(31 ม.ค. 66) รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) สร้างความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กกพ. และกรุงเทพมหานคร ในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับโรงพยาบาล ในสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาล โดยในระยะที่ 1 สำนักงาน กกพ. ได้สนับสนุนเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากว่า 81.5 ล้านบาท ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 10 โรงพยาบาล ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2.795 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามนโยบายคาร์บอนควบคุมได้ กทม. ปลอดคาร์บอน (Bangkok Metropolitan Administration : BMA Net Zero) ได้กว่า 2,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และคาดว่าจะลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครได้ปีละ 14 ล้านบาท
ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้กล่าวขอบคุณสำนักงาน กกพ. ที่เห็นความสำคัญของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นหน่วยงานบริการสาธารณะที่ต้องบริการตอบสนองความต้องการของโดยโรงพยาบาลที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาล ดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานจำนวนมากในการดำเนินงาน และมีการใช้พลังงานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง การนำพลังไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้จะช่วยให้มีความต่อเนื่องในการดำเนินงานรวมถึงช่วยลดมลพิษด้วย นอกจากจะสามารถทำให้งานบริการสาธารณะให้ประชาชนเดินหน้าได้ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระบบพลังงานรองที่สำคัญได้ ซึ่งในการลงนาม MOU วันนี้บอกว่าจะลดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 14 ล้านบาท ถือว่าไม่น้อยเลย สามารถนำงบประมาณตรงนี้ไปดำเนินงานด้านอื่นที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมได้ นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีนโยบายในการสร้างเมืองที่น่าอยู่ 1 ในนั้น คือ การทำเมือง กทม. ปลอดคาร์บอน หรือ BMA Net Zero อาจยังไม่เห็นผลสำเร็จในวาระแรก แต่อย่างน้อยก็มีความพยายามในการมุ่งสู่เป้าหมาย หน่วยงานต่าง ๆ และสังคมเกิดความตระหนักในเรื่องดังกล่าวก็ถือเป็นการเริ่มต้นสิ่งที่ดี ซึ่งในอนาคตอาจมีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาช่วยทำให้ก้าวสู่ BMA Net Zero ได้เร็วขึ้น
สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) วันนี้ จัดขึ้นที่ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย โดย นางเลิศลักษณ์ สีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ และนายนรินทร์ โอภามุรธวงศ์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีลงนามฯ
——————————— (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)