วังทองหลางพาชมคัดแยกขยะ Golden Place พระราม 9 พัฒนาสวนประติมากรรมภาวนาแห่งจันทร์ จับตาฝุ่นจิ๋วไซต์ก่อสร้าง Kave Playground ลาดพร้าว-บดินทรเดชา

(28 เม.ย. 68) เวลา 12.45 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวังทองหลาง ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ Golden Place สาขาพระราม 9 ถนนประดิษฐ์มนูธรรม พื้นที่ 8 ไร่ 4 งาน 24 ตารางวา บุคลากร 40 คน ผู้มาใช้บริการ 2,400 คน/วัน วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะรีไซเคิล คัดแยกและเก็บรวบรวมขยะรีไซเคิลภายในโครงการ เจ้าหน้าที่จะรวบรวมและจัดเก็บ เพื่อนำไปขายเป็นรายได้เข้าบริษัทฯ 2.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังสำหรับรวบรวมขยะเศษอาหารพื้นที่โซนอาหารด้านใน คัดแยกโดยแม่บ้านบริษัทฯ ส่งต่อให้กับเกษตรกรเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ โดยเข้ามารับวันเว้นวัน สำหรับเศษผักและเปลือกผลไม้ ในส่วนของร้านค้าหรือผู้เช่า จะมีเกษตรกรเข้ามารับเพื่อนำไปเลี้ยงสัตว์ โดยเข้ามารับในช่วงเย็นของทุกวัน ส่วนน้ำมันเก่า จะมีผู้ประกอบการเข้ามารับซื้อโดยตรงจากโครงการฯ หรือผู้ค้าหรือผู้เช่าเป็นประจำทุกวันศุกร์ ปริมาณค่าเฉลี่ยในการขาย เท่ากับ 2,084 กิโลกรัม/เดือน 3.ขยะอันตราย จัดเก็บรวบรวมโดยเจ้าหน้าที่จากสำนักงานใหญ่ อาทิ กรณีเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าที่ชำรุด ดำเนินการซ่อมแซมโดยช่างของบริษัทฯ โดยนำหลอดไฟเก่าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ชำรุด กลับไปรวบรวมที่สำนักงานใหญ่ เพื่อนำส่งกำจัดต่อไป 4.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บวันเว้นวัน สำหรับปริมาณขยะทั้งหมดก่อนคัดแยก 26,740 กิโลกรัม/เดือน ส่วนหลังคัดแยกสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 24,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล 400 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ 2,340 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

พัฒนาสวน 15 นาที สวนประติมากรรมภาวนาแห่งจันทร์ ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดิน ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ดังนี้ 1.สวนสาธารณะวังทอง 1 พื้นที่ 1 ไร่ 2.สวนสาธารณะวังทอง 2 พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง 1.สวนประติมากรรมภาวนาแห่งจันทร์ พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา 2.สวนธรรม วัดสามัคคีธรรม พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนสมุนไพรลาดพร้าว 84 พื้นที่ 1 ไร่ 4.สวนสาธารณะวังทอง 3 (สวนสาธารณะซอยลาดพร้าว 64 แยก 6) พื้นที่ 81 ตารางวา 5.สวนชุมชนคลองพลับพลา พื้นที่ 2 งาน 41 ตารางวา 6.สวนหย่อมด้านหน้าสภาวิศวกร พื้นที่ 2 งาน 7.สวนทิวสน พื้นที่ 2 งาน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้ามาใช้บริการ

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการเคฟ เพลย์กราวด์ ลาดพร้าว-บดินทรเดชา (Kave Playground) ซอยรามคำแหง 43/1 ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัยความสูง 8 ชั้น จำนวน 11 อาคาร ที่จอดรถความสูง 9 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการจัดทำบ่อล้างล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้าออกบริเวณทางเข้าโครงการ ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำและเปิดใช้งานในช่วงเวลาก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พร้อมจอแสดงผลหน้าโครงการให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 46 ราย ดังนี้ 1.ซอยรามคำแหง 39 แยก 1-3 ผู้ค้า 30 ราย 2.ถนนอินทราภรณ์ ข้างห้างโลตัส สาขาศรีวรา ถึงหน้าอาคารเลขที่ 1139 รวมผู้ค้า 16 ราย ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยลาดพร้าว 87 แยก 10-26 ผู้ค้า 33 ราย 2.ซอยลาดพร้าว 101 แยก 3-29 ผู้ค้า 10 ราย ยกเลิกเดือนเมษายน 2567 ต่อมาในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 4 จุด ได้แก่ 1.ซอยลาดพร้าว 124 แยก 3-5 ผู้ค้า 8 ราย 2.หน้าตลาดสะพานสอง (แนวใน) ตั้งแต่ปากซอยลาดพร้าว 45/1 ถึงปากซอยลาดพร้าว 49 ผู้ค้า 30 ราย 3.ปากซอยลาดพร้าว 98 ผู้ค้า 5 ราย 4.ซอยลาดพร้าว 122 แยก 18 ผู้ค้า 7 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย

ในการนี้มี นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวังทองหลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

 

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

บ้านนี้ไม่เทรวม #แยกขยะจ่ายน้อยกว่า #แยก20ไม่แยก60

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200