31 มีนาคม วันที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า รัชกาลที่ 3

 

 

(31 มี.ค.68) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปวางพุ่มดอกไม้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุ่มดอกไม้ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พุ่มดอกไม้ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ณ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหาเจษฎาราชเจ้า ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เขตพระนคร

 

ด้วยวันที่ 31 มีนาคม ถือเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า ทางราชการได้จัดให้มีพิธีถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า เป็นประจำทุกปี ณ พระบรมราชานุสาวรีย์ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เขตพระนคร โดยวันนี้ เวลา 15.00 น. นายแพทย์สุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร นำคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครถวายราชสักการะพระมหาเจษฎาราชเจ้า 

 

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และสมเด็จพระศรีสุลาลัย เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2330 ด้วยพระปรีชาสามารถในหลายด้านจึงทรงได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญตั้งแต่ทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ อาทิ ทรงกำกับราชการกรมท่า กรมพระคลังมหาสมบัติ กรมพระตำรวจและการว่าความฎีกาต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นราชการที่สำคัญมากในขณะนั้น ต่อมาได้เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 3 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อ พ.ศ. 2367 ในรัชสมัยของพระองค์ถึงแม้จะต้องเผชิญกับปัญหาศึกสงครามและปัญหาการคุมคามจากชาติตะวันตก ซึ่งทรงนำพาบ้านเมืองให้ผ่านพ้นมาได้อย่างปลอดภัย และด้วยพระปรีชาสามารถโดยเฉพาะด้านการพาณิชย์ที่ทรงเชี่ยวชาญด้านการค้าขายกับต่างประเทศ ในเวลานั้นสภาพเศรษฐกิจ ของประเทศเริ่มมีความมั่นคง จึงทรงจัดตั้งระบบเจ้าภาษีนายอากร ส่งผลให้มีรายได้แผ่นดินและเงินเหลือจ่ายในพระคลังจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามทั้งในพระนครและหัวเมืองหลายแห่ง รวมทั้งยังโปรดให้นำตำรายา กวีนิพนธ์ ตำราแพทย์โบราณที่เป็นภูมิปัญญาของไทยจารึกบนแผ่นศิลาตามอาคารและสิ่งก่อสร้างภายในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ผู้สนใจได้ศึกษาค้นคว้า ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกเมื่อพ.ศ.2554 นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ

 

————————————————————-

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200