ธนบุรีพาส่องมาตรการเข้มป้องกันฝุ่นจิ๋วในโรงเรียนวัดกระจับพินิจ เล็งปรับโฉมใหม่สวนหย่อม 12 สิงหา ชวนตลาดเดินเล่นรัชดาท่าพระคัดแยกขยะไม่เทรวม

(13 ก.พ. 68) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตธนบุรี ประกอบด้วย

ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โรงเรียนวัดกระจับพินิจ ซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 22 ซึ่งทางโรงเรียนได้มีมาตรการป้องกันฝุ่นและลดผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 โดยในช่วงเช้าของทุกวันจะตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแอปพลิเคชัน AirBKK พร้อมขึ้นธงสีคุณภาพอากาศภายในบริเวณโรงเรียน ซึ่งในวันนี้ขึ้นธงสีส้ม ค่าฝุ่น PM2.5 ที่ตรวจวัดได้ 58.7 มคก./ลบ.ม. คุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยแจกหน้ากากอนามัยแก่นักเรียน ดูแลให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกนอกอาคาร เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำในวันที่ค่าฝุ่นสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน งดการเข้าแถวเคารพธงชาติหน้าเสาธง โดยให้เข้าแถวบริเวณหน้าห้องเรียน งดกิจกรรมหรือเล่นกีฬากลางแจ้ง จัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้ห้องระบบปิด สำหรับชั้นอนุบาลจะจัดทำเป็นห้องเรียนปลอดฝุ่น โดยเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างยั่งยืน

พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อม 12 สิงหา ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ปรับปรุงพื้นทางเดินวิ่งออกกำลังกาย ตั้งวางม้านั่ง ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวน 15 นาที ภายในสำนักงานเขตธนบุรี พื้นที่ 100 ตารางเมตร (วัดเวฬุชิณ) 2.สวนร่วมแรง พื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ เฟส 1 พื้นที่ 1,600 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาเป็นสวน 15 นาที โดยจัดทำทางเดินวิ่งออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม ได้แก่ ต้นประดู่บ้าน ต้นทองอุไร ต้นไทรเกาหลี ต้นเฟื่องฟ้า ต้นไทรทอง ต้นชาฮกเกี้ยน 3.สวนลานเพลิน ข้างสถานีรถไฟวุฒากาศ พื้นที่ 2,400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย 4.สวนร่วมใจ พื้นที่ว่างใต้สะพานข้ามแยกตากสิน-สาทร ถนนราชพฤกษ์ เฟส 2 ขนาดพื้นที่ 2,400 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท โดยศูนย์ก่อสร้างฯ 5 ดำเนินการปรับพื้นดิน ปูกระเบื้องใต้สะพานและรอบทางระบายน้ำ ปรับพื้นลงหินคลุก ปูอิฐตัวหนอนจากวัสดุเหลือใช้จากการปรับปรุงทางเท้า เทพื้นแอสฟัลต์ทางเดินวิ่งออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม 5.สวนหย่อม 12 สิงหา พื้นที่ 2,000 ตารางเมตร กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวงชนบท 6.สวนหน้าวัดบุปผาราม พื้นที่ 400 ตารางเมตร 7.สวนสถานี BRT ราชพฤกษ์ พื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่เพื่อจัดทำสวน 15 นาที เพิ่มเติมอีก 3 แห่ง เพื่อให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ ตลอดจนเพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง นอกจากนี้ได้ติดตามโครงการถนนสวย ถนนวุฒากาศ ความยาว 0.9 กิโลเมตร ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ปลูกต้นประดู่บนทางเท้าทั้ง 2 ฝั่ง

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ตลาดเดินเล่นรัชดาท่าพระ 1 และ 2 ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นร้านอาหาร/ศูนย์อาหาร/ศูนย์จำหน่ายสินค้า พื้นที่ 5 ไร่ มีผู้มาใช้บริการ 500-600 คน/วัน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังขยะใส่เศษอาหาร จำนวน 2 จุด คือบริเวณ FOOD COURT และตลาดเดินเล่นด้านหน้า คัดแยกเศษอาหาร เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล สำนักงานขายฯ ให้แม่บ้านเก็บรวบรวมนำไปจำหน่าย ส่วนผู้ค้าที่เช่าพื้นที่เก็บรวบรวมจำหน่ายด้วยตนเอง 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป รวมรวบทิ้งห้องเก็บขยะด้านหลังลานจอดรถ เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 3,000 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 2,700 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนและหลังคัดแยก 130 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 98 ราย ได้แก่ 1.ตลาดดาวคะนองทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ฝั่งขาออก ผู้ค้า 26 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. รวมผู้ค้า 66 ราย 2.ตลาดเดินเล่น ถนนรัชดาภิเษก (ตลาดไทยช่วยไทยเดิม) ผู้ค้า 32 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.บริเวณตลาดสำเหร่ทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งขาเข้า ผู้ค้า 60 ราย ฝั่งขาออก ผู้ค้า 14 ราย รวมผู้ค้า 74 ราย โดยมีผู้ค้า 59 ราย ได้รับเงินค่าทดแทนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ 2.บริเวณสี่แยกบ้านแขก ผู้ค้า 43 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 ปัจจุบันเขตธนบุรี ไม่มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผันแล้ว ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าสถานีรถไฟตลาดพลู ซอยเทอดไทย 25 ผู้ค้า 15 ราย 2.ภายในซอยสมเด็จพระเจ้าตากสิน 19-21 ผู้ค้า 13 ราย ยกเลิกวันที่ 30 กันยายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ซอยอิสรภาพ 13-15 ผู้ค้า 33 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มกราคม 2568 และยุบรวมพื้นที่ทำการค้าหน้าคอนโด Whizdom ถนนรัชดาภิเษก ผู้ค้า 13 ราย ยุบรวมวันที่ 7 มกราคม 2568 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 เตรียมความพร้อมในการตรวจประเมินพื้นที่ทำการค้าต่อไป

ในการนี้มี ว่าที่ร้อยตรีเดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตธนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200