กทม. ส่งความสุขรับปีมะเส็งด้วย BKT Happy Boat เรือส่งอาหารจากโครงการ Mobile BKK Food Bank

(26 ธ.ค. 67) นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร ลงเรือออกเดินทางจากบริเวณประตูระบายน้ำคลองไปยังชุมชนเชิงตาแพ แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน เพื่อส่งต่อสิ่งของที่จำเป็นให้กับกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงจำนวน 5 ราย ตามเส้นทางคลองเกาะโพธิ์ นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปยัง ตลาดเจ๊ขวัญ ถนนบางกระดี่ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงาน Monkey Food Bank ส่งต่ออาหารไปยังลิง เพื่อลดปัญหาขยะอาหารให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังเป็นการลดปัญหาเดือนร้อนรำคาญของลิงที่มักจะเข้ามาขโมยอาหารในเขตชุมชนอีกด้วย

ที่ปรึกษาฯ พรพรหม กล่าวว่า ปัจจุบันในกรุงเทพมหานครยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้มีรายได้น้อย ตกงาน รวมถึงผู้ประสบภัย ที่ยังขาดแคลนอาหารและเครื่องอุปโภคบริโภคเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันก็พบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตเป็นอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) และถูกทิ้งเป็นขยะทุกวัน และขยะที่มาจากอาหารคิดเป็น 50% ของขยะทั้งหมด กทม.จึงจัดทำโครงการ BKK Food Bank ธนาคารอาหารขึ้น โดยเป็นตัวกลางในการรวบรวมอาหาร เครื่องอุปโภคบริโภค จากผู้ที่อยากแบ่งปันเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลน โดยจัดเป็นที่เก็บของคล้ายๆ ร้านสะดวกซื้อ และให้กลุ่มผู้เปราะบางที่อยู่ในฐานข้อมูลของแต่ละเขตมาเลือกของที่ต้องการ เช่น ข้าวสาร ไข่ น้ำปลา น้ำตาล เสื้อผ้า และของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนำแต้มที่เขตมอบให้มาแลกของที่ต้องการ

หลังจากได้เริ่มนำร่องมาตั้งแต่ตุลาคม 2565 โดยเขตล่าสุด คือ เขตสะพานสูง นอกจากเครื่องอุปโภคบริโภคแล้ว สำนักงานเขตยังมีการรับ – ส่งต่ออาหารส่วนเกิน (Food Surplus) จาก “ผู้บริจาค ตรงสู่ ผู้รับ” ในพื้นที่และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยจะรับอาหารส่วนเกินจากผู้บริจาค สัปดาห์ละ 3 วัน (ทุกวันอังคาร พุธ พฤหัสบดี) และส่งตรงถึงมือผู้รับ เป็นการร่วมมือกับภาคเอกชน ประชาชน ศาสนสถาน สมาคม มูลนิธิต่าง ๆ ที่เป็นผู้บริจาค ซึ่งผู้ประสงค์จะบริจาคของให้กับ BKK Food Bank สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขตทุกเขต

สำหรับ BKK Food Bank วันนี้ได้เปิดครบแล้วทั้ง 50 เขตแล้ว โดยผู้มีสิทธิไปรับของจาก BKK Food Bank ประกอบด้วย 1.กลุ่มเปราะบางจากการสำรวจ (เด็ก สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง คนไร้บ้าน) 2.กลุ่มเปราะบางที่ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือในระบบ e-case 3.กลุ่มผู้รับบัตรสวัสดิการของรัฐ 4.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยต่าง ๆ 5.ผู้ที่ว่างงาน 6.เด็กในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน 7.ผู้ดูแลผู้พิการ/ผู้ป่วยติดเตียง และ 8.อื่น ๆ ตามดุลพินิจของผู้อำนวยการเขต
ถ้าต้องการติดต่อรับของจาก BKK Food Bank มีขั้นตอนดังนี้ 1.ไปที่สำนักงานเขตใกล้บ้านท่าน 2.รายงานตัวรับพาสปอร์ตและคูปอง เพื่อใช้ในการคำนวณวันเข้ารับบริการ (หมายเหตุ ผู้เข้ารับบริการจะได้รับคะแนนครั้งละ 300 คะแนน หากใช้ไม่หมดไม่สามารถสะสมในครั้งถัดไปได้, ผู้เข้ารับบริการสามารถเข้าใช้บริการได้ไม่เกินท่านละ 6 ครั้งต่อปี, ห้ามนำสิ่งของไปขายต่อหากพบจะถูกระงับสิทธิทันที, เลือกสิ่งของตามความต้องการ, รับสิ่งของที่เลือกไว้กลับบ้าน)

ในกรณีของผู้ที่ต้องการบริจาคอาหารและสิ่งของอุปโภคบริโภคที่ Food Bank จะรับบริจาคแบ่งเป็น 2 หมวด 1.ของกิน (บริโภค) ได้แก่ ข้าวสาร/ข้าวเหนียว ปลากระป๋อง นม น้ำดื่ม น้ำมัน อาหารกึ่งสำเร็จรูป ขนม เครื่องปรุงรส ไข่สด/ไข่ต้ม ผัก/ผลไม้ นมผงเด็ก ยารักษาโรค 2.ของใช้ (อุปโภค) ได้แก่ เวชภัณฑ์ (สำลี ผ้าก๊อซ ผ้าปิดแผล) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั่วไป (น้ำยาล้างจาน ล้างห้องน้ำ ปรับผ้านุ่ม) ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย (แปรงสีฟัน สบู่ ยาสระผม) ทิชชู่ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป (เด็ก ผู้ใหญ่) ผ้าอนามัย เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระเป๋าผ้า ถุงผ้า กระติกน้ำ กระบอกน้ำ จาน ชาม ถ้วย เครื่องครัว (หม้อ ตะหลิว ทัพพี กะละมัง) เครื่องใช้ไฟฟ้า (หม้อหุงข้าว พัดลม) อื่น ๆ เช่น ของเล่นเด็ก ของที่ต้องการแบ่งปัน (ไม่รับของมือสองหรือของที่ใช้แล้ว) ฯลฯ หากประชาชนทั่วไปที่ต้องการส่งของมาให้ BKK Food Bank สามารถติดต่อได้ที่ ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ทั่วกรุงเทพฯ สามารถดูแผนที่ BKK Food Bank และเบอร์ติดต่อสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตได้ที่

BKK FOOD BANK

https://greener.bangkok.go.th/bkk-food-bank/

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200