กทม. เดินหน้าคุมเข้มปัญหาขยะในคลอง หลัง ส.ก. จอมทอง ชี้ขยะล้นจนคลองเน่าเสียกระทบภาพรวม

(23 ก.ค. 68) ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง: นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) พ.ศ. 2568 โดยมี ดร.สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม

ในที่ประชุม นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครเพิ่มมาตรการและเข้มงวดต่อผู้ลักลอบทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง โดยกล่าวว่า การลักลอบทิ้งขยะในแม่น้ำลำคลองโดยเฉพาะขยะชิ้นใหญ่ก่อให้เกิดปัญหากีดขวางทางน้ำ ทำให้การระบายไม่มีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ทำลายระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม คุณภาพของน้ำลดลง โดยมีผลกระทบก็คือน้ำท่วม ดังนั้น กรุงเทพมหานครควรจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจตรวจความเรียบร้อยทั้งทางบกและทางน้ำ ควรนำเทคโนโลยีในการตรวจจับและการแจ้งเหตุมาใช้ ซึ่งกรุงเทพมหานครมีคลองมากกว่า 1,682 แห่ง ความยาวกว่า 2,604 กิโลเมตร โดยจะพบปัญหาขยะสะสมน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น บางแห่งเกือบจะเหมือน “คลองแสนแสบสอง” และนำไปสู่การสะสมของขยะที่มาปิดหน้าประตูระบายน้ำซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวม

ด้านข้อเสนอเชิงรุกที่อยากนำเสนอก็คือการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามจุดเสี่ยงริมคลอง, เปิดช่องทางแจ้งเบาะแสได้รางวัลนำจับทันที, ปรับระบบถังขยะ-แยกประเภทและเพิ่มจุดตั้งถัง, จัดหาเรือเก็บขยะอัตโนมัติสำหรับคลองแคบ, เทศกิจจับจริงปรับจริงให้เป็นแบบอย่าง เชื่อว่าผู้บริหารชุดนี้เอาใจใส่อยู่แล้ว แต่บางครั้งกรุงเทพฯ กว้างเกินไปจึงอาจจะดูไม่ทั่วถึง เขาบอกว่าคลองพูดไม่ได้ แต่คลองสะอื้นได้ ถึงเวลาแล้วที่ กทม. ต้องลงมือจริงไม่ใช่แค่รณรงค์ เพื่อกรุงเทพฯ ที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า คลองก็เหมือนเป็นเส้นเลือดหลักของกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมาคลองสภาพดีขึ้นหลายคลอง คลองแสนแสบเองก็มีสถานการณ์ที่ดีขึ้น นอกจากนี้แล้ว ไม่ใช่แค่ขยะจากครัวเรือน แต่ขยะก็มาจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น โครงการบ้านจัดสรรหรือแพลนท์ปูนที่ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับคลอง ในส่วนนี้ฝ่ายบริหารจะเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้นและให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า กฎหมายที่เกี่ยวข้องและบังคับใช้ในปัจจุบันมีทั้งหมด 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งกรมเจ้าท่าเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายดังกล่าว โดยกรุงเทพมหานครมีการประสานงานกับกรมเจ้าท่าเพื่อช่วยกันทำงาน ในส่วนของกรุงเทพมหานครสำนักเทศกิจมีการทำแผนให้ทุกสำนักงานเขตลงพื้นที่ตรวจคลองที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยเรื่องนี้เป็นตัวชี้วัดที่อยู่ในหน้าที่ของสำนักเทศกิจ และสำนักงานเขตจะต้องถือปฏิบัติด้วย โดยมีการตรวจไม่น้อยกว่า 900 ครั้ง ส่วนในเรื่องการปรับหรือการติดตั้งกล้องวงจรปิด รวมถึงการแจ้งเบาะแสเพื่อนำรางวัลค่าปรับให้กับผู้แจ้งเบาะแสก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ทางกรุงเทพมหานครดำเนินการอยู่

#สิ่งแวดล้อมดี#สภากรุงเทพมหานคร #สภากทม #กรุงเทพมหานคร #สภามหานครแห่งเอเชีย #ทิ้งขยะลงคลอง

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200