(25 เม.ย. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตหนองจอก ประกอบด

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ บริษัท มหาจักรออโตพาร์ท จำกัด พื้นที่ 252,800 ตารางเมตร มีบุคลากร 350 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2564 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เมื่อพนักงานรับประทานอาหารเสร็จแล้ว จะนำเศษอาหารไปทิ้งในถังขยะอินทรีย์ แม่บ้านจัดเก็บทุกวัน ขยะเศษอาหาร เศษผักผลไม้ จะมีเกษตรกรมารับไปเลี้ยงสัตว์ 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังแยกขยะรีไซเคิลประจำแต่ละ SHOP พนักงานจะรวบรวมขยะรีไซเคิล เพื่อนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ 3.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังแยกขยะประจำแต่ละ SHOP แม่บ้านเก็บรวบรวมใส่ถุงดำ นำไปไว้ที่จุดพักขยะ เขตฯ จัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ตั้งวางจุดทิ้งขยะอันตราย รวบรวมไว้ที่จุดพักขยะ บริษัทที่รับกำจัดขยะอันตรายของโรงงานอุตสาหกรรม จะเข้าจัดเก็บตามที่นัดหมาย 5.ขยะติดเชื้อ ตั้งวางถังขยะติดเชื้อบริเวณสถานพยาบาล พนักงานเก็บรวบรวมใส่ถุงแดง นำไปไว้ที่จุดพักขยะ บริษัทที่รับกำจัดขยะอันตราย มารับไปกำจัด สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 32,000 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 30,090 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 300 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1,500 กิโลกรัม/เดือน ขยะติดเชื้อหลังคัดแยก 10 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะขยะทั่วไปซึ่งยังสามารถคัดแยกได้อีก เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่
จากนั้นติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 บริษัท มหาจักรออโตพาร์ท จำกัด ซึ่งประกอบกิจการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อะไหล่เครื่องยนต์และเครื่องจักร เช่น น๊อต สกรู สลักเกลียว และชุบโลหะด้วยไฟฟ้า ลักษณะของสถานประกอบการมีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) โดยใช้ก๊าซแอลพีจี เป็นเชื้อเพลิง มีกระบวนการเผาไหม้ที่อาจก่อให้เกิดฝุ่นละอองและมลพิษทางอากาศ ซึ่งผู้ประกอบการให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของหม้อไอน้ำตามแผนงานที่กำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเนื่อง ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกขนส่งให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยกำชับให้สถานประกอบการในพื้นที่ปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างเคร่งครัด เน้นย้ำผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ร่วมกันลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณปากซอยเลียบวารี 25 ถนนเลียบวารี ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 96 ราย ดังนี้ 1.ซอยสุวินทวงศ์ 64 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. จำนวน 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-20.00 น. จำนวน 1 ราย 2.ถนนเลียบวารี ตั้งแต่ปากซอยเลียบวารี 25 ถึงหมู่บ้านเพ็ญศิริ ซอยเลียบวารี 27 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. จำนวน 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-20.00 น. จำนวน 4 ราย 3.ชุมชนเคหะฉลองกรุง โซน 2 บริเวณหน้าสนามกีฬาตลอดแนว ผู้ค้า 73 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-10.00 น. จำนวน 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-20.00 น. จำนวน 31 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-20.00 น. จำนวน 25 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง สำรวจจำนวนผู้ค้าที่ยังทำการค้าอยู่จริง เพื่อให้การจัดระเบียบเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67
พัฒนาสวน 15 นาที สวนชุมชนเคหะชุมชนฉลองกรุง โซน 5 บริเวณการเคหะฉลองกรุงโซน 5 แยก 15 ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดินวิ่งภายในสวน ลานกีฬาขนาดเล็ก ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นพิกุล เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างกำแพงกรองฝุ่น เพิ่มความร่มรื่นและสวยงามให้กับสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบึงน้ำใส ซอยเชื่อมสัมพันธ์ 11 ถนนเชื่อมสัมพันธ์ พื้นที่ 7 ไร่ 2.สวนเลียบคลองลำไทร ถนนลำไทร พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนฉลองกรุง ฝั่งตรงข้ามสวนพิพิธภัณฑ์ ถนนฉลองกรุง พื้นที่ 4 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหนองจอกสนาภิรมย์ ถนนเลียบคลองลำตามีร้องไห้ พื้นที่ 40 ไร่ 2.สวนเลียบวารีภิรมย์ ซอยเลียบวารี 21 ถนนเลียบวารี พื้นที่ 7 ไร่ 3.สวนน้ำพระยาปลา ถนนประชาสำราญ พื้นที่ 8 ไร่ 4.สวนบึงแตงโม ถนนมิตรไมตรี พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 49 ตารางวา 5.สวนไผ่คลองลำแขก ถนนเลียบคลองลำแขก ซอยสุวินทวงศ์ 78 พื้นที่ 5 ไร่ 6.สวนเฉลิมพระเกียรติชุมชนเคหะชุมชนฉลองกรุง โซน 5 พื้นที่ 3 งาน 7.สวนลำต้นไทร แขวงโคกแฝด พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 25 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบทั้ง 10 แห่งตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ การออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนสามารถเข้ามาใช้บริการหรือทำกิจกรรมได้อย่างแท้จริง
ติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยเลียบวารี 35 ถนนเลียบวารี จากการสำรวจพบว่าเขตฯ มีพื้นที่รกร้าง จำนวน 4 จุด ได้แก่ 1.ซอยเลียบวารี 35 ถนนเลียบวารี 2.ซอยหกพี่น้อง ถนนเลียบวารี 3.ซอยสุวินทวงศ์ 52 ถนนสุวินทวงศ์ 4.ซอยคลองสิบ-คลองสิบสี่ 7 ซึ่งมีการลักลอบนำขยะและเศษวัสดุจากการก่อสร้างมาทิ้ง ประกอบกับพื้นที่ดังกล่าวจะมีวัชพืชที่แห้งตายสะสมอยู่ อาจก่อให้เกิดหตุเพลิงไหม้ได้ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้ออกหนังสือแจ้งเจ้าของที่ดิน ให้ดำเนินการล้อมรั้วโดยรอบให้มิดชิด และจัดเก็บขยะออกจากพื้นที่ พร้อมทั้งสำรวจการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยไว้เป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า จะดำเนินการจัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดำเนินการตามหนังสือสั่งการของสำนักเทศกิจ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้ง
ในการนี้มี นางสาวยุวนุช นงพรมมา ผู้อำนวยการเขตหนองจอก พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตหนองจอก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)