“ครู กทม. ยิ้มแก้มปริ ลูกศิษย์สามขวบทำได้ดีเกินคาด” กับกิจกรรมเปิดชั้นเรียนสาธารณะ School as Learning Community (SLC) ตามการส่งเสริมทักษะ Executive Functions (EF) 

 

 

(18 ก.พ. 68) ณ โรงเรียนวัดบางปะกอก เขตราษฎร์บูรณะ : นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมกิจกรรมการเปิดชั้นเรียนสาธารณะ School as Learning Community (SLC) ซึ่งเป็นกิจกรรมการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า หรือ EF ของนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 (อายุ 3-5 ปี) โดยในวันนี้เป็นการเปิดชั้นเรียนให้ครูต่างโรงเรียน สามารถเข้ามาสังเกตุการณ์ และนำเสนอข้อมูลของแต่ละบุคคล เพื่อนำมาตั้งข้อสังเกตุพฤติกรรมของนักเรียนตามวัตถุประสงค์ของกิจกรรม อาทิ แบบบันทึกการสะท้อนกลับเชิงสร้างสรรค์ การแสดงออกของนักเรียนในระหว่างทำกิจกรรม และการตอบสนองต่อโจทย์ที่ได้รับ เป็นต้น

 

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า จริงๆ ตัวผมจบวิศวะนะครับ แต่พอเห็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่นักเรียนได้ทำกันในวันนี้ ดูน่าสนุกและอยากเข้าไปเป็นครูด้วยเลย อยากเห็นเด็ก ๆ ได้เรียนรู้ ได้ทำกิจกรรมดี ๆ แบบนี้ กิจกรรมวันนี้โฟกัสที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ต้องขอขอบคุณท่านผู้อำนวยการโรงเรียน คุณครู และทุกคนที่เกี่ยวข้องมากๆนะครับ ที่ทำให้กิจกรรมในวันนี้เกิดขึ้น และสำเร็จได้ด้วยดี ที่สำคัญเด็กๆมีความสุข ได้แสดงออกในสิ่งที่เค้าถนัด ถึงแม้ว่าการพัฒนาเด็กเล็กนั้นจะเห็นผลช้า แต่สำคัญมากๆ เพราะเด็กในวัยนี้เป็นวัยที่กำลังเจริญเติบโตเป็นช่วงที่สมองพัฒนาทักษะต่างๆได้มากที่สุด เป็นรากฐานของเมืองที่แข็งแรงมีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต 

 

โรงเรียนวัดบางปะกอก เป็นโรงเรียนที่เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 และเป็นโรงเรียนนำร่องในการเปิดชั้นเรียนสาธารณะ School as Learning Community (SLC) ของเขตราษฎร์บูรณะ โดยนำแนวคิดโรงเรียนในฐานะชุมชนแห่งการเรียนรู้ SLC – School as Learning Community มาใช้ในห้องเรียน มีการจัดห้องเรียน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมมือรวมพลังในรูปแบบของ SLC ที่มีรายละเอียดลงลึกตั้งแต่ระดับชั้น จำนวนนักเรียนที่จัดกลุ่ม วิธีการ และตำแหน่งในการนั่งของนักเรียนในชั้นเรียน ซึ่งการจัดห้องเรียนแบบนี้ ครูต้องคอยสังเกตผู้เรียนเป็นหลัก สามารถเปลี่ยนแปลงกลุ่มใหม่ได้ ถ้าครูเห็นว่าเด็กเรียนรู้ได้ไม่เต็มที่กับความสามารถของเขา  

 

สำหรับการจัดห้องเรียนแบบ SLC นั้น มีดาวเหนือหรือแนวทางจัดการเรียนการสอนแบบ EF ตามทักษะ 9 ด้าน ได้แก่ ทักษะพื้นฐาน 1. Working Memory คือ ทักษะที่สามารถนำความจำเพื่อใช้ การเก็บรวบรวมข้อมูล และประสบการณ์ต่าง ๆ 2. Inhibitory Control คือ ทักษะการควบคุม และยับยั้งตัวเองเพื่อไม่ให้ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม 3. Cognitive Flexibility คือทักษะความยืดหยุ่นทางความคิด ทักษะขั้นสูง 4. Focus / Attention คือทักษะที่ทำให้เราสามารถให้ความสนใจ และจดจ่อต่อการงานได้อย่างต่อเนื่อง และยาวนาน 5. Emotion Control คือทักษะที่ใช้ในการควบคุมอารมณ์ของตนเองได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับสถานการณ์ 6. Self-Monitoring คือทักษะในการติดตาม และประเมินตนเอง รู้จุดอ่อน และข้อบกพร่องที่ตัวเองมี 7. Initiating คือความสามารถในการคิด ริเริ่ม และกล้าที่จะลงมือทำตามสิ่งที่คิดทันที โดยไม่หวาดหวั่นต่อความล้มเหลวที่อาจจะต้องพบเจอ 8. Planning and Organizing คือทักษะการตั้งเป้าหมาย บริหารจัดการสิ่งต่าง ๆ และดำเนินการตามแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน 9. Goal-Directed Persistence คือทักษะในการมุ่งไปสู่เป้าหมาย แม้เจอปัญหา ก็ไม่ถอดใจ 

 

ทั้งนี้ ทักษะ EF จะช่วยส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะการเรียน การทำงาน หรือแม้กระทั่งการเข้าสังคม เพราะทักษะนี้จะช่วยให้คน ๆ นั้นสามารถรับมือ ปรับตัว และจัดการกับสภาพแวดล้อม คน หรือสถานการณ์ต่าง ๆ 

ที่ต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี ทักษะนี้เหล่านี้ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ จนเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โดยการพัฒนาสามารถทำได้โดยการ เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองคิด และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวเองตามวัย สร้างความสัมพันธ์ และความรักความอบอุ่นที่ดีในครอบครัว สอนให้เด็กรู้จักอารมณ์ และการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง ฝึกให้พวกเขารู้จักการรอคอย บ่มเพาะสิ่งดี ๆ ตามวัย เติบโตสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นพลเมืองที่ดีต่อไปในอนาคต

———————————–

#เรียนดี #รรวัดบางปะกอก #ExecutiveFunctions

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200