เปิดแอป AirBKK เช็กฝุ่นจิ๋วแพลนท์ปูนนครหลวง จัดระเบียบผู้ค้าถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ชมคัดแยกขยะตลาดคงอุดม แก้จุดเสี่ยงอาชญากรรมแยกวงศ์สว่าง สำรวจที่ดินริมถนนพิบูลสงคราม ส่องจุด Hawker Center วัดทองสุทธาราม ตรวจคัดแยกขยะเขตบางซื่อ
(31 ม.ค.66) เวลา 14.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางซื่อ ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่ ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 78 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 2 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ 6 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 1 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ใช้แอปพลิเคชัน AirBKK ตรวจสอบค่าคุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งกำชับผู้ประกอบการให้ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำ เพื่อให้สามารถใช้การได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจสอบบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถโม่ปูนก่อนออกจากแพลนท์ปูน
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณหน้าธนาคารกรุงไทย สาขาบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 173 ราย ได้แก่ 1.ตลาดประจวบบางซื่อ ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 42 ราย 2.ตลาดใต้สะพานสูง ถนนเตชะวณิช ผู้ค้า 67 ราย 3.ตลาดมณีพิมาน ถนนประชาชื่น ผู้ค้า 13 ราย 4.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ฝั่งขาออก (บุญเหลือ) ผู้ค้า 11 ราย และฝั่งขาเข้า (ตลาดมณีพิมาน) ผู้ค้า 27 ราย 5.หน้าตลาดบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ผู้ค้า 13 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 8 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 228 ราย ได้แก่ 1.ซอยประชานฤมิตร ผู้ค้า 38 ราย 2.ตลาดศรีเขมา ผู้ค้า 33 ราย 3.ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี (ขาออก) ผู้ค้า 65 ราย 4.ข้างห้างโลตัสประชาชื่น ผู้ค้า 37 ราย 5.ซอยโชติวัฒน์ (สะพาน 99) ผู้ค้า 9 ราย 6.ข้างโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ประชาชื่น ผู้ค้า 21 ราย 7.ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ผู้ค้า 13 ราย 8.ซอยสะพานขวา ผู้ค้า 12 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาจัดหาพื้นที่ว่างหรือประสานพื้นที่ของเอกชน ซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่มีความเหมาะสมสำหรับทำการค้า เพื่อย้ายผู้ค้านอกจุดผ่อนผันบริเวณถนนกรุงเทพ-นนทบุรี เข้าไปทำการค้าในพื้นที่ดังกล่าว
เยี่ยมชมการคัดแยกขยะ ตลาดคงอุดม (ตลาดยิปซี) บริเวณริมทางรถไฟบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี พื้นที่ 1,878 ตารางเมตร มีแผงค้า 80 แผง วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ สนับสนุนและรณรงค์ให้ร้านค้าคัดแยกขยะตามประเภท เน้นการคัดแยกขยะจากแหล่งกำเนิด ขอความร่วมมือจากร้านค้าทุกร้านในตลาด ให้คัดแยกขยะในร้านของตนเองและทิ้งในถังรองรับมูลฝอยที่ทางตลาดจัดเตรียมไว้ โดยแยกขยะตามประเภทสีถัง ดังนี้ 1.ถังสีเขียว ขยะเศษอาหาร ผัก ผลไม้ 2.ถังสีเหลือง ขยะรีไซเคิล ขวดพลาสติก 3.ถังสีน้ำเงิน ขยะทั่วไป 4.ถังสีแดง ขยะอันตราย หลอดไฟ ยาฆ่าแมลง กระป๋องสี สำหรับปริมาณขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 68 ตัน/เดือน ปริมาณขยะทั่วไปหลังคัดแยก 60 ตัน/เดือน ส่วนขยะที่นำกลับไปใช้ประโยชน์ก่อนคัดแยก 12 ตัน/เดือน ขยะที่นำกลับไปใช้ประโยชน์หลังคัดแยก 15 ตัน/เดือน เขตฯ จัดเก็บขยะทุกวัน
ตรวจจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม สวนหย่อมตรงข้ามห้างบิ๊กซีวงศ์สว่าง (จุดเช็คอิน) ถนนวงศ์สว่าง เขตฯ มีจุดเสี่ยงภัยด้านอาชญากรรม (จุดตรวจตู้เขียว) จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.ชุมชนหลังวัดประชาศรัทธาธรรม (วัดเสาหิน) 2.ชุมชนหลังวัดเชิงหวาย (คลองกระดาษ) 3.ใต้สะพานพระราม 6 4.ชุมชนคลองบางซ่อน (ถนนประชาราษฎร์สาย 1) 5.ทางเดินริมคลองเปรมประชากร 6.สี่แยกวงศ์สว่าง ซึ่งจุดเสี่ยงดังกล่าว จะเป็นจุดเฝ้าระวัง เนื่องจากเป็นพื้นที่เปลี่ยว มีกลุ่มวัยรุ่นจับกลุ่มมั่วสุ่ม และบุคคลเร่ร่อนมาพักอาศัย สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหา เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจตู้เขียวประจำจุดเสี่ยง วันละ 2 ครั้ง/วัน ช่วงเช้าและกลางคืน ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของกล้องวงจรปิด (CCTV) หากชำรุดจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข
สำรวจที่ดินว่างเปล่า บริเวณถนนพิบูลสงคราม ซึ่งที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของธนาคารกรุงไทย มีการล้อมรั้วไว้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ในพื้นที่เขตฯ มีที่ดิน 35,918 แปลง สำรวจครบแล้ว สิ่งปลูกสร้าง 40,797 แห่ง สำรวจแล้ว 39,312 แห่ง คงเหลือ 1,485 แห่ง ห้องชุด 37,527 ห้อง สำรวจครบแล้ว สรุปผลการสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสิ้น 114,242 รายการ สำรวจแล้ว 112,757 รายการ คงเหลือ 1,485 รายการ ซึ่งปัจจุบันอาจมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าอาจมีสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น หรืออาจมีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป เพื่อทำประโยชน์อย่างอื่นหรือปล่อยทิ้งไว้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เขตฯ จึงต้องลงสำรวจสภาพพื้นที่จริง เพื่อจัดเก็บข้อมูลให้เป็นปัจจุบันตามความเป็นจริง เพื่อนำไปประเมินการจัดเก็บภาษีให้มีความถูกต้องครบถ้วน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีป้าย การจัดส่งหนังสือแจ้งการประเมินภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้เสียภาษี เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
สำรวจพื้นที่จัดทำ Hawker Center วัดทองสุทธาราม ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี/ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเขตฯ ได้ประสานกับวัดทองสุทธาราม เพื่อใช้พื้นที่บริเวณลานวัดจัดทำ Hawker Center ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ โดยคำนึงถึงผู้ค้าขายและผู้ซื้อสินค้า ในการเข้าถึงพื้นที่และช่วงเวลาทำการค้า สำหรับ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค และอยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม พร้อมทั้งบริหารจัดการดูแลทำความสะอาดพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ ตรวจสอบความสะอาดของสินค้าและอาหารที่จำหน่าย มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
ตรวจเยี่ยมการคัดแยกขยะ ภายในอาคารสำนักงานเขตบางซื่อ วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ตั้งวางถังแยกขยะบริเวณห้องน้ำ ชั้น 1 สำหรับประชาชนผู้มาติดต่อราชการ ซึ่งบุคลากรแต่ละฝ่ายจะแยกขยะทั่วไป และขยะเศษอาหาร พนักงานทำความสะอาด จะรวบรวมขยะทั่วไปที่คัดแยกไปทิ้งจุดพักขยะ บริเวณด้านหลังอาคารสำนักงานเขต เพื่อรอรถเก็บขนมูลฝอยเข้าจัดเก็บ ส่วนขยะเศษอาหารรวบรวมเทใส่จุดทิ้งขยะเศษอาหาร เพื่อทำปุ๋ยหมักอินทรีย์ ทำน้ำหมักชีวภาพ ตั้งจุดแยกขยะขวดพลาสติกตามโครงการ “แยกขวดเพื่อพี่ไม้กวาด” และตั้งจุดรับพลาสติกยืดโครงการ “วน” นอกจากนี้ ได้ประชาสัมพันธ์โครงการ “ไม่เทรวม” เพื่อสร้างต้นแบบการแยกขยะต่อยอดให้การแยกขยะระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจร ส่งเสริมให้บุคลากร ร้านค้า พนักงานทำความสะอาด และประชาชน คัดแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป เพื่อให้การจัดการขยะที่ต้นทางมีประสิทธิภาพเกิดผลเป็นรูปธรรม สำหรับปริมาณขยะก่อนดำเนินการ 5.50 ตัน/เดือน ปริมาณขยะหลังดำเนินการ 5.24 ตัน/เดือน เขตฯ จัดเก็บขยะทุกวัน
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ นายสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางซื่อ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #บริหารจัดการดี #ปลอดภัยดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)