ศาลาว่าการกทม. – เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารว่า ที่ประชุมสำนักเทศกิจ (สนท.) ได้รายงานแนวทางการดำเนินการกรณีทิ้งขยะในที่สาธารณะหรือที่ส่วนบุคคล ที่รกร้างว่างเปล่า อาคารร้าง จะมีการใช้มาตรการเบื้องต้น โดย 1.การสำรวจและประชาสัมพันธ์ 2. มีหนังสือแจ้งให้แก้ไข ปรับปรุง 3. ปรับปรุงสภาพแวดล้อม 4. ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง กล้องซีซีทีวี 5. จัดเจ้าหน้าที่ออกตรวจ ติดตั้งตู้เขียวเทศกิจ 6. ให้ประชาชนแจ้งเบาะแส
จากนั้นจะเป็นมาตรการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ พ.ศ. 2535 มาตรา 32 (2) ปล่อยปละละเลยให้มีสิ่งปฏิกูล หรือขยะ ในที่ดินของตนในสภาพที่ประชาชนอาจได้เห็นจากพื้นที่สาธารณะ และมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 54 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีขัดคำสั่งที่สั่งให้แก้ไข เป็นความผิดตามป.อาญา มาตรา 368
ส่วนกรณีไฟไหม้กองขยะลุกลามทำให้ทรัพย์ผู้อื่น เสียหาย เป็นความผิด ป.อาญา มาตรา 220 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาท พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ เริ่มตั้งแต่ 0.3% – 0.7% (ตามมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) ซึ่งจะเพิ่มขึ้นทุก 3 ปี ในอัตรา 0.30 หากฝ่าฝืน
สำหรับผลการสำรวจจุดทิ้งขยะริมทางในที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคล มีจำนวนทั้งสิ้น 207 จุด แบ่งเป็นที่สาธารณะ 30 จุด พื้นที่ส่วนบุคคล 177 จุด จึงได้ดำเนินการตามพ.ร.บ.รักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 โดยมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินแก้ไข เช่น ล้อมรั้วปิด ตัดแต่งต้นไม้ที่รกทึบ ทำสิ่งป้องกันมิให้มีการทิ้งขยะ โดยเรียกร้องค่า ใช้จ่ายจากเจ้าของได้ ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องค่าบริการ พ.ศ. 2543 เช่น ค่าบริการเก็บขยะ ลบ.ม. ละ 250 บาท ค่าเก็บขนเศษวัสดุก่อสร้าง ลบ.ม. ละ 250 บาท ดำเนินคดี ปรับ 2,000 บาท ก่อนส่งสน. ดำเนินคดี
ที่มา: นสพ.ข่าวสด ฉบับวันที่ 21 ม.ค. 2566