กทม. เตรียมพร้อมฉีดวัคซีน ‘หัด-ไอกรน-HPV’ – กำชับป้องกันไข้หวัดใหญ่-โควิด 19 ช่วงปีใหม่
นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2567 พิจารณาเห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการเพิ่มความครอบคลุมของวัคซีนในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคหัด โรคไอกรน รวมทั้งสานต่อการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ว่า กทม. ได้เตรียมความพร้อมของสถานพยาบาลในสังกัดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันควบคุมโรคหัด โรคไอกรน และวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (HPV) พร้อมให้ความรู้ ข้อแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพ รวมถึงสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ถูกต้องป้องกันโรคเบื้องต้น ทั้งนี้ โรคติดต่อสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ โรคหัด แนะนำผู้ปกครองพาเด็กเล็กเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคหัดให้ครบตามกำหนด โรคไอกรน แนะนำพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตามกำหนด สำหรับเด็กควรรับวัคซีน DTP อย่างน้อย 3 เข็ม และควรฉีดให้หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป ส่วนโรคมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งจะเป็นการให้เข็มที่ 2 ในกลุ่มเป้าหมายอายุ 11 – 20 ปี ที่เคยฉีดเข็มที่ 1 มาแล้ว และให้วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ เป็นเข็มที่ 1 สำหรับนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ป. 5) ปีการศึกษา 2567 เดือน ม.ค. – ก.พ. 68 (ก่อนปิดภาคเรียน) สำหรับกลุ่มเป้าหมายนอกเหนือจากนักเรียนหญิงชั้น ป. 5 ที่ยังไม่ได้รับการฉีดเข็มที่ 1 จะให้บริการในเดือน มี.ค. – เม.ย. 68
ขณะเดียวกัน สนพ. ได้เตรียมมาตรการเฝ้าระวังพร้อมจัดทำแนวทางการดำเนินงานควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในช่วงเทศกาลปีใหม่ และภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น โดยสั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงดำเนินการวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย พร้อมจัดเตรียมวัคซีนป้องกันควบคุมโรคในฤดูหนาว ได้แก่ โรคหัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดอักเสบ และโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส ให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. จัดให้บริการวัคซีนในกลุ่มนักเรียนหญิงไทยชั้น ป. 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (ม. 6) หรือเทียบเท่า ในรูปแบบวัคซีนนักเรียน (School-based vaccination) และให้บริการวัคซีนในนักเรียนหญิงไทยชั้น ป. 6 ถึงชั้น ม. 6 และหญิงไทยอายุ 12-20 ปี ทั้งในและนอกระบบการศึกษา ในรูปแบบ Walk in ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทุกวันพุธ เวลา 13.00-15.00 น. รวมถึงเตรียมความพร้อมให้บริการฉีดวัคซีน HPV ในกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงไทยอายุ 11-20 ปี ที่เคยรับวัคซีนเข็มที่ 1 มาแล้ว ทั้งในรูปแบบวัคซีนนักเรียนที่โรงเรียน และในรูปแบบ Walk in ที่ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการรับบริการได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม ส่วนนักเรียนหญิงชั้น ป. 5 ในโรงเรียนทุกสังกัดในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ดำเนินการสำรวจข้อมูลและความประสงค์ในการเข้ารับวัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ จำนวนคนละ 1 เข็ม ตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โรคไข้หวัดใหญ่ โดยให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างหมั่นล้างมือ รวมถึงเฝ้าสังเกตอาการตนเอง 7 วันหลังเดินทางกลับจากท่องเที่ยวเทศกาลปีใหม่ หลีกเลี่ยงสัมผัสกับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งได้ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โรคโควิด 19 และโรคไข้หวัดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างใกล้ชิด โดยศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่งได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ในการให้บริการอย่างเพียงพอ พร้อมจัดเตรียมทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) เพื่อสอบสวนและควบคุมโรคกรณีเกิดการระบาดของโรค
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า ในส่วนของการดูแลนักเรียนในโรงเรียนสังกัด กทม. สนศ. ได้ซักซ้อมมาตรการตรวจสุขภาพนักเรียนประจำปีการศึกษา 2567 โดยส่งใบขออนุญาตดำเนินการสร้างเสริมสุขภาพนักเรียนเพื่อขออนุญาตผู้ปกครองก่อนการดำเนินการ ภายใต้การให้บริการของ สนอ. และหน่วยบริการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในรายการการตรวจสุขภาพนักเรียน ได้แก่ การตรวจสุขภาพตามเกณฑ์ เช่น การตรวจคัดกรองร่างกายทุกระบบ ตรวจคัดกรองสายตา (ป.1-ป.6) และประเมินภาวะโภชนาการ เป็นต้น การตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว (ชั้น ป.3 ทุกคน และ ม.2 เฉพาะเพศหญิง) ตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจาง โดยการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว (เฉพาะปีการศึกษา 2567 ชั้น ป.4-6 ทุกคน) การเก็บตกวัคซีนในนักเรียนชั้น ป.1 ที่ได้รับไม่ครบตามเกณฑ์ การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน ได้แก่ วัคซีน HPV ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก (ชั้น ป.5 เฉพาะเพศหญิง) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (ชั้น ป.6 ทุกคน) และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (เฉพาะปีการศึกษา 2567 ชั้น ป. 1-3 ทุกคน) เป็นต้น ทั้งนี้ สนศ. ได้ประสานหน่วยบริการสาธารณสุขให้นักเรียนรับวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ และมะเร็งปากมดลูก (HPV) ในนักเรียนหญิงชั้น ป. 5 ที่ตกค้าง ให้ครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ปี 66 เป็นต้นมา ซึ่งแผนการให้วัคซีนแก่นักเรียนหญิง ป.5 ที่ตกค้าง ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องระหว่างปี 66-67 รวมทั้งกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการสื่อสารและประสานงาน การเตรียมความพร้อมสถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจากสถานพยาบาลในพื้นที่ ซึ่งอยู่ใกล้โรงเรียน เพื่อสนับสนุนพื้นที่ในโรงเรียนเป็นสถานที่ให้วัคซีนแก่เด็กนักเรียน ตลอดจนเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรค
นอกจากนี้ ได้สำรวจข้อมูลสถานการณ์การเจ็บป่วยตามฤดูกาลและการระบาดของผู้ป่วยโรคไอกรน โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด 19 ในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน ผ่าน Google Form ซึ่งเป็นมาตการเชิงรุกตามแผนเผชิญเหตุ เพื่อทราบข้อมูลเชิงพื้นที่รายโรงเรียนแบบทันท่วงที หากพบกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย หรือการระบาดของโรค กำหนดให้โรงเรียนรายงานจำนวนนักเรียนที่มีความเสี่ยง หรือพบการติดเชื้อ พร้อมกำชับให้โรงเรียนเฝ้าระวังและสังเกตอาการของนักเรียนและดำเนินการตามมาตรการทางการแพทย์และการสาธารณสุข รวมทั้งกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ มีการสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจการเข้ารับวัคซีน ทั้งผู้ปกครอง นักเรียน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาของ กทม. รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ขณะเดียวกันยังประสานบุคลากรจากสถานพยาบาลร่วมชี้แจงสิทธิการรักษา การเข้ารับวัคซีนในวันประชุมผู้ปกครองและนักเรียน ตลอดจนสนับสนุนพื้นที่ภายในโรงเรียนให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและให้เป็นสถานที่สำหรับการบริการทางเลือก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง บุคลากร และประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชนโดยรอบโรงเรียนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลสังกัด กทม.
กทม. แจ้ง กฟน. เร่งยกฝาบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน ถ. สุขาภิบาล 5
นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า ตามที่มีข้อสังเกตถนนสุขาภิบาล 5 ท่อระบายน้ำไม่เรียบเสมอถนน เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุว่า จากการตรวจสอบบริเวณดังกล่าวพบเป็นงานก่อสร้างบ่อพักและท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ถนนสุขาภิบาล 5 สำหรับสถานีย่อยออเงิน เขตสายไหม ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดซ่อมผิวจราจรและทางเท้า เพื่อเตรียมคืนสภาพถาวรให้ กทม. สนย. จึงได้แจ้ง กฟน. ให้ดำเนินการยกฝาบ่อให้เสมอผิวถนน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น พร้อมเร่งรัดติดตามการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนส่งมอบคืนให้ กทม. อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ใช้ทาง สนย. ได้ดำเนินการเข้าซ่อมแซมชั่วคราว โดยปูแอสฟัลต์ปิดทับฝาบ่อชั่วคราวก่อนที่ กฟน. จะเข้าแก้ไขโดยการยกฝาบ่อให้เสมอระดับผิวจราจร เพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจร
สจส. แจงของบฯ บำรุงรักษาป้ายหยุดรถโดยสารประจำทางกว่า 2,000 หลัง ตามระเบียบหลักเกณฑ์ที่กำหนด
นายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการตั้งงบประมาณดูแลป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง กทม. ว่า สจส. มีศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทางในความรับผิดชอบประมาณ 2,000 หลังทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยภารกิจบำรุงรักษาประกอบด้วย การล้างทำความสะอาด การตรวจสอบและซ่อมแซมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การซ่อมแซมหลังคาและเก้าอี้พักคอย งานทาสีโครงสร้างเหล็ก และการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง เป็นต้น จึงจำเป็นต้องขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยการจัดซื้อจัดจ้างได้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
ทั้งนี้ ปัจจุบัน สจส. อยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางประจำปีงบประมาณ 2568 ในระยะนี้จึงอาจพบศาลาพักผู้โดยสารรถประจำทางบางส่วนมีไฟฟ้าดับ และเก้าอี้ชำรุด ซึ่ง สจส. ได้ส่งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อดำเนินการซ่อมแซมตามลำดับความเร่งด่วนต่อไป