชนและประชาชน
รวมทั้งร่วมกับเจ้าหน้าที่กองบังคับการตำรวจจราจรและกรมควบคุมมลพิษ ออกปฏิบัติงานตรวจวัดควันดำรถยนต์ เพื่อตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ (ฝุ่นละออง PM2.5) ต่อเนื่อง รวมไปถึงดำเนินการสำรวจจำนวนแพลนท์ปูนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและกำหนดแผนการตรวจวัดควันดำจากรถขนส่งและรถบรรทุกในแพลนท์ปูน ทุกแพลนท์ปูนอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 2 ต.ค. 65 พร้อมทั้งกำหนดให้มีการตรวจสถานที่ก่อสร้างและการตรวจวัดควันดำจากรถบรรทุกที่ใช้งานในสถานที่ก่อสร้างหรือไซต์ก่อสร้างขนาดใหญ่ (ระบบสาธารณูปโภคและอาคารขนาดใหญ่) ที่อนุญาตก่อสร้างโดยสำนักการโยธาทุกแห่ง อย่างน้อยแห่งละ 1 ครั้งต่อเดือน
กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินโครงการสร้างการเรียนรู้สำหรับเยาวชน (ห้องเรียนสู้ฝุ่น) ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพต่อภาวะวิกฤตฝุ่นละอองและเตรียมความพร้อมของสถานศึกษา ครู นักเรียนในการรับมือกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตลอดจนสร้างจิตสำนึกการไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยจะเปิดโครงการในวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. 65 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร อีกทั้งโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครจะมีการจัดกิจกรรมปักธงคุณภาพอากาศ เพื่อเสริมสร้างทักษะให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์มลพิษทางอากาศรวมถึงสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้กับคนในครอบครัวเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพได้ทันท่วงที
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายนักวิจัย กำหนดจัดเสวนาวิชาการ “เตรียมพร้อมรับมือ PM2.5 ด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ในวันศุกร์ที่ 4 พ.ย. 65 เวลา 09.00-12.00 น. เพื่อรับฟังความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่เหมาะสมกับบริบทของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมทั้งมิติของแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 การกำจัดที่ต้นตอ การป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยประชาชน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงข้อเสนอแนะอื่น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดการดำเนินงานที่เป็นเอกภาพ และได้ผลลัพธ์เป็นไปตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5
————–