(15 พ.ค. 68) นายแสนยากร อุ่นมีศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือระดับกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2568 เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือ ให้หน่วยงานในระดับพื้นที่มีแนวทางในการทำงานที่ถูกต้องเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือระดับกรุงเทพมหานคร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุม ชั้น 3 สำนักพัฒนาสังคม เขตดินแดง
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมพระนครเหนือระดับกรุงเทพมหานคร เพื่อให้หน่วยงานในระดับพื้นที่มีแนวทางในการทำงานที่ถูกต้อง เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยที่ประชุมให้ฝ่ายเลขาฯ ไปกำหนดแนวทางการขอรับการจัดสรรงงบฯ จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และแนวทางการใช้งบฯ ดังกล่าว เพื่อให้สำนักงานเขตใช้เพื่อปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน และเสนอขอความเห็นชอบจากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป
สำหรับ “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า รวมถึงส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย
ในส่วนของแนวทางการดำเนินงานโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีประเภทแผนงานโครงการชุมชน 7 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านสาธารณสุข เพื่อลดหรือป้องกันปัญหาสุขภาพของชุมขนรอบโรงไฟฟ้า 2. ด้านการศึกษา เพื่อเพิ่มคุณภาพด้านการศึกษาของเยาวชนและครูผู้สอนในสถานศึกษาของรัฐในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า 3. ด้านเศรษฐกิจชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้ของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า 4. ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มหรือบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี 5. ด้านสาธารณูปโภค เพื่อยกระดับการเข้าถึงและความครอบคลุมของสาธารณูปโภค ได้แก่ แหล่งน้ำ ถนน ประปา ไฟฟ้า ที่เพียงพอต่อชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า 6. ด้านพลังงานชุมชน เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันของโรงไฟฟ้าและขุมขนในพื้นที่รอบไฟฟ้า การใช้พลังงานหมุนเวียน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน และ 7. แผนงานอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน โดยกำหนดกรอบวงเงินขั้นสูงสุดที่สามารถใช้ในแผนด้านนี้ได้ร้อยละ 15 ของเงินจัดสรรรายปี ตามมาตรา 97 (3) แห่งพระธาชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550
ด้านการตรวจสอบและการติดตามการดำเนินโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะมีการตรวจสอบโดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดย คณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานกองทุน คณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) ฝ่ายตรวจสอบภายใน และสำนักงาน กกพ. ประจำเขต
——————————— (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)