(28 ม.ค. 66) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาในกิจกรรม Some One หนึ่งในหลาย เวทีเสวนาสาธารณะครั้งที่ 2 ตอน “กรุงเทพเมืองพหุลักษณ์” เวทีเสวนาที่ 1 หัวข้อ “เติมรสพหุลักษณ์ให้เมืองกรุง ปรุงความรื่นรมย์ให้ชาวมหานคร” ณ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ เขตวัฒนา
ในการเสวนาวันนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวถึงบทบาทของกรุงเทพมหานคร ในประเด็นคำถามจากหัวข้อเสวนา “เติมรสพหุลักษณ์ให้เมืองกรุง ปรุงความรื่นรมย์ให้ชาวมหานคร” ว่า ต้องกลับมาที่วิสัยทัศน์ใหญ่ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่อยากทำให้ได้ คือ การทำให้ “กรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยมีคีย์เวิร์ดคือ “น่าอยู่” และ “สำหรับทุกคน” คำว่า “น่าอยู่” อาจจะเป็นอะไรที่เรียบง่าย เช่น บ้านที่ราคาถูก ให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัย มีถนนหนทางที่ดี สิ่งแวดล้อมดี การศึกษาดี มี 9 ด้าน 9 ดี ที่เราพยายามทำให้ครบทุกมิติ ส่วนที่เป็นเรื่องสำหรับ “ทุกคน” สิ่งนี้คือประเด็นใหญ่ เพราะการทำให้เมืองน่าอยู่สำหรับ “บางคน” ทำไม่ยาก เพราะหลายคนมีที่อยู่อาศัยที่ดี มีอาหารการกินที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าสำหรับ “ทุกคน” อาจจะมีประเด็นของคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่อาจยังเข้าถึงไม่หมด เพราะฉะนั้นนโยบายแรกที่สำคัญคือการมองเห็นทุกคนจริง ๆ ก่อน การมีส่วนร่วมของประชาชนในแต่ละเขตให้ครบก่อน ทำอย่างไรให้ทุกคนที่อาจจะมีบัตรประชาชนในกรุงเทพฯ หรืออาจะไม่ใช่คนที่มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ แต่เข้ามาเป็นแรงงานสำคัญและอาศัยในเมืองมีสิทธิมีเสียงที่จะพูดถึงเมืองที่เขามาอยู่ได้เหมือนกัน จึงเป็นนโยบายที่เราต้องมีสภาคนเมืองในทุกเขต ต้องประกอบด้วยทุกคนกลุ่ม ทุกเขตตอนนี้เราอาจจะไม่ได้บริหารจากผู้อำนวยการเขตและสำนักงานเขตเพียงอย่างเดียว ทำอย่างไรให้ทั้งเขต รวมทั้งชุมชน ผู้ประกอบการ สถาบันต่าง ๆ ในทุกภาคส่วน มีสิทธิมีเสียงในการบริหารจัดการ และเขตมีหน้าที่ประชุมทุกเดือน และนำนโยบายทุกอย่างที่จะทำมาแสดงให้เห็น และให้ทุกคนแสดงและเสนอความคิดเห็นกลับได้ ซึ่งสิ่งนี้คือระบบออฟไลน์
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับระบบออนไลน์ ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป ทุกอย่างเราต้องเปิดให้ประชาชนได้เห็น การจะทำให้เป็นของ “ทุกคน” ได้ ทุกคนต้องตรวจสอบได้ ต้องรู้ว่างบประมาณ 7 หมื่น 9 พันล้านบาท ในปี 2566 จะนำไปใช้กับอะไรบ้าง เน้นเรื่องอะไร ไม่เน้นเรื่องอะไร ตอนนี้กำลังทำ Open Data ที่ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถใช้ดิจิทัลออนไลน์ให้สามารถตรวจสอบได้ ในด้านเศรษฐกิจที่มีปัญหาในหลาย ๆ พื้นที่ จำเป็นต้องมีนโยบายโดยเฉพาะเพื่อจัดการ ซึ่งในนโยบาย 216 ข้อ มีนโยบายผู้ว่าฯ เที่ยงคืน ความหมายคือ เราเห็นอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจช่วงกลางคืนเป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่และดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งนโยบายผู้ว่าฯ เที่ยงคืน จะดูแลเรื่องมาตรการความปลอดภัยเป็นลำดับแรก ต่อมาเป็นเรื่องการส่งเสริมย่านต่าง ๆ ในส่วนเศรษฐกิจกลางคืน เช่น ย่านเยาวราช หรือข้าวสาร ที่ได้มีการผ่อนผันจุดทำการค้า ซึ่งต่อไปก็มีแนวทางจะขยายไปยังจุดต่าง ๆ เพิ่มขึ้น และทำให้ชัดเจน ในพื้นที่ที่ห้ามก็ต้องห้ามเพราะอย่างไรทางเท้าก็ต้องใช้สำหรับผู้คนสัญจรอย่างสะดวกและปลอดภัย เพราะฉะนั้นในส่วนของการฟื้นฟูและส่งเสริมเศรษฐกิจต้องคิดให้รอบด้าน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้กรุงเทพเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน
สำหรับกิจกรรม Some One หนึ่งในหลาย เวทีเสวนาสาธารณะครั้งที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการผลิตสารคดีชุด Some One หนึ่งในหลาย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในพหุสังคม และพหุวัฒนธรรมไทย จัดโดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท สื่อดลใจ จำกัด และบริษัทพลีอาดีส บางกอก จำกัด
เวทีเสวนาที่ 1 วันนี้ มีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ คุณอดุลญา ฮุนตระกูล ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร รองศาสตราจารย์ ดร.กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์ นักโบราณคดีเมืองและอาจารย์ประจำภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ศาสตราจารย์ ดร.นฤมล นิราทร อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณศุเรนทร์ ฐปนางกูร กรรมการบริษัท ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ จำกัด คุณวรชัย พิลาสรมย์ประธานกลุ่มอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นย่านกุฎีจีน ร่วมเสวนา
———-