ห้วยขวางตรึงแนวแผงค้าหน้า MRT สุทธิสาร ยกต้นแบบสวนอาหารนาทองคัดแยกขยะไม่เทรวม หารือ 3 หน่วยงานแก้ปัญหาลักลอบทิ้งขยะถนนเทียมร่วมมิตร ตรวจซ้ำฝุ่นจิ๋วโครงการโค้บบ์ รัชดา-พระราม 9 ปั้นสวนเกษตรกาญจนาวิวัฒน์ วัดพระราม 9

(29 พ.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตห้วยขวาง ประกอบด้วย

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้า MRT สุทธิสาร ถนนรัชดาภิเษก ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 64 ราย ดังนี้ 1.ถนนรัชดาภิเษก หน้า MRT สุทธิสาร/ซอยอุดมสุข ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-22.00 น. 2.ถนนรัชดาภิเษก หน้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา/เมืองไทยภัทร ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-15.00 น. 3.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) หน้าเบสเฮ้าส์อพาร์ทเม้นต์ ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 18.00-22.00 น. 4.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) หน้าศูนย์โตโยต้า ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. 5.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) อาคารสหพัฒน์/อาบอบนวด ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-11.00 น. 6.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) วัดใหม่ช่องลม/อิตัลไทย ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด ได้แก่ 1.ถนนเพชรบุรี (ขาออก) แยกอโศกเพชร ผู้ค้า 8 ราย ยกเลิกวันที่ 31 ตุลาคม 2567 ต่อมาในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 3 จุด ได้แก่ 1.ถนนประชาอุทิศ ซอยประชาอุทิศ 17 ผู้ค้า 12 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 2.ถนนสุทธิสารวินิจฉัย ซอยรุ่งเรือง ผู้ค้า 10 ราย ยกเลิกวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 3.ถนนเพชรบุรี (ขาเข้า) ซอยเพชรบุรี 38 ผู้ค้า 12 ราย ยกเลิกวันที่ 17 มีนาคม 2568 นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.ตลาดนัดกลางซอย 6 ถนนพระราม 9 รองรับผู้ค้าได้ 80 ราย 2.ตลาดเมืองไทยภัทร ถนนรัดาภิเษก รองรับผู้ค้าได้ 50 ราย 3.ตลาด 9 Yards ถนนจตุรทิศ รองรับผู้ค้าได้ 160 ราย 4.อาคารปรีชาคอมเพล็กซ์ ซอยรุ่งเรือง ถนนรัชดาภิเษก รองรับผู้ค้าได้ 25 ราย ซึ่งทั้ง 4 แห่งเป็นพื้นที่เอกชน จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่ตลาดกำหนด สำหรับการจัดทำ Hawker Center เป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม มีจุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม คำนึงถึงช่วงเวลาทำการค้าและความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ทั้งผู้ค้าและผู้ซื้อ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมถึงพิจารณาให้รอบคอบทั้งด้านลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ระยะห่างจากทางเข้าออกและสะพานลอยคนข้าม ในการย้ายผู้ค้าจากจุดอื่นมาไว้ให้จุดเดียวกัน

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ สวนอาหารนาทอง ถนนประชาอุทิศ พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร ผู้มาใช้บริการและพนักงาน 2,100 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2553 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหาร รวบรวมไว้รอเกษตรกรมารับไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล เก็บรวบรวมไว้ในห้องขยะ รอการจำหน่าย 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เก็บรวบรวมใส่ถุงดำไว้ เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย เก็บรวบรวมไว้ แจ้งเขตฯ จัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 600 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 80 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 120 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 700 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 1,000 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนและหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่ พร้อมทั้งแสดงความชื่นชมสวนอาหารที่เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมและให้ความร่วมมือในการคัดแยกขยะมาตลอดระยะเวลาหลายปี

ตรวจสอบพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณถนนเทียมร่วมมิตร ตัดถนนวัฒนธรรม ที่ผ่านมาเขตฯ ได้มีหนังสือแจ้ง บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (เจ้าของที่ดิน) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (พื้นที่ทางเท้าบางส่วน) ให้ดำเนินการปรับปรุงที่ดินให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและมีความสะอาด จัดเก็บสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ทำรั้วปิดกั้นรอบพื้นที่ให้มิดชิด เพื่อไม่ให้บุคคลภายนอกเข้าไปทิ้งขยะด้านใน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาหาแนวทางร่วมกับ 3 หน่วยงานดังกล่าว เพื่อบูรณาการในการแก้ไขปัญหาการลักลอบทิ้งขยะร่วมกัน รวมถึงติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามทิ้งขยะ จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจพื้นที่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการลักลอบนำขยะชิ้นใหญ่ หรือเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างมาทิ้ง และการเผาขยะในพื้นที่ดังกล่าว

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการโค้บบ์ รัชดา-พระราม 9 (Cobe Ratchada Rama 9) ถนนเทียมร่วมมิตร ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารชุด ประกอบด้วย อาคารพักอาศัย ความสูง 27 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 8 อาคาร อาคารพักอาศัย ความสูง 29 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร อาคารพาณิชย์และที่จอดรถ ความสูง 2 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร อาคารจอดรถและพื้นที่ส่วนกลาง ความสูง 2 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร อาคารจอดรถและพื้นที่ส่วนกลาง ความสูง 7 ชั้น ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อเนื่องจากเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ประกอบการได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องพ่นละอองน้ำด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบ และเปิดตลอดเวลาทำการก่อสร้าง ล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ รวมถึงทำความสะอาดพื้นโครงการไม่ให้มีเศษฝุ่นเศษดินตกค้าง ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

พัฒนาสวน 15 นาที สวนเกษตรกาญจนาวิวัฒน์ บริเวณวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาที่ว่างริมแนวรั้ว จัดทำสวน 15 นาที ในรูปแบบโครงการสวนเกษตรกาญจนาวิวัฒน์ เป็นแหล่งเรียนรู้แก่นักเรียนโรงเรียนพระราม 9 กาญจนาภิเษก และประชาชนทั่วไป จัดทำทางเดิน ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้พุ่มไม้ประดับ อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนราษฎร์บำเพ็ญ พื้นที่ 1 งาน 20 ตารางวา 2.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเทียนร่วมมิตร พื้นที่ 4 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา 3.สวนพรรณภิรมย์ พื้นที่ 13 ไร่ 25 ตารางวา 4.สวนสมเด็จสราญราษฎร์มณีรมย์ พื้นที่ 9 ไร่ 38 ตารางวา 5.สวนสุขภาพห้วยขวาง ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ พื้นที่ 3 งาน 69 ตารางวา 6.สวนหย่อมประชาอุทิศ พื้นที่ 80 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ 1.สวนป่าใต้ทางด่วนพระราม 9 ตัดกับถนนประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ 7 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา 2.สวนอยู่เจริญภิรมย์ พื้นที่ 2 งาน 42 ตารางวา 3.สวนหย่อมพระราม 9 แยก 11 พื้นที่ 3 งาน 4.สวนสบายใจข้างฝ่ายทะเบียนเขตห้วยขวาง พื้นที่ 22 ตารางวา 5.สวนหย่อมบ้านหนังสือชุมชนทับแก้ว พื้นที่ 1 งาน 91 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 6.สวนศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนประชาราษฎร์บำเพ็ญ พื้นที่ 1 ไร่ 7.สวนศูนย์การเรียนรู้สำนักงานเขตห้วยขวาง พื้นที่ 1 งาน 15 ตารางวา 8.สวนหย่อมประชาอุทิศ พื้นที่ 1 งาน อยู่ระหว่างดำเนินการ 9.สวนเกษตรกาญจนาวิวัฒน์ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก พื้นที่ 49.25 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 10.สวนหย่อมเพชรอุทัย พื้นที่ 75 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบ 11.สวนหย่อมริมคลองแสนแสบ พื้นที่ 20 ตารางวา อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งเขตฯ ได้จัดทำสวนครบ 10 แห่งแล้ว แต่ยังมีพื้นที่ว่างทำสวนเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ ตลอดจนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดทำสวน 15 นาทีอย่างแท้จริง

ในการนี้มี นายสมบัติ เครือกีรติธรรม ผู้อำนวยการเขตห้วยขวาง พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตห้วยขวาง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

#เศรษฐกิจดี #สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200