(28 มี.ค. 68) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้แทนกรุงเทพมหานคร ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) เพื่อขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม SoSafe ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัย และการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคมไทย โดยมี นายอนุกูล ปิ่นแก้ว ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นายสันติธร ยิ้มละมัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กระทรวงสาธารณสุข นายไพศาล วุทฒิลานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ด้าน Core Business สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายสว่าง แก้วกันทา ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ และ ดร. ฃจูลิตตา โอนาบันโจ ผู้อำนวยการกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) ร่วมลงนาม ณ ห้องราชาบอลรูม โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

โอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “วิสัยทัศน์นวัตกรรมเมือง และการลงนาม MOU SoSafe” สรุปโดยรวมได้ว่า การได้ร่วมมือกับ Traffy Fondue และ SoSafe เป็นอีกหัวใจหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องยากที่ใช้ความร่วมมือของประชาชน ซึ่ง Traffy Fondue เป็นตัวอย่างที่ดีมากที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และผู้ผลิต Traffy Fondue คือ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) โดยในวันนี้มีเรื่องที่อยากแชร์ 3 เรื่อง คือ หัวใจที่อยากจะพูดถึงเรื่องแรกคือ การสร้างความไว้วางใจให้ประชาชน ตัวเลขการแจ้งที่เยอะไม่ใช่สะท้อนว่าปัญหาเยอะ แต่ตัวเลขที่เยอะสะท้อนว่าประชาชนไว้ใจระบบราชการ ไว้ใจให้เราดูแลประชาชนและลูกหลานของเขา ถ้าเข้าดูใน Traffy Fondue ตอนนี้มีการแจ้ง 873,610 เรื่อง มีการแก้ไขไปแล้ว 81% ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูง เป็นการสร้าง Trust ว่า ทุกเรื่องที่ส่งมาจะได้รับการดูแล ซึ่งเรื่องแรกที่น่าจะตกลงร่วมกันในวันนี้คือเป้าหมายในการสร้างความไว้วางใจให้ประชาชน
เรื่องที่สองเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน คือการโฟกัสบางประเด็นที่สามารถทำให้ชัดเจนและสร้างความไว้วางใจให้ประชาชน คิดว่าแพลตฟอร์มนี้จะสามารถขยายผลได้ ไม่น่าเชื่อว่า Traffy Fondue มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมไม่ถึง 5% แปลว่าเรื่องที่เกิดขึ้นใน Traffy Fondue ส่วนใหญ่เป็นเรื่องกายภาพ การที่มาร่วมเติมเต็มกับ SoSafe ก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่ยังไม่ถูกแก้ไขให้ถูกนำมาแก้ไขได้
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องที่สามคือ เรื่องของการบริหารจัดการหรือระบบการติดตาม ซึ่งกรุงเทพมหานครมีการติดตามเรื่องที่ยังแก้ไขไม่ได้ในทุกเดือน โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ติดตามที่ปลัดกรุงเทพมหานคร ปลัดกรุงเทพมหานครติดตามต่อไปที่รองปลัดกรุงเทพมหานคร รองปลัดกรุงเทพมหานครติดตามต่อไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อที่จะให้แก้ไขปัญหาและปิดงานให้ได้เร็วที่สุด การจะพูดแต่เรื่องร้องเรียนแต่ไม่พูดเรื่องการบริหารจัดการหรือระบบติดตามนั้นไม่ได้ เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งและเป็นเหตุผลในการลงนาม MOU วันนี้ ซึ่งการลงนาม MOU วันนี้ ต้องการที่จะทำระบบติดตาม เชื่อว่า 1 เรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ต้องผ่าน 3 – 4 หน่วยงาน ถ้าไม่มีทีมติดตามที่เข้มแข็ง ความเชื่อใจก็จะหายไป คิดว่าทั้ง 3 เรื่อง จะสามารถทำให้ SoSafe เป็นที่พี่งของประชาชนและคนที่กำลังเผชิญสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ในนามของกรุงเทพมหานครยินดีที่จะผลักดันให้เป็นที่พึ่งของประชาชน
สำหรับแพลตฟอร์ม SoSafe กองทุนประชากรแห่งสหประชาติ (UNFPA) ประจำประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ จัดทำขึ้น เพื่อวางกรอบความร่วมมือและสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งในการพัฒนาแพลตฟอร์ม SoSafe ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สุขภาพมารดา สุขภาพทางเพศ อนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิทางเพศภาวะ การบูรณาการแพลตฟอร์ม SoSafe เข้ากับระบบสนับสนุนด้านสุขภาพ สังคม และชุมชน การสนับสนุนทรัพยากรเพื่อให้ SoSafe สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน การส่งเสริมการพัฒนานโยบายที่ช่วยให้ชุมชนมีความปลอดภัยและครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้ ภาคีที่ร่วมลงนามในข้อตกลงนี้ตกลงที่จะร่วมมือกันในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูล การให้คำปรึกษา และการบูรณาการทรัพยากร เพื่อให้แพลตฟอร์ม SoSafe สามารถดำเนินการและขยายผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการกำหนดกลไกการประชุมเพื่อติดตามผลและวางแผนความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดย MOU ฉบับนี้มีระยะเวลา 3 ปี มีเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการนำเทคโนโลยีและแนวทางการพัฒนาแบบบูรณาการมาใช้ ภายใต้แผนดำเนินการ SoSafe จะเริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือเขตที่มีประชากรกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก
กทม #บริหารจัดการดี #สังคมดี
-------------------------------- (พัทธนันท์...สปส. รายงาน)