(20 พ.ค. 68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ปัญหาการขโมยสายไฟในพื้นที่กรุงเทพฯ ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของรัฐเป็นมูลค่าหลายล้านบาท แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ไฟทางดับ ทางเท้ามืด เสี่ยงอุบัติเหตุและอาชญากรรม บางพื้นที่ระบบระบายน้ำไม่ทำงานเพราะไม่มีไฟฟ้าเลี้ยงปั๊ม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังซ้ำซาก การเดินทางและความปลอดภัยในชีวิตประจำวันของชาวกรุงเทพฯ จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากพฤติกรรมโจรกรรมที่อาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่สะเทือนทั้งเมือง

เพื่อรับมือกับภัยเงียบนี้ กทม. จึงเปิด “ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ” พร้อมระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการใช้เทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อป้องกันและลดความเสียหายที่เกิดซ้ำซากในหลายพื้นที่ของเมือง
โฆษก กทม. เปิดเผยว่า สืบเนื่องจาก สน.บางขุนเทียน บก.น.9 บช.น รายงานเหตุจับกุมแก๊งคนร้ายตระเวนลักทรัพย์ตัดสายไฟฟ้านครหลวง ความผิดฐาน “ร่วมกันลักทรัพย์ที่มีไว้ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ในเวลากลางคืน โดยใช้ยานพาหนะเพื่อให้สะดวกแก่การกระทำผิดหรือเพื่อพาทรัพย์นั้นไป” สถานที่เกิดเหตุ บริเวณหน้าร้านบุฟเฟ่ต์ทะเลเผาก่อนถึงโลตัส บริเวณซอยเอกชัย 87/1 แขวงคลองบางบอน เขตบางบอน, ฝั่งตรงข้ามร้านสะดวกซื้อ CJ ปากซอยบางบอน 4 แขวงบางบอน เขตบางบอน โดยการไฟฟ้าประเมินความเสียหาย วันที่ 3,5,7 พฤษภาคม 2568 เป็นเงินประมาณ 500,000 บาท วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ความเสียหายประมาณ 1,500,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 การไฟฟ้านครหลวง ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.บางขุนเทียน ว่าถูกคนร้ายลักตัดสายไฟบริเวณหน้าร้านบุฟเฟ่ต์ทะเลเผาก่อนถึงโลตัส บริเวณซอยเอกชัย 87/1 แขวงคลองบางบอน เขตบางบอน กทม. ว่าถูกคนร้ายลักตัดสายไฟจำนวน 3 เส้น รวมความเสียหายประมาณ 500,000 บาท จึงได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดย้อนหลังพบว่า คนร้ายกลุ่มเดิมมาก่อเหตุก่อนหน้านี้ 2 ครั้ง คือวันที่ 3 และ 5 พฤษภาคม 2568 จากการสืบสวนทราบว่าผู้กระทำผิดเป็นชายกับพวกรวม 5 คน เป็นผู้ก่อเหตุ ผู้ก่อเหตุยอมรับสารภาพว่าก่อเหตุลักตัดสายไฟจริง และยังได้ก่อเหตุลักตัดสายไฟที่บริเวณปากซอยปากบอน 4 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ในเขตพื้นที่ สน.บางบอน ด้วย เบื้องต้นตรวจพบทั้ง 3 มีสารเสพติดในร่างกาย จึงได้ควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์จะได้ขยายผลเพิ่มเติมและขอหมายจับเพื่อดำเนินคดีในความผิดดังกล่าวต่อไป
ทั้งนี้ จากสถิติการแจ้งความ ของสำนักการโยธา ศูนย์เครื่องมือกล ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 1 ในปี 2566 จำนวน 11 เรื่องการขโมยสายไฟฟ้า มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 15,903,185 บาท ปี 2567 จำนวน 9 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 3,304,323 บาท และปี 2568 แจ้งความจำนวน 5 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 4,167,332 บาท
ในส่วนสถิติการแจ้งความของสำนักการโยธา ศูนย์เครื่องมือกล ส่วนก่อสร้างและบูรณะ 2 ปี 2566 – 2568 จำนวน 15 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 2,312,965 บาท
ด้านสถิติการแจ้งความของกองควบคุมการก่อสร้าง โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ปี 2567 จำนวน 3 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 1,195,800 บาท งานปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ จากถนนสาทร ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ปี 67 จำนวน 1 เรื่อง มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท โครงการสะพานข้ามแยกบางกะปิ ปี 67 – 68 มูลค่าความเสียหายคิดเป็นจำนวนเงิน 2,111,211 บาท โครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 ช่วง 2 คิดเป็นเงิน 33,800 บาท และโครงการก่อสร้างถนนพุทธมณฑล 1 ช่วง 1 จำนวนเงิน 31,512 บาท
ปัญหานี้ยังไม่นับรวมกับโครงการที่อยู่ในการดูแลของสำนักการระบายน้ำ สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักงานเขต ซึ่งทั้งหมดล้วนสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการในกรุงเทพมหานคร ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยแนวทางป้องกันแบบบูรณาการที่ผสมผสานทั้งเทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ดังนี้
1.มาตรการทางเทคโนโลยีและกายภาพ เช่น การเปลี่ยนไปใช้หลอด LED และระบบ IoT พิจารณาใช้วัสดุอื่นทดแทนทองแดง เพื่อลดแรงจูงใจการโจรกรรม การติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันการโจรกรรมโดยตรง การออกแบบที่เข้าถึงยาก รวมถึงการติดตั้งระบบตรวจจับและเฝ้าระวัง เช่น การติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่เสี่ยง ระบบสัญญาณเตือนภัย หรือรั้วไฟฟ้า (ในพื้นที่ที่เหมาะสม)
- เข้มงวดการบังคับใช้กฎหมาย และ 3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่น ประชาสัมพันธ์ช่องทางรับแจ้งเหตุที่เข้าถึงง่าย หรือการให้รางวัลนำจับ การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังในชุมชน สอดส่องดูแลความปลอดภัยในพื้นที่
“ยุทธการช็อตโจรขโมยสายไฟ ไม่ใช่แค่เรื่องของ กทม. แต่คือความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราใช้ทั้งเทคโนโลยี การบังคับใช้กฎหมาย และพลังของประชาชนเพื่อหยุดภัยเงียบนี้ให้ได้ หากพบเห็นพฤติกรรมน่าสงสัย ขอให้แจ้งทันทีผ่านทางสายด่วน 1555 หรือ Traffy Fondue หรือแจ้งตำรวจ โทร. 191” โฆษก กทม. กล่าว