(18 ต.ค. 65) รศ.ดร. ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมการพิจารณา (ร่าง) แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 – 2570 และ (ร่าง) คู่มือการบริหารจัดการสาธารณภัยสำหรับผู้อำนวยการเขต ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
สำหรับ (ร่าง) แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2564 – 2570 ที่นำเสนอต่อที่ประชุมการพิจารณาในวันนี้ จัดทำให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยมีการเตรียมพร้อมและประสานความร่วมมือในการปฏิบัติ ทั้งหน่วยงานภายในของกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานภายนอก และสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนองค์กรสมาคม มูลนิธิ ชุมชนและประชาชนทั่วไป ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และเพื่อให้กรุงเทพมหานครเกิดความปลอดภัยดี ตามนโยบายของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลดจุดเสี่ยงด้านอาชญากรรม อุบัติเหตุ และสาธารณภัย อย่างแท้จริง
ในส่วนของ (ร่าง) คู่มือการบริหารจัดการสาธารณภัยสำหรับผู้อำนวยการเขต กรุงเทพมหานครในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือ โดยคู่มือฯ สำหรับผู้อำนวยการเขต จัดทำเพื่อให้ผู้อำนวยการเขต ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐ สามารถนำไปปรับหรือประยุกต์ใช้ในพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตามระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื้อหาของคู่มือฯ สำหรับผู้อำนวยการเขต ครอบคลุมบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของผู้ช่วยผู้อำนวยการกรุงเทพมหานคร โดยมีแนวปฏิบัติในระดับพื้นที่เขตที่ต้องดำเนินการใน 3 ระยะ ตามวงจรภัย ได้แก่ 1.ก่อนเกิดภัย 2. ขณะเกิดภัย และ 3.หลังเกิดภัย
ทั้งนี้ ในการประชุมมีผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของ 6 จังหวัดรอยต่อ ได้แก่ สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม และฉะเชิงเทรา เข้าร่วมเพื่อหารือและพิจารณาคู่มือฯ สำหรับผู้อำนวยการเขตด้วย ซึ่งรองผู้ว่าฯ ทวิดา เน้นย้ำในความสำคัญของพื้นที่รอยต่อระหว่างแต่ละเขตกับจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ ที่หากมีสาธารณภัยในรูปแบบต่าง ๆ จะต้องทำงานบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงแต่ละเขตจะต้องมีแผนปฏิบัติการที่ร่างมาจากการรวบรวมข้อมูลในเขตตนเอง เนื่องจากแต่ละเขตเผชิญสาธารณภัยที่แตกต่างกัน
การประชุมในวันนี้ มี พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอก อดิศร์ งามจิตสุขศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการและผู้แทนจากสำนักงานเขต 50 เขต ผู้บริหารสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของ 6 จังหวัดรอยต่อกรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
_______