
(20 ม.ค. 68) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตวังทองหลาง ประกอบด้วย
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคาร ถนนประดิษฐ์มนูธรรม เพื่อใช้เป็นอาคารสำนักงาน อาคารพาณิชย์ อาคารอยู่อาศัย ชนิดอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ความสูง 6 ชั้น (ชั้นใต้ดิน 1 ชั้น ชั้นลอย ชั้นดาดฟ้า) จำนวน 1 หลัง ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งผู้ประกอบการได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 ดังนี้ 1.จัดทำรั้วทึบแข็งแรง ความสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้าง 2.ปิดคลุมกองวัสดุที่มีฝุ่นละอองหรือเก็บไว้ในที่ปิดล้อม และฉีดพรมด้วยน้ำ 3.ตรวจวัดสิ่งแวดล้อมประจำวันและประจำสัปดาห์ เพื่อเฝ้าระวังค่าความเข้มของเสียง ค่าความสั่นสะเทือน ค่าฝุ่นละออง ไม่ให้เกินมาตรฐานที่กำหนด 4.ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณรั้วชั่วคราว เพื่อฉีดพรมน้ำลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการล้างทำความสะอาดพื้นบริเวณทางเข้าออกโครงการ ฉีดพรมน้ำบนพื้นดินให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้พื้นแห้งเกิดฝุ่นฟุ้งกระจาย ปรับปรุงความสูงของรั้วโดยรอบให้มีความสูงไม่น้อยกว่า 2 เมตร ติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 พร้อมจอแสดงผลหน้าโครงการ ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถเปิดใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันมลพิษทางอากาศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนน้อมเกล้า ซอยรามคำแหง 39 พื้นที่ 14 ไร่ 2 งาน ประชากร 1,200 คน บ้านเรือน 100 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ประชาชนเข้าร่วมคัดแยกขยะอินทรีย์ 20 หลังคาเรือน นำเศษอาหารที่คัดแยกไปใส่กระถางต้นไม้บริเวณหน้าบ้านตัวเอง โดยทำเป็นถังหมักรักษ์โลกแบบมินิ ส่วนขยะอินทรีย์ประเภทเปลือกผลไม้ เขตฯ และเกษตรกรจะเข้าไปรับในชุมชน 2.ขยะรีไซเคิล ประชาชนคัดแยกและนำไปขาย เพื่อเป็นรายได้ของตนเอง บางส่วนจะรวบรวมไว้และนำมาแลกไข่ บริเวณที่ทำการชุมชนเดือนละ 1 ครั้ง 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไปจากต้นทาง ส่วนที่เหลือเขตฯ จัดเก็บ เพื่อนำไปกำจัด 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตรายจากต้นทาง เช่น หลอดไฟ กระป๋องสเปรย์ นำมารวบรวมไว้ที่ทำการชุมชน เขตฯ จัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะทั้งหมดก่อนคัดแยก 3,087 กิโลกรัม/เดือน ส่วนหลังคัดแยกสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 112 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิล 20 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ 2,945 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตราย 10 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางชุมชนในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
พัฒนาสวน 15 นาที สวนทิวสน บริเวณหมู่บ้านทิวสน โครงการ 3 ซอยลาดพร้าว 87 แยก 14 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างเขตฯ กับหมู่บ้าน ในการพัฒนาพื้นที่เดิมซึ่งเป็นสนามเด็กเล่นให้เป็นกลายเป็นสวน 15 นาที เพื่อเป็นการเพิ่มประโยชน์การใช้งานในพื้นที่ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เป็นสถานที่ออกกำลังกาย สนามเด็กเล่น และพักผ่อนหย่อนใจ ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ดังนี้ 1.สวนสาธารณะวังทอง 1 พื้นที่ 1 ไร่ 2.สวนสาธารณะวังทอง 2 พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง 1.สวนประติมากรรมภาวนาแห่งจันทร์ พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา 2.สวนธรรม วัดสามัคคีธรรม พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนสมุนไพรลาดพร้าว 84 พื้นที่ 1 ไร่ 4.สวนสาธารณะวังทอง 3 (สวนสาธารณะซอยลาดพร้าว 64 แยก 6) พื้นที่ 81 ตารางวา 5.สวนชุมชนคลองพลับพลา พื้นที่ 2 งาน 41 ตารางวา 6.สวนหย่อมด้านหน้าสภาวิศวกร พื้นที่ 2 งาน 7.สวนทิวสน พื้นที่ 2 งาน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างเพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้ามาใช้บริการ
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณซอยลาดพร้าว 124 แยก 3-5 ผู้ค้า 8 ราย ตั้งวางโต๊ะวางขายอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทานริมไหล่ทาง ซึ่งเป็น 1 ใน 3 จุดที่เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 58 ราย ดังนี้ 1.ซอยรามคำแหง 39 แยก 1-3 ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-10.00 น. (8 ราย) ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. (27 ราย) 2.ถนนอินทราภรณ์ ข้างห้างโลตัส สาขาศรีวรา ถึงหน้าอาคารเลขที่ 1139 ผู้ค้า 16 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-10.00 น. (12 ราย) ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-22.00 น. (4 ราย) 3.ซอยลาดพร้าว 122 แยก 18 ผู้ค้า 7 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้า 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยลาดพร้าว 87 แยก 10-26 ผู้ค้า 33 ราย 2.ซอยลาดพร้าว 101 แยก 3-29 ผู้ค้า 10 ราย ยกเลิกเดือนเมษายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าอีก 3 จุด ได้แก่ 1.ซอยลาดพร้าว 124 แยก 3-5 ผู้ค้า 8 ราย 2.หน้าตลาดสะพานสอง (แนวใน) ตั้งแต่ปากซอยลาดพร้าว 45/1 ถึงปากซอยลาดพร้าว 49 ผู้ค้า 30 ราย 3.ปากซอยลาดพร้าว 98 ผู้ค้า 5 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย
ในการนี้มี นายโครงการ เจียมจีรกุล ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตวังทองหลาง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)