(18 ต.ค. 65) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร Bangkok Health Emergency Operations Center
(ศฉส.กทม. : BHEOC) ครั้งที่ 7/65 โดยมีคณะกรรมการร่วมประชุม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร และผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันนี้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ กทม.มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งในเวลา 10.00 น. กทม.ได้มีการแจ้งเตือนค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่เขตหนองแขม คลองสามวา ตลิ่งชัน และธนบุรี โดยมีค่าเกินมาตรฐาน ตรวจวัดได้ระหว่าง 31-55 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ขอให้สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตที่มีการเตือนค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ดูแลกลุ่มเปราะบางในพื้นที่เป็นพิเศษ โดยให้ผู้อำนวยการเขต แจ้งนักประชาสัมพันธ์พร้อมฝ่ายสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ดูแลประชาชนในเชิงรุกร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข รวมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์พร้อมให้คำแนะนำการป้องกันและดูแลตนเองจากอันตรายที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 แก่ประชาชน การแจกหน้ากากอนามัยโดยเฉพาะหน้ากากชนิด N95 ให้กับผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ กลุ่มผู้สูงอายุและเด็กเล็กในพื้นที่เฝ้าระวัง พร้อมทั้งมีการติดตามผลการดำเนินงานด้วย
สำหรับสถานการณ์ไข้เลือดออก ซึ่งยังพบว่ามีผู้ป่วยในหลายเขต ขอให้สำนักงานเขตที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งปัจจุบันบางพื้นที่น้ำได้แห้งแล้ว และพบว่ามีน้ำขังตามพื้นที่ หรือตามภาชนะที่ถูกทิ้งต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายได้ ขอให้สำนักงานเขตเร่งดำเนินการรณรงค์กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งแจกน้ำยาตะไคร้หอมกันยุงและทรายกำจัดลูกน้ำยุงลายแก่ประชาชน รวมทั้งฉีดพ่นหมอกควันกำจัดยุงกรณีพบคนไข้ทันที เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก
ในส่วนของสำนักงานเขตที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่ เช่น เขตบางพลัด ขอให้เฝ้าระวังพื้นที่ในจุดที่มีปัญหาน้ำไหลซึมเข้ามาภายในชุมชน ทั้งนี้ หากมีการประสานขอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องสูบน้ำหรือการทำสะพานไม้ทางเดิน รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ขอให้เคลื่อนย้ายทรัพยากรเข้าไปเสริมในพื้นที่โดยเร็ว รวมทั้งสำรวจอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์และพร้อมใช้งานด้วย
นอกจากนี้ สำนักอนามัย ได้มีมาตรการดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ประกอบด้วย 1. มาตรการเชิงป้องกัน ได้แก่ 1.1 หมั่นตรวจสภาพความแข็งแรงของประตูรั้วโดยรอบ ควรปิดประตูและล็อคทุกครั้ง ทั้งนี้อาจมีเจ้าหน้าที่ประจำบริเวณประตูเข้า-ออก เพื่อคัดกรองบุคคลภายนอกที่มาติดต่อ หรือพิจารณาติดกล้องวงจรปิดในบริเวณจุดเสี่ยง 1.2 อนุญาตให้ผู้ปกครองรับส่งเด็กบริเวณหน้าประตูเท่านั้น 1.3 ติดตั้งกริ่งเตือนภัย และกำหนด “ทางออกฉุกเฉิน” ที่สามารถออกไปยังที่ปลอดภัยได้ 1.4 จัดซ้อมแผนเผชิญเหตุเป็นประจำทุกปี 1.5 จัดทำเบอร์โทรฉุกเฉิน 191 และ 1669 ไว้ในบริเวณที่เห็นได้ชัด
และ 2. มาตรการเมื่อเกิดเหตุ ได้แก่ 2.1 กรณีพบสิ่งของต้องสงสัย หรือผู้ต้องสงสัย (สังเกตจากการแต่งกาย ท่าทางและพฤติกรรม) ให้รีบโทรแจ้ง 191 และรายงานผู้บริหารศูนย์บริการสาธารณสุขทราบโดยด่วน เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ 2.2 หากเกิดเหตุความไม่สงบให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ เช่น กดกริ่งเตือนและเคลื่อนย้ายเด็กออกไปในที่ปลอดภัยให้เร็วที่สุด โดยมาตรการดังกล่าว จะมีแนวทางการดำเนินการที่สอดคล้องกันทั้งในโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนด้วย
——————