บางพลัดกดไลก์ร้านกาแฟบ้านบางอ้อต้นแบบคัดแยกขยะอย่างครบวงจร พลิกโฉมสวนวิถี-สิรินธรใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด ตรึงแนวแผงค้าหน้าวัดภคินีนาถ ล้อมรั้วป้องกันลักลอบทิ้งขยะจรัญฯ 75 แยก 34 ติดตามงบฯ ปรับปรุงถนนชุมชนอยู่ดีร่วมใจพัฒนา

(20 ธ.ค. 67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตบางพลัด ประกอบด้วย

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ร้านกาแฟบ้านบางอ้อ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 84 พื้นที่ 159 ตารางเมตร มีพนักงาน 10 คน เข้าร่วมโครงการไม่เทรวมกับกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนสิงหาคม 2567 โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการโครงการส่งเสริมการบริการภัตตาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม Green Restaurant ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ เข้าร่วมโครงการไม่เทรวม โดยเขตฯ สนับสนุนถังรองรับมูลฝอยอินทรีย์และเศษอาหารบริเวณจุดล้างจาน 1 จุด รองรับเศษผักผลไม้และวัตถุดิบในครัว 1 จุด เขตฯ จัดเก็บนำไปส่งโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการจัดการขยะอินทรีย์ ด้วยการเลี้ยงหนอนแมลงทหารดำ (Black Soldier Fly) ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม และเตรียมตั้งจุดทำปุ๋ยหมักเศษอาหาร 1 จุด นำขยะเศษอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การจัดการน้ำมันที่ใช้แล้วโดยการขาย ส่วนเศษอาหารและผักผลไม้ที่ยังดีอยู่จะนำมาทำอาหารให้พนักงาน นำกากกาแฟไปทำปุ๋ยหมัก นำกากกาแฟอบไปทำเป็นสครับจำหน่ายภายในร้าน นำวัตถุดิบเหลือใช้และอาหารเหลือไปใช้ประโยชน์กับชุมชน โดยทางร้านมีการนำอาหารส่วนเกินไปร่วมสนับสนุนกิจกรรมเยาวชน บริเวณชุมชนวัดฉัตรแก้วจงกลนี 2.ขยะรีไซเคิล ลดการใช้วัสดุสิ้นเปลืองโดยยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกห่อหุ้มช้อนส้อม และให้บริการด้วยวัสดุที่วนกลับมาใช้ได้ พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่ส่วนกลางให้ลูกค้าหยิบอุปกรณ์ในการรับประทานอาหาร เช่น จานเปล่า ชามเปล่า ช้อนส้อม ชุดเครื่องปรุง ไม้จิ้มฟัน ทิชชู เพิ่มเติมเองได้อย่างอิสระ ลดใช้ภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง โดยเพิ่มสัดส่วนภาชนะกระดาษชานอ้อย กล่องที่ไม่ได้ทำจากโฟม หรือสอบถามลูกค้าที่สั่งอาหารเดลิเวอรี่ว่าต้องการรับช้อนส้อมพลาสติกหรือไม่ ตั้งถังรองรับมูลฝอยรีไซเคิล แก้วน้ำพลาสติก ขวดน้ำ แก้วกาแฟ หลอด พลาสติกวน พลาสติกทั่วไป เพื่อส่ง N15 และขายให้กับบริษัทจัดเก็บและรับซื้อขยะที่ได้รับการรับรองจากเขตฯ เช่น WASTE BUY จัดหาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าร้อยละ 50 ส่งเสริมการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในการให้บริการ Delivery และการห่ออาหารกลับบ้าน ซึ่งมีสัดส่วน 30% ตามรายการของร้าน โดยจัดทำโปรโมชั่นสำหรับลูกค้าที่นำปิ่นโตมาใส่อาหาร จะได้รับเงินค่าภาชนะคืน 5 บาท และลูกค้าที่นำแก้วมาใส่เครื่องดื่ม จะได้รับเงินค่าแก้วคืน 3 บาท นอกจากนี้ได้จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้แก่พนักงานและลูกค้า ให้เห็นถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ในกิจกรรมต่างๆ ของร้าน เช่น กิจกรรมอาหารสานใจบางอ้อย่านสร้างสรรค์ การอบรมให้ความรู้ด้านการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใน Smart Agro Restaurant โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กิจกรรมการมีส่วนร่วมที่มุ่งเน้นผู้ใช้บริการลดใช้พลังงานและทรัพยากร การจัดโปรโมชั่นลดราคาเมื่อลูกค้านำภาชนะมาบรรจุอาหารเอง 3.ขยะทั่วไป ตั้งถังรองรับมูลฝอยทั่วไป เขตฯ จัดเก็บทุกวัน 4.ขยะอันตราย แยกใส่ถังขยะสีแดง เขตจัดฯ เก็บเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 311 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 56 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 18 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 225 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำแก่ทางร้านในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่

พัฒนาสวน 15 นาที สวนวิถี-สิรินธร บริเวณใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด ซึ่งเขตฯ ได้พัฒนาพื้นที่สวนเดิม ปรับปรุงภูมิทัศน์ให้มีความสวยงาม ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ทาสีพื้นทางเดินวิ่ง ปูแผ่นอิฐประดับลวดลายด้วยฝาขวดน้ำพลาสติก ตั้งวางม้านั่งทำจากวัสดุรีไซเคิล รวมถึงจัดทำลานหินนวดฝ่าเท้า ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนบ่อบัว (ทางกลับรถต่างระดับถนนสิรินธร-ถนนบรมราชชนนี) พื้นที่ 3 งาน 3 ตารางวา 2.สวนหย่อมข้างโรงพยาบาลตา หู คอ จมูก พื้นที่ 3 งาน 10 ตารางวา 3.สวนเฉลิมพระเกียรติ 48 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ วัดอาวุธวิกสิตาราม พื้นที่ 1 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา 4.สวนวิถี-สิรินธร ใต้สะพานข้ามแยกบางพลัด พื้นที่ 1 งาน 24 ตารางวา 5.สวนเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 วัดบวรมงคลราชวรวิหาร ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 (สวนหย่อมวัดบวรมงคล) พื้นที่ 3 ไร่ 6.สวนจรัญภิรมย์ พื้นที่ 3 ไร่ 1 งาน 93 ตารางวา สวน 15 นาที (สวนใหม่) อยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.ที่ว่างแขวงทางหลวงธนบุรี ใกล้ร้านช่างชุ่ย ริมถนนสิรินธร พื้นที่ 1 งาน 38 ตารางวา 2.ที่ว่างหน้าร้านสยามชัย ปากซอยรุ่งประชา ริมถนนบรมราชชนนี พื้นที่ 3 งาน 6 ตารางวา 3.สวนริมถนนราชวิถี ติดร้านขนาบน้ำ (สวนยินดี) พื้นที่ 57.5 ตารางวา 4.ที่ว่างริมถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ พื้นที่ 1 ไร่ 5.ที่ว่างเอกชน ข้างวัดทอง ซอยจรัญสนิทวงศ์ 46 พื้นที่ 5 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน หน้าทางเข้าวัดภคินีนาถ บริเวณซอยราชวิถี 21 ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 68 ราย ได้แก่ 1.บริเวณสะพานพระราม 8 ตั้งแต่ซอยอรุณอมรินทร์ 53 ถึงซอยอรุณอมรินทร์ 57 รวมผู้ค้า 45 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-17.00 น. ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 39 ราย 2.หน้าวัดภคินีนาถ ตั้งแต่จุดกลับรถสะพานกรุงธน ถึงซอยราชวิถี 21 ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าตลาดพงษ์ทรัพย์ ผู้ค้า 6 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มิถุนายน 2567 2.ซอยจรัญสนิทวงศ์ 40 ผู้ค้า 3 ราย ยกเลิกวันที่ 1 มิถุนายน 2567 ส่วนหน้าตลาดกรุงธน ผู้ค้า 11 ราย ได้ย้ายเข้าไปทำการค้าในพื้นที่เอกชน ปัจจุบันไม่มีผู้ค้าแล้ว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 67 กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่

ตรวจการแก้ไขปัญหาพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยจรัญสนิทวงศ์ 75 แยก 34 จากการสำรวจในพื้นที่เขตฯ พบว่ามีพื้นที่รกร้างและมีการลักลอบทิ้งขยะ จำนวน 3 จุด ซึ่งเขตฯ ได้สืบหาเจ้าของที่ดินให้ดำเนินการล้อมรั้วโดยรอบให้มิดชิด นอกจากนี้เขตฯ ได้พัฒนาทำความสะอาดจัดเก็บขยะ ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามทิ้งขยะ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณงานก่อสร้างถนน ค.ส.ล. (คอนกรีตเสริมเหล็ก) ชุมชนอยู่ดีร่วมใจพัฒนา จากเลขที่ดิน 12 ถึงเลขที่ดิน 39 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 75 แยก 6-1 เริ่มต้นสัญญาวันที่ 2 สิงหาคม 2567 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 28 มกราคม 2568 ระยะเวลาดำเนินการ 180 วัน ประกอบด้วย รื้อสะพาน ค.ส.ล. เดิม สร้างกำแพงกันดิน ระยะทาง 494 เมตร สร้างบ่อพักท่อระบายน้ำในผิวจราจรพร้อมฝาท่อ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.40 เมตร สร้างผิวทาง ค.ส.ล. ความหนา 0.10 เมตร สร้างพื้นหินคลุกบดอัดแน่น ความหนา 0.25 เมตร สร้างวัสดุถมคันทาง ความหนา 0.30 เมตร รื้อพื้นทางเดิน ปรับคืนสภาพพื้นทางเดิม ความหนา 0.10 เมตร ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามงานก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง กำชับผู้รับจ้างให้คำนึงถึงความปลอดภัยแก่ประชาชนที่ใช้เส้นทางดังกล่าวในการสัญจร ตลอดจนเร่งก่อสร้างเนื้องานในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามข้อสัญญาที่กำหนดไว้

ในการนี้มี นางสาวมานิตา รุจะศิริ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตบางพลัด สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล

สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี #เดินทางดี #บริหารจัดการดี

—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200