รผว.จักกพันธุ์ ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายฯ ในพื้นที่เขตคลองเตย

 

 

(4 ธ.ค.67) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตคลองเตย ประกอบด้วย 

 

พัฒนาสวน 15 นาที สวนเติมสุข (สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เติมสุข สู่สังคม) ซอยสุขุมวิท 50 ข้างคลองบางจาก ตรงข้ามสวน 50 สุข ซึ่งเขตฯ ร่วมกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย จัดทำสวนเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา เติมสุข สู่สังคม พัฒนาพื้นที่ริมทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณทางลงซอยสุขุมวิท 50 (ขาออก) ให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยมีแนวคิดพื้นที่เล็ก แต่เกิดประโยชน์ใหญ่ เน้นการเพิ่มพื้นที่สวนให้คนเมืองและพื้นที้กิจกรรมใกล้บ้านสำหรับทุกคนในครอบครัว ดำเนินการจัดเก็บขยะ ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดินวิ่งเชื่อมโยงรอบสวน สนามเด็กเล่น สนามกีฬา ลานอเนกประสงค์ พื้นที่ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้เพิ่มเติม โดยได้ลงนาม MOU เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า พื้นที่ 9 ไร่ 2.สวนหย่อมป๋าเปรม พื้นที่ 50 ตารางวา 3.สวนหย่อมอาจณรงค์ภิรมย์ พื้นที่ 1 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 1.สวนคลองเตย พัก&Play สวนหย่อมหน้าสถานีรถไฟฟ้า MRT ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พื้นที่ 300 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 2.สวน 50 สุข ซอยสุขุมวิท 50 (สวนไทรเฉลิมพระเกียรติ) พื้นที่ 10 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 3.สวน 80 พรรษามหาราชินี (ใต้ทางด่วนซอยสุขุมวิท 48/1) พื้นที่ 5 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 4.สวนวัดคลองเตยใน พื้นที่ 2 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของวัดคลองเตยใน 5.สวนเทิดพระเกียรติ 72 พรรษา พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 83 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย 6.สวน 24 สวนลุมพินีเพลส พื้นที่ 2 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 7.สวนชุมชนแฟลต 11-18 พื้นที่ 3 งาน กรรมสิทธิ์ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย 8.สวนเติมสุข (สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เติมสุข สู่สังคม) ซอยสุขุมวิท 50 พื้นที่ 5 ไร่ 245 ตารางวา กรรมสิทธิ์ที่ดินของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงตามความต้องการของประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง 

 

เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมเชอราตันแกรนด์สุขุมวิท เอลักซ์ชัวรี่คอลเล็คชั่นโฮเทล กรุงเทพฯ ห้องพัก 420 ห้อง ห้องอาหาร 5 ห้อง บาร์ 1 ห้อง บุคลากรและผู้ใช้บริการ 840 คน/วัน โรงแรมคัดแยกขยะอินทรีย์ส่งเลี้ยงสัตว์อยู่แล้ว เข้าร่วมโครงการไม่เทรวมของสำนักงานเขตคลองเตย เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 (ประเภทเปลือกผลไม้) วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ แยกถังขยะอาหาร โดยเศษอาหารส่งไปเลี้ยงสัตว์ แยกถังขยะเปลือกผลไม้ เปลือกไข่ เศษใบไม้ ดอกไม้ ส่งให้เขตฯ มารับไปทำปุ๋ยหมัก ในโครงการไม่เทรวม 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขยะรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก ลังกระดาษ กระป๋องอลูมิเนียม น้ำมันที่ใช้แล้ว ส่งขายให้ร้านรับซื้อไปรีไซเคิล 3.ขยะทั่วไป คัดแยกขยะทั่วไป ส่งรถเก็บขยะเขตฯ นำไปฝังกลบและทำลาย 4.ขยะอันตราย คัดแยกขยะอันตราย เช่น แบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย เก็บรวบรวมและส่งให้เขตฯ เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี สำหรับปริมาณขยะหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปหลังคัดแยก 532 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 53 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 371 กิโลกรัม/วัน ปัจจุบันเขตฯ จัดเก็บขยะทั่วไปของโรงแรมเชอราตัน ซึ่งมีปริมาณขยะมูลฝอยเฉลี่ย 682.44 ลิตร/วัน คิดเป็นอัตราค่าธรรมเนียม เดือนละ 2,000 บาท ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงแรมในการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่ 

 

ติดตามการใช้จ่ายงบประมาณการก่อสร้างโครงหลังคาคลุมสนามลานอเนกประสงค์ ชุมชนเทพประทาน ซึ่งในปี 2557 เขตฯ ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงหลังคาคลุมสนามลานอเนกประสงค์ บนส่วนหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ กำหนดสัญญา 10 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2557 จนถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตคลองเตย เรื่อง ไม่พิจารณาต่อสัญญาให้ใช้สิทธิเหนือพื้นดิน พื้นที่ชุมชนเทพประทาน เนื่องจากพื้นที่ชุมชนเทพประทาน มีสภาพแออัด และประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น จึงมีแผนการจัดระเบียบพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน รวมถึงการบริหารจัดการ ชุมชน ประกอบกับสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ไม่มีผู้ดูแลบริหารจัดการพื้นที่ ส่งผลให้เกิดการร้องเรียนจากประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากนั้นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มีหนังสือผู้อำนวยการเขตคลองเตย เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาการใช้สิทธิเหนือพื้นดิน พื้นที่ชุมชนเทพประทาน ยืนยันให้สำนักงานเขตคลองเตย จัดทำแผนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่ทำไว้ออกจากพื้นที่ที่ได้รับสิทธิเหนือพื้นดินให้หมดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดำเนินการตามหนังสือที่สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีหนังสือแจ้งมา โดยได้ให้คำแนะนำแก่เขตฯ นำไปพิจารณาใน 2 แนวทาง คือ 1.รื้อถอนโครงหลังคาออก เพื่อส่งมอบพื้นที่คืน 2.รื้อถอนโครงหลังคา โดยนำโครงเหล็กและส่วนประกอบอื่นๆ ที่สามารถใช้งานได้ ไปประกอบใหม่ในจุดที่เหมาะสม 

 

พร้อมกันนี้ ได้สอบถามถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 96 ราย ดังนี้ 1.ถนนดวงพิทักษ์ ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-18.00 น. 2.ซอยสุขุมวิท 16 ผู้ค้า 21 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 3.แยกกล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-18.00 น. 4.ซอยสุขุมวิท 50 ผู้ค้า 5 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 5.ปากซอยสุขุมวิท 4 ผู้ค้า 29 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-03.00 น. ของวันรุ่งขึ้น 6.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่งขวา เอสโซ่) ผู้ค้า 17 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 1 จุด คือตลาดริมคลองหัวลำโพง (ตลาดลาว) ผู้ค้า 91 ราย กำหนดยกเลิกวันที่ 2 ธันวาคม 2567 ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 4 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 42 ราย ดังนี้ 1.หน้าธนาคารกสิกรไทย สาขาคลองเตย ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-20.00 น. 2.ซอยไผ่สิงโต ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 6 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-24.00 น. 3.ปากซอยอรรถกวี (ฝั่ง BMW) ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 11 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 05.00-11.00 น. และ 4.ปากซอยแสนสุข ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 14 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้า จำนวน 2 จุด ได้แก่ 1.หน้าทางเข้าห้างโลตัส ถนนพระรามที่ 4 ผู้ค้า 5 ราย 2.หน้าองค์การโทรศัพท์ ผู้ค้า 5 ราย นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำ Hawker Center จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์อาหารถนอมมิตร ถนนพระรามที่ 4 รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-22.00 น. 2.ศูนย์อาหารพระราม 4 พลาซ่า รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. และ 14.00-22.00 น. จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของตลาดกำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ทำการค้าตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 67 กวดขันผู้ค้าไม่ให้มีการตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้เก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ 

 

ในการนี้มี นางสาวเกศจริน สามิภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตคลองเตย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล 

 

#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี

—–  (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200