กทม. บูรณาการทุกภาคส่วนเดินหน้ามาตรการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดใน 4 มิติ

นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงความคืบหน้าการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า กทม. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ปีงบประมาณ 2568 ซึ่งมีหน่วยงานดำเนินการร่วมกับ กทม. ตามแนวทาง 4 มิติ ได้แก่ มิติด้านป้องกันยาเสพติด (ในสถานศึกษา ชุมชน สถานประกอบการ) โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร (ปปส.กทม.) มิติด้านปราบปราม โดยร่วมกับ บช.น. และ ปปส.กทม. มิติด้านการแก้ไขปัญหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บช.น. และ ปปส.กทม. และมิติด้านการบริหารจัดการ โดยร่วมกับ บช.น. และ ปปส.กทม. อีกทั้งมีกลไกการกำกับติดตามการดำเนินงานผ่านศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กทม. โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งกำหนดให้จัดประชุมทุกเดือน เพื่อติดตามเร่งรัดการดำเนินงานตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนด

นอกจากนี้ ได้มีแนวทางการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษพิษภัยและอันตรายของยาเสพติดประเภทต่าง ๆ รวมถึงยาเสพติดรูปแบบใหม่ โดยสอดแทรกผ่านกิจกรรมในชั้นเรียนตามช่วงวัยที่เหมาะสม โดยระดับปฐมวัย ได้ใช้หลักสูตรพัฒนาทักษะทางสมอง EF (Executive Function) แก่เด็กปฐมวัย อายุช่วง 3-5 ปี โดยสนับสนุนชุดสื่อพัฒนาทักษะทางสมองให้แก่สถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง เพื่อนำไปพัฒนาให้แก่อาสาสมัครที่รับผิดชอบการให้ความรู้แก่เด็กในช่วงวัยดังกล่าว ซึ่งเป็นวัยที่มีพัฒนาการทางสมองมากที่สุด สำหรับระดับประถมศึกษาได้ให้ความรู้การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติด ใช้แนวคิดศูนย์ศึกษาชีวิต (Life Education Centre) เป็นการให้การศึกษาในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยจนย่างเข้าสู่วัยรุ่น (6 – 12 ปี) ดังนั้น การจัดหลักสูตรการให้ความรู้จึงแตกต่างกัน เพื่อความเหมาะสมกับช่วงวัยและระดับการศึกษาของผู้เรียน และจัดกิจกรรมผ่านศูนย์ SDLC (SELF DISCOVERY LEARNING CENTER) ที่เหมาะสมกับวัย 3-15 ปี ภายใต้กรอบความรู้ “เรียนเล่น เรียนรู้ สู่การค้นหาคุณค่าตนเอง” ปัจจุบันดำเนินการรับนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ทั้งในและนอกสังกัด กทม. ส่วนระดับชั้นมัธยมศึกษา มีระบบการคัดกรองนักเรียน โดยใช้แบบประเมินภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติดโรงเรียนสังกัด แบ่งนักเรียนเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มภูมิคุ้มกันปกติ กลุ่มภูมิคุ้มกันต่ำ และกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการใช้ยาและสารเสพติด ซึ่งได้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนโรงเรียนสังกัด กทม. ได้จัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE และศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE เพื่อสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200