บางคอแหลมคุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 ไซต์ก่อสร้างวันริเวอร์พระราม 3 ชวนนำรถบรรทุกขึ้นบัญชีสีเขียว ตัดริบบิ้นเปิดสวนไทรภิรมย์วัดไทร ยกเลิกแผงค้าซอยมไหสวรรย์ 6 ชมคัดแยกขยะโรงแรมเดอะสลิลริเวอร์ไซด์ 

 

 

(9 ม.ค. 68) เวลา 13.30 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางคอแหลม ประกอบด้วย 

 

ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการวันริเวอร์พระราม 3 (One River Rama 3) ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัยรวม ความสูง 33 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบในช่วงเวลาทำงาน ฉีดล้างทำความสะอาดพื้น จัดทำบ่อล้างล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน รวมถึงขึ้นทะเบียนรถบรรทุกตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ในบัญชีสีเขียว เพื่อเข้าพื้นที่เขตมลพิษต่ำ ช่วงวิกฤติฝุ่น นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 2 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 1 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 4 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำอู่รถสองแถวและรถโดยสารสาธารณะ 2 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 

 

พัฒนาสวน 15 นาที สวนไทรภิรมย์ วัดไทร ซึ่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ ปูแผ่นอิฐทางเดิน โรยกรวด ตั้งวางม้านั่ง ปลูกหญ้า ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ตัดริบบิ้นเปิดสวนไทรภิรมย์อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งร่วมกับคณะขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาเขตบางคอแหลม และประชาชนในพื้นที่ปลูกต้นพิกุล เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างความร่มรื่นภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ ถนนพระรามที่ 3 พื้นที่ 2 งาน 50 ตารางวา 2.สวนหย่อมใต้สะพานพระราม 3 พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 89 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนมาตานุสรณ์ ถนนมไหสวรรย์ พื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 45 ตารางวา อยู่ระหว่างเตรียมการปรับปรุง 2.สวนหย่อมริมถนนเจริญราษฎร์ 7 พื้นที่ 1 งาน 38 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบ 3.สวนหย่อมริมถนนเจริญราษฎร์ 10 พื้นที่ 1 งาน 13 ตารางวา อยู่ระหว่างออกแบบ 4.สวนตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 พื้นที่ 118.31 ตารางเมตร เปิดใช้งานแล้ว 5.สวนสุสานโปรเตสแตนต์ พื้นที่ 73 ตารางเมตร เปิดใช้งานแล้ว 6.สวนหย่อมทวีสุข เชิงสะพานพระราม 3 พื้นที่ 750 ตารางเมตร อยู่ระหว่างปรับปรุงภูมิทัศน์ 7.สวนไทรภิรมย์ วัดไทร พื้นที่ 2 งาน 20 ตารางวา เปิดใช้งานแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงอนุรักษ์ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่สวนไว้ตามเดิม ออกแบบพื้นที่ภายในสวนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนที่เข้ามาใช้บริการภายในสวนอย่างแท้จริง 

 

ตรวจการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า บริเวณซอยมไหสวรรย์ 6 (ซอยมาตานุสรณ์) มีผู้ค้า 5 ราย เป็นร้านขายอาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง ก๋วยเตี๋ยว ลักษณะแผงค้าเป็นเพิงติดกับช่องทางจราจร มีหลังคาผ้าใบยื่นล้ำเข้าไปในผิวจราจร มีการประกอบอาหารก่อให้เกิดความสกปรกจากคราบน้ำมันและเศษอาหาร รวมถึงก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์บนพื้นทางเท้า อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้อยู่ในจุดทำการค้า ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการยกเลิกพื้นที่ทำการค้าดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 3 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 114 ราย ได้แก่ 1.ตลาดบางคอแหลม ตั้งแต่ปากซอยเจริญกรุง 107 ถึงหน้ามัสยิดอัสสละฟรียะห์ ผู้ค้า 41 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. 2.ถนนเจริญกรุง 89-91 ตั้งแต่หน้าอาคารเลขที่ 89/1 ถึงปากซอยเจริญกรุง 91 ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-22.00 น. 3.ฝั่งบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ตั้งแต่เชิงสะพานข้ามคลองบางโคล่ ถึงประตูทางเข้าบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. และฝั่งตรงข้ามบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด ถนนเจริญราษฎร์ ตั้งแต่เชิงสะพานข้ามคลองบางโคล่ ถึงอาคารเลขที่ 4236/197 ผู้ค้า 55 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. รวมผู้ค้า 61 ราย สำหรับพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 150 ราย ได้แก่ 1.ตลาดคลองสวนหลวง ตั้งแต่ปากซอยเจริญกรุง 101 ถึงปากซอยเจริญกรุง 103 ผู้ค้า 73 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-22.00 น. 2.ซอยเจริญกรุง 81-85 ตั้งแต่ปากซอยเจริญกรุง 81 ถึงปากซอยเจริญกรุง 85 ผู้ค้า 43 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 3.หน้าศูนย์บริการสาธารณสุข 18 ตั้งแต่ซอยจันทน์ 43 แยก 33 ถึงหน้าบ้านเลขที่ 877 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 4.ซอยเจริญกรุง 99 ตั้งแต่ปากซอยเจริญกรุง 99 ถึงบริเวณข้างสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ผู้ค้า 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 

 

ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ได้ยกเลิกพื้นที่ทำการค้าบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 8 ราย และด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 16 ราย โดยย้ายผู้ค้าบริเวณฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ (ผู้ค้า 8 ราย เลิกทำการค้า 1 ราย) เข้ามาทำการค้าในจุดที่เขตฯ จัดทำเป็น Hawker Center บริเวณพื้นที่ว่างหน้าโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยจัดทำแผงค้าให้มีรูปแบบเดียวกัน เพื่อความสวยงามและเป็นระเบียบในพื้นที่ ส่วนผู้ค้าด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ผู้ค้า 16 ราย ย้ายเข้า Hawker Center จำนวน 6 ราย เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 อีก 10 ราย ย้ายเข้าจุดที่เขตฯ จัดเตรียมไว้รองรับ รวมผู้ค้าที่อยู่ใน Hawker Center ทั้งหมด 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-17.00 น. จากนั้นเขตฯ ได้ปรับปรุงพื้นที่ด้านหลังโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ติดตั้งเสาจราจรสีส้ม ทาสีพื้นทางเดิน เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ในการเดินไปยังพื้นที่ลานจอดรถที่อยู่บริเวณด้านหลังโรงพยาบาล 

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมเดอะสลิลริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ ซอยเจริญกรุง 72/1 พื้นที่ 4 ไร่ มีพนักงาน 200 คน ห้องพัก 235 ห้อง เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2566 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับขยะทั่วไปตามจุดต่าง ๆ ภายในโรงแรม พนักงานทำความสะอาดเก็บรวบรวมไว้บริเวณห้องเก็บขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บวันจันทร์-เสาร์ ช่วงเวลา 22.00-01.00 น. 2.ขยะรีไซเคิล มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะรีไซเคิลโดยเฉพาะ โรงแรมจะบริหารจัดการเอง โดยนำไปจำหน่ายเพื่อเป็นสวัสดิการของพนักงานและบริหารจัดการภายในโรงแรม 3.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะเศษอาหารบริเวณจุดทิ้งขยะเศษอาหารในโรงแรม ตั้งถังรองรับขยะเศษอาหาร รวบรวมไปไว้บริเวณห้องพักขยะเศษอาหาร โดยมีบริษัทเอกชนจัดเก็บทุกวัน ช่วงเวลา 01.00-02.00 น. 4.ขยะอันตราย มีพื้นที่สำหรับจัดเก็บขยะอันตรายโดยเฉพาะ มีการจัดเก็บอย่างมิดชิด โรงแรมบริหารจัดการเองปีละ 2 ครั้ง 5.น้ำมันเก่า มีถังสำหรับจัดเก็บน้ำมันที่ใช้แล้วโดยเฉพาะ โรงแรมบริหารจัดการเองอาทิตย์ละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 200 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 455 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 3,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน น้ำมันเก่าหลังคัดแยก 260 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงแรมในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บไปกำจัด ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ 

 

ในการนี้มี นางสาวอรชา มุ้ยเสมา ผู้อำนวยการเขตบางคอแหลม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางคอแหลม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

 

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200