(28 มี.ค. 68) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวความร่วมมือโครงการทางเดินลอยฟ้าราชวิถี (Rajavithi Skywalk) โดยมี ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีในพื้นที่ 12 หน่วยงาน ร่วมงาน ณ ห้องประชุมอรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ ชั้น 5 อาคารสิริกิติ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เขตราชเทวี

รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวว่า นโยบายของกรุงเทพมหานครที่มุ่งทำให้เมือง เดินได้ เดินดี และน่าเดิน เป็นนโยบายสำคัญที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญ การที่เรามีทางเท้า ทางเดินที่ดี จะช่วยส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี เพิ่มความปลอดภัยในการสัญจร และส่งเสริมการใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น
รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวต่อว่า ถนนราชวิถี เป็นพื้นที่สำคัญเนื่องจากเป็นที่ตั้งของหน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายแห่ง ทั้ง โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีผู้สัญจรเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ที่มาใช้บริการทางการแพทย์ และบุคลากรของโรงพยาบาล นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเชื่อมกับขนส่งสาธารณะ เช่น อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถไฟฟ้าสายสีเขียว และรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้มสถานีรามาธิบดีในอนาคต ประกอบกับทางเดิน ทางลาดในปัจจุบันนั้น ทำให้การสัญจรยังไม่สะดวก เพราะทางเดินแคบหรือกว้างเพียง 1.00 – 3.30 เมตร รวมถึงมีจุดตัดทางเข้า – ออกอาคารหลายแห่ง ดังนั้น กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการโยธา จึงเล็งเห็นโอกาสในการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าถนนราชวิถี เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการสัญจรแก่คนทุกกลุ่ม รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงการสัญจรระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ
“โครงนี้จะสำเร็จไม่ได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง 12 หน่วยงาน ที่กรุณาให้ใช้พื้นที่บางส่วน ในนามของกรุงเทพมหานคร ต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ช่วยกันร่วมมือผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นจริง” รองผู้ว่าฯ วิศณุ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับการออกแบบทางเดินลอยฟ้าราชวิถี ดำเนินการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งจัดถึง 36 ครั้ง ทั้งแบบทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็น การร่วมมือร่วมใจนำมาซึ่งฉันทามติที่สำคัญคือ การออกแบบให้เสาโครงสร้างตั้งอยู่ในเขตพื้นที่หน่วยงาน โดยไม่ใช้พื้นที่ทางเท้า อันเป็นการเสียสละพื้นที่หน่วยงานอันนำมาซึ่งประโยชน์สาธารณะในภาพรวมที่ใหญ่กว่า รวมทั้งมีการอนุรักษ์ต้นไม้ให้มากที่สุด โดยการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ กลุ่มบิ๊กทรี (BIG Trees) สมาคมรุกขกรรมไทย และคณาจารย์จากคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยพื้นที่โครงการ อยู่บริเวณถนนราชวิถี (ช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ – แยกตึกชัย) รวมระยะทางทั้งสิ้น 1.341 กม. แบ่งได้เป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1. ช่วงแยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แยกตึกชัย เชื่อมทางเดินลอยฟ้า รพ.รามาธิบดี ระยะทาง 1 กม. และ 2. ช่วงเกาะราชวิถีและเกาะพหลโยธิน ระยะทาง 341 ม. ทั้งนี้ โครงการฯ จะเริ่มสัญญาตั้งแต่ เม.ย.68 – เม.ย. 2569 ระยะเวลาดำเนินการ 360 วัน งบประมาณ 467 ล้านบาท
ในการนี้ ผู้บริหารสำนักการโยธา ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ผู้แทนคณะสำรวจและประเมินสภาพต้นไม้ (คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ BIG TREE และสมาคมรุกขกรรมไทย ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมหิดล ประธานคณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID) ผู้บริหารโรงพยาบาลราชวิถี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ศูนย์การแพทย์พระมงกุฎเกล้า องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกฯ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมงานแถลงข่าว