(20 พ.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางรัก ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการบุญมิตร สีลม (Boonmitr Silom) ถนนสีลม ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารค.ส.ล. ประกอบด้วย อาคาร A ความสูง 34 ชั้น ชั้นลอย 1 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น จำนวน 1 อาคาร อาคาร B ความสูง 5 ชั้น ชั้นใต้ดิน 5 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปรับปรุงความสูงของรั้วโดยรอบทุกด้านให้มีความสูงจากพื้นดินไม่น้อยกว่า 6 เมตร ฉีดล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ล้างทำความสะอาดพื้นด้านหน้าโครงการ รวมถึงตรวจสอบป้องกันไม่ให้น้ำที่ล้างทำความสะอาดพื้นไหลลงสู่ผิวจราจร ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเปิดตลอดเวลาที่ทำการก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศและจอแสดงผลด้านหน้าโครงการให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน
ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน บริเวณถนนคอนแวนต์ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 32 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 639 ราย ได้แก่ 1.ถนนนเรศ (ซอยพระพุทธโอสถ) ผู้ค้า 18 ราย 2.ถนนนเรศ (ซอยสันติภาพ) ผู้ค้า 3 ราย 3.ถนนพระรามที่ 4 (หน้าวัดหัวลำโพง) ผู้ค้า 38 ราย 4.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ซอย 1 ฝั่งขวา) ผู้ค้า 21 ราย 5.ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ซอย 1 ฝั่งซ้าย) ผู้ค้า 21 ราย 6.ซอยสันติภาพ 1 ผู้ค้า 13 ราย 7.ซอยเจริญกรุง 43 ผู้ค้า 13 ราย 8.ซอยสาทร 8 ผู้ค้า 8 ราย 9.ถนนศาลาแดง ผู้ค้า 49 ราย 10.ซอยศาลาแดง 2 ผู้ค้า 14 ราย 11.ซอยศาลาแดง 1 ผู้ค้า 15 ราย 12.ซอยสีลม 20 ผู้ค้า 80 ราย 13.ปากซอยมเหสักข์ ผู้ค้า 8 ราย 14.ซอยสีลม 30 ผู้ค้า 4 ราย 15.ซอยสีลม 22 ผู้ค้า 4 ราย 16.ซอยเจริญกรุง 47/3 ผู้ค้า 17 ราย 17.ซอยปราโมทย์ 3 ผู้ค้า 18 ราย 18.ซอยโทรคาเดโร ผู้ค้า 6 ราย 19.ซอยอนุมานราชธน ผู้ค้า 10 ราย 20.ถนนศรีเวียง ฝั่งซ้าย ผู้ค้า 20 ราย 21.ถนนศรีเวียง ฝั่งขวา ผู้ค้า 34 ราย 22.ถนนเจริญกรุง ฝั่งตรงข้ามโรบินสัน ผู้ค้า 24 ราย 23.ถนนเจริญเวียง ผู้ค้า 18 ราย 24.ซอยสาทร 10 ผู้ค้า 15 ราย 25.ซอยสาทร 12 ผู้ค้า 4 ราย 26.ซอยสีลม 9 ผู้ค้า 10 ราย 27.ข้างสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา ผู้ค้า 5 ราย 28.ถนนประมวล ผู้ค้า 9 ราย 29.ถนนปั้น ข้างวัดแขก ผู้ค้า 10 ราย 30.ถนนปั้น ปากซอยถนนปั้น ผู้ค้า 13 ราย 31.ซอยสีลม 19 ผู้ค้า 7 ราย 32.ซอยสีลม 5 ผู้ค้า 118 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 168 ราย ได้แก่ 1.ถนนคอนแวนต์ ฝั่งขวา ผู้ค้า 91 ราย 2.ซอยสีลม 9 ถึงซอยสาทร 12 ผู้ค้า 17 ราย 3.ถนนสุรวงศ์ ขาเข้า ผู้ค้า 60 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 7 ราย 2.ถนนสีลม หัวมุมถนนมเหสักข์ ถึงปากซอยสีลม 12 ผู้ค้า 6 ราย ยกเลิกวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม พื้นที่ 87,160 ตารางเมตร มีบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของธนาคาร 3,884 คน ประชาชนผู้ใช้บริการ 812 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ 1.รณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้พนักงานคัดแยกขยะเศษอาหาร บริเวณจุดทิ้งขยะในศูนย์อาหารของธนาคาร ตั้งถังรองรับขยะเศษอาหาร และนำไปรวบรวม บริเวณห้องพักขยะเศษอาหาร เขตฯ จัดเก็บนำไปทำปุ๋ยหมัก นอกจากนี้ ธนาคารได้ติดตั้งเครื่องกำจัดขยะเศษอาหาร ซึ่งจะย่อยบดขยะเศษอาหาร เพื่อจัดการขยะอินทรีย์บริเวณศูนย์อาหาร ชั้น 8 และห้องรับรอง 2.ขยะรีไซเคิล แม่บ้านจัดเก็บขยะรีไซเคิลเป็นประจำทุกวัน นำไปขายเพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงาน โดยจัดเก็บข้อมูลทุกวัน 3.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับขยะทั่วไป ตามจุดต่าง ๆ ภายในบริษัท พนักงานทำความสะอาดเป็นผู้รวบรวมไว้ บริเวณห้องเก็บขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บทุกวัน ช่วงเวลา 22.00-24.00 น. 4.ขยะอันตราย มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะอันตรายโดยเฉพาะ มีการจัดเก็บอย่างมิดชิด ประสานเขตฯ จัดเก็บขยะอันตราย เมื่อมีจำนวนมากปีละ 1-2 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 600-680 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 600 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 30-40 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 35-40 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 780 กิโลกรัม/ปี ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
พัฒนาสวน 15 นาที สวนวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูทัศน์ริมกำแพงวัด จัดทำเป็นสวน 15 นาที ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม อนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่เดิมภายในสวน ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ พื้นที่ 1,000 ตารางเมตร 2.สวนหย่อมพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก พื้นที่ 400 ตารางเมตร 3.สวนรักษ์ภิรมย์ ซอยสีลม 23 (ซอยวิจารณ์) พื้นที่ 647 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 4.สวนพบรัก พื้นที่ 89.95 ตารางเมตร 5.สวนรักแรกพบ พื้นที่ 115 ตารางเมตร 6.สวนวัดมหาพฤฒารามวรวิหาร พื้นที่ด้านในริมกำแพงวัดโดยรอบ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ในการนี้มี นางพรพัน วัฒนสินธุ์ ผู้อำนวยการเขตบางรัก พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางรัก สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
#บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)