“ในนามของกรุงเทพมหานคร ต้องขอขอบคุณอาจารย์ ท่านผู้ปกครอง และน้อง ๆ ผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ที่ได้มาปลูกต้นไม้ร่วมกัน ซึ่งต้นไม้นี้จะเติบโตเป็นต้นไม้ของเรา แล้ววันหนึ่งเราจะกลับมาเยี่ยมต้นไม้ของเรา โดยทาง กทม. จะมีการทำป้ายไว้ว่าต้นไม้นี้เป็นต้นอะไร ใครปลูก สำหรับกิจกรรมปลูกต้นไม้ในวันนี้สอดคล้องกับนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้นฯ ในระยะเวลา 4 ปี ของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ และเราจะเป็น 1 ในนั้น โดยสวนนี้ยังต้องการต้นไม้อีกเยอะ และจะเป็นสวนของทุกคน” พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเนื่องในโอกาสร่วมกิจกรรมปลูกป่า Save my world = Save my life โครงการ Chula Hemophilia Day 2022 ในวันนี้ (19 ต.ค. 65) ณ สวนป่าเบญจกิติ เขตคลองเตย
สวนสาธารณะเบญจกิติ จัดสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อปี พ.ศ. 2535 โดยพัฒนาพื้นที่เดิมของโรงงานยาสูบ เนื้อที่ประมาณ 450 ไร่ เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ต่อมาในปี 2537 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า “เบญจกิติ”
สำหรับต้นไม้ที่ปลูกในกิจกรรมวันนี้ประกอบด้วย 4 สายพันธุ์ ได้แก่ ต้นทองอุไร ต้นมะตาด ต้นชะแมบทอง และต้นพวงคราม รวมจำนวนทั้งสิ้น 50 ต้น โดยมี รศ.พญ.ดารินทร์ ซอโสตถิกุล หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานจัดโครงการ Chula Hemophilia Day 2022 พร้อมด้วยคณะบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยเด็กโรคฮีโมฟีเลียและผู้ปกครอง ร่วมกิจกรรม
ทั้งนี้ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดโครงการ CU Hemophilia Day สำหรับผู้ป่วยเด็กโรคฮีโมฟีเลีย (โรคเลือดออกง่าย) เป็นประจำทุกปี เพื่อให้ความรู้ สอนวิธีการดูแลและช่วยเหลือผู้ป่วยเด็กโรคฮีโมฟีเลีย ครอบครัว และผู้ดูแลผู้ป่วย ส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ระบบข้อและกล้ามเนื้อมีความแข็งแรง โดยในปี 2565 นี้ เป็นกิจกรรมปลูกป่าเพื่อลดโลกร้อน ภายใต้ชื่อ “Save my world = Save my life” ณ ห้องมงคลนาวิน ชั้น 10 ตึก สก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน และลานปลูกต้นไม้ สวนป่าเบญจกิติ เขตคลองเตย ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอีกหลากหลายปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งเพื่อปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กรุงเทพมหานคร ตามนโยบาย “ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง”
อนึ่ง โรคฮีโมฟีเลีย เป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมผ่านโครโมโซม X ในลักษณะยีนด้อย เกิดจากการขาดโปรตีนที่มีช่วยในการแข็งตัวของเลือด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ Hemophilia A เกิดจากการขาดโปรตีนแฟคเตอร์ 8 และ Hemophilia B เกิดจากการขาดโปรตีนแฟคเตอร์ 9 เมื่อร่างกายเกิดบาดแผล มีเลือดออก เลือดจะไหลไม่หยุด เพราะร่างกายขาดโปรตีนที่ช่วยห้ามเลือด โดยพบผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในเพศชายมากกว่าร้อยละ 99 โรคนี้สร้างความลำบากต่อตัวผู้ป่วยเป็นอย่างมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงคนในครอบครัว หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะส่งผลระยะยาวต่อการดำรงชีวิตของผู้ป่วย สำหรับกลุ่มที่เป็นขั้นรุนแรงแม้ไม่มีบาดแผล ไม่ได้รับการกระทบกระเทือนก็อาจมีเลือดออกได้เองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะหากมีเลือดออกในอวัยวะภายใน เช่น ในข้อ ในกล้ามเนื้อ อาจส่งผลให้เกิดข้อพิการหรือกล้ามเนื้อลีบได้ ทั้งนี้ หากเกิดเลือดออกในสมอง ช่องท้อง ทางเดินอาหาร อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้เช่นกัน
ปัจจุบัน สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งเด็ก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กโรคเลือดออกง่ายจำนวนมากกว่า 100 ราย ส่วนใหญ่กว่าครึ่งของโรคเลือดออกง่ายคือผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย ซึ่งผู้ป่วยโรคนี้จำเป็นต้องได้รับสารช่วยการแข็งตัวของเลือดทางหลอดเลือดดำเป็นประจำทุกสัปดาห์ตลอดชีวิต แนวทางการรักษาโรคฮีโมฟีเลียมี 2 แบบ คือ การรักษาเมื่อมีภาวะเลือดออก (Episodic treatment) คือ การฉีดยาหลังเกิดภาวะเลือดออกแล้ว ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนักในระยะยาว เมื่อเทียบกับแนวทางการรักษาอีกแบบ คือ การรักษาแบบป้องกัน (Prophylaxis treatment) เป็นการฉีดยาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกง่าย โดยการให้ผู้ป่วยฉีดแฟคเตอร์ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือฉีดนอนแฟคเตอร์ (non-factor) ประมาณ 1 ครั้งต่อเดือน เข้าไปทดแทนแฟคเตอร์ที่ขาด เพื่อลดระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งการรักษาแบบป้องกันนี้ จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนคนปกติ และลดจำนวนครั้งของการเลือดออกด้วย
——————————
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี