
(17 ธ.ค. 67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตจตุจักร ประกอบด้วย
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนบ้านลาดพร้าว (สาคร-สุ่น พานิชเฮง) ถนนลาดพร้าว-วังหิน พื้นที่ 3 ไร่ มีครูบุคลากรและนักเรียน 335 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะตั้งแต่ปี 2556 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะอินทรีย์ ประสานเกษตรกรมารับไปเลี้ยงปลา บางส่วนนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์และน้ำหมักชีวภาพ 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล โดยมี Waste Buy Dalievery มารับซื้อทุกเดือน กิจกรรมธนาคารขยะ 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย รวบรวมไว้รอเขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนและหลังคัดแยก 60 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ก่อนและหลังคัดแยก 80 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.5 กิโลกรัม/วัน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้คำแนะนำแก่โรงเรียนในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเศษอาหารที่คัดแยกมาทำปุ๋ยอินทรีย์หรือน้ำหมักชีวภาพไว้ใช้ในกิจกรรมโครงการเกษตรของโรงเรียน ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการโค้บบ์ เกษตร-ศรีปทุม (COBE Kaset-Sripatum) ซอยพหลโยธิน 49/1 ถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารความสูง 23 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ. 2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ซึ่งผู้ประกอบการได้จัดทำบ่อล้างล้อรถบรรทุกบริเวณด้านหน้าทางเข้าออกโครงการ ติดตั้งเครื่องพ่นละอองน้ำโดยรอบ พร้อมทั้งตรวจสอบให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ล้างทำความสะอาดพื้นไม่ให้มีเศษหินดินทรายตกค้าง ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด ติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 พร้อมจอแสดงผลบริเวณด้านหน้าทางเข้าออกโครงการ โดยสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง อาทิ ประเภทโรงงานที่ใช้ Boiler 3 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 4 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประเภทตรวจวัดควันดำอู่รถทัวร์ 5 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดมลพิษทางอากาศและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
พัฒนาสวน 15 นาที สวนหน้าสำนักงานเขตจตุจักร ซอยวิภาวดีรังสิต 34-36 ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นที่ดินของเอกชนอนุญาตให้เขตฯ พัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์จัดทำเป็นสวน 15 นาที ปลูกไม้พุ่มไม้ประดับเพิ่มเติม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.สวนวิภาภิรมย์ พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของกรมธนารักษ์ 2.สวนป่าประชานุกูล พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษฯ 3.สวนป่าสัก พื้นที่ 3 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินของกรมธนารักษ์ 4.สวนริมคลองบางเขน พื้นที่ 14 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.สวนใต้สะพานรัชวิภา พื้นที่ 24 ตารางวา 2.สวนชุมชนเคหะเรือนแถว พื้นที่ 37.5 ตารางวา 3.สวนชุมชนประชาร่วมใจ 2 พื้นที่ 50 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของกรมธนารักษ์ 4.สวนวัดเสมียนนารี พื้นที่ 82.5 ตารางวา 5.สวนใต้สะพานงามวงศ์วาน พื้นที่ 62 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการไฟฟ้านครหลวง 6.สวนริมคลองเปรมประชากร พื้นที่ 300 ตารางวา 7.สวนหน้าสำนักงานเขตจตุจักร พื้นที่ 227.5 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของเอกชน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ บำรุงรักษาสวน 15 นาที ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ให้มีความสวยงามและร่มรื่นอยู่เสมอ รวมถึงพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่จัดทำสวน 15 นาทีให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ และพื้นที่ออกกำลังกายใกล้บ้าน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ภายในเวลา 15 นาที หรือระยะทางในการเดิน 800 เมตร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาทีเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
ติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณซอยพหลโยธิน 35 จากการสำรวจในพื้นที่เขตฯ พบว่ามีพื้นที่รกร้างและมีการลักลอบทิ้งขยะ จำนวน 21 จุด สำหรับแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับอาคารทิ้งร้างและที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า หรือบริเวณที่เป็นจุดเสี่ยง หรือจุดล่อแหลมต่อการเกิดอาชญากรรม หรือปล่อยปละละเลยให้มีการทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย เศษวัสดุก่อสร้าง ซึ่งสำนักเทศกิจได้มีหนังสือสั่งการให้สำนักงานเขตดำเนินการตามข้อกฎหมาย จำนวน 7 ฉบับ ดังนี้ 1.พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 2.พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 3.พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 4.ประมวลกฎหมายที่ดิน ประกอบระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 5.พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 6.พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2457 7.พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประกอบพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 จากการลงพื้นที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พัฒนาทำความสะอาดจัดเก็บขยะให้เรียบร้อย ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามทิ้งขยะ สืบหาเจ้าของที่ดินให้ดำเนินการล้อมรั้วโดยรอบให้มิดชิด รวมถึงให้ฝ่ายรายได้สำรวจการใช้ประโยชน์จากที่ดิน หากไม่มีการใช้ประโยชน์หรือปล่อยให้รกร้างว่างเปล่าให้จัดเก็บภาษีตามอัตราที่กำหนด ซึ่งเขตฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว จากเดิมมีพื้นที่รกร้าง 21 จุด แก้ไขแล้ว 12 จุด โดยปรับปรุงด้านกายภาพ เก็บขยะ ถางหญ้า ล้อมรั้ว เจ้าของที่ดินมาชำระภาษีแล้ว 14 จุด เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน 3 จุด โดยให้เขตฯ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ป้องกันการลักลอบนำเศษวัสดุจากสิ่งปลูกสร้างหรือขยะชิ้นใหญ่มาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว
พร้อมกันนี้ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 137 ราย ได้แก่ 1.ถนนกำแพงเพชร 3 ผู้ค้า 72 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. 2.หน้าท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ถนนเทศบาลนิมิตรเหนือ ผู้ค้า 12 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 08.00-20.00 น. 3.ปากซอยพหลโยธิน 24 ถนนพหลโยธิน ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-16.00 น. 4.ตลาดปลาสวยงาม ถนนกำแพงเพชร 4 ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้ามิกซ์จตุจักร ถึงทางเข้าลานจอดรถห้างเจเจมอลล์ ผู้ค้า 40 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-21.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 32 ผู้ค้า 13 ราย ยกเลิกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 ในปี 2568 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด บริเวณหน้าท็อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ต ถนนเทศบาลนิมิตรเหนือ ผู้ค้า 12 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่
ในการนี้มี นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตจตุจักร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)