Search
Close this search box.
กทม. – สสส. – Thai PBS – ภาคีเครือข่าย ผนึกกำลังสู้ฝุ่น PM2.5 สร้างห้องเรียนอากาศสะอาด เด็กสุขภาพดี

(4 ธ.ค. 67) นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดโครงการยกระดับองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่นโยบายสาธารณะ กิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ณ ห้องประชุม Co – Working Space อาคาร D สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ถนนวิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่ ซึ่งในโอกาสนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้รับมอบเครื่องวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 405 เครื่อง สำหรับนำไปติดตั้งในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครให้ครบทั้ง 437 โรงเรียน ด้วย 

รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวว่า ค่าฝุ่นมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งปกติจะมาช่วงมกราคม ทั้งนี้ ผู้บริหารกรุงเทพมหานครพยายามผลักดันในการดูแลเด็กเล็กก่อน เนื่องจากสุขภาพของเด็กมีความอ่อนไหวต่อฝุ่นมาก โดยในช่วงที่มีค่าฝุ่นสูงเด็กเล็กอาจจะมีการหยุดเรียน กรุงเทพมหานคร (กทม.) พยายามผลักดันเรื่องห้องปลอดฝุ่นให้โรงเรียนในสังกัด เป็นข่าวดีที่ปีนี้กรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรงบประมาณจัดทำห้องปลอดฝุ่นให้ทั้ง 437 โรงเรียนในสังกัด ซึ่งจะเป็นห้องที่มีการติดแอร์และมีเครื่องกรองอากาศ ในส่วนของการแจ้งเตือนเรื่องค่าฝุ่นนั้น กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมกับ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ไทยบีพีเอส และเครือข่าย ผลักดันทำต้นแบบห้องปลอดฝุ่น โดย สสส. สนับสนุนเซ็นเซอร์ที่ติดตั้งในกล่องวัดค่าฝุ่นที่กรุงเทพมหานครจัดทำขึ้น

อย่างไรก็ตามมากกว่าการป้องกัน คือ การทำให้คนตระหนักว่าฝุ่นมาจากไหน และช่วยกันลดฝุ่นได้อย่างไรก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราเป็นคนที่สร้างฝุ่นโดยไม่รู้ตัวเหมือนกัน การสร้างห้องเรียนสู้ฝุ่นไม่ใช่จบแค่เรื่องของการเตือนแต่เป็นการนำเอาความรู้ไปใส่ในเรื่องการศึกษาด้วย ซึ่งได้มอบหมายให้สำนักการศึกษาไปดูว่าจะนำเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษาไปใส่ไว้ห้องเรียนได้อย่างไร ปัจจุบันมีเรื่องของการแยกขยะ ดูแลเรื่องฝุ่น ความเข้าใจเรื่องค่าความร้อน ฮีสโตรก สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ แต่เราไม่เคยมีเรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษาในโรงเรียน นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่สำนักการศึกษาจะผลักดันในปีนี้และปีหน้าต่อไป

ด้าน นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความสำคัญของ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ว่า วันนี้เป็นหนึ่งในวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เริ่มสูงขึ้นแล้ว ปัจจัยมาจากสภาพอากกาศที่ปิดแม้ว่ารอบกรุงเทพฯ ยังไม่มีจุดเผา แต่อากาศที่ปิดก็ทำให้ค่าฝุ่น PM2.5 เพิ่มขึ้น นโยบายด้านฝุ่นของกรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1. ลดฝุ่นที่เกิดขึ้นในเมืองทั้งจากภาคขนส่ง อุตสาหกรรม และการเผาต่าง ๆ 2. การแจ้งเตือนประชาชนให้ทราบค่าฝุ่น รวมถึงการทำระบบคาดการณ์ค่าฝุ่นล่วงหน้า เพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตนได้ถูกตามสถานการณ์ของฝุ่น และ 3. การป้องกันสุขภาพของนักเรียนและประชาชน มีการจัดทำห้องเรียนสู้ฝุ่น การแจ้งเตือนค่าฝุ่นผ่านเซ็นเซอร์ หรือการทำห้องปลอดฝุ่นด้วยการติดตั้งเครื่องปรับอากาศและเครื่องฟอกอากาศ และให้เด็กนักเรียนเข้าไปอยู่ในห้องนี้ หากค่าฝุ่นสูงเกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ก็ให้เด็กเข้าไปอยู่ในห้องนี้

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร โดย สำนักการศึกษา ได้ร่วมกับ สำนักสิ่งแวดล้อม หน่วยงานและส่วนราชการกรุงเทพมหานคร บูรณาการจัดทำแนวทางเพื่อให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปี 2568 ซึ่งอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และได้กำชับให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตามประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดกิจกรรมธงคุณภาพอากาศโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร อีกทั้งสำนักการศึกษาได้ซักซ้อมแนวทางปฏิบัติการจัดกิจกรรมธงคุณภาพอากาศ และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นประจำทุกปี โดยมีกิจกรรมขับเคลื่อน และบูรณาการความร่วมมือ ได้แก่ 1. โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่นชั้นอนุบาลโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร 2. โครงการสนับสนุนเครื่องฟอกอากาศแบบเคลื่อนย้ายได้ในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,743 เครื่อง 3. โครงการ KOICA Blue Sky Project in Bangkok ความร่วมมือระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ ประจำประเทศไทย ในการจัดประกวด English Environment Video Contest อบรมเชิงปฏิบัติการ “การประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศ” และการบริจาคเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ PM2.5 ให้กับ 12 โรงเรียนนำร่องสังกัดกรุงเทพมหานคร 4. โครงการยกระดับองค์ความรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กสู่นโยบายสาธารณะ การอบรมเชิงปฏิบัติการ “ห้องเรียนสู้ฝุ่น” ซึ่งได้มีการสร้างโรงเรียนต้นแบบในสังกัดกรุงเทพมหานคร 32 โรงเรียน และเพิ่มเติมอีก 405 โรงเรียน ให้ครบทั้ง 437 โรงเรียน รวมทั้งขยายเพิ่มเติมอีกในโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร 10 โรงเรียน 5. กิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร กำหนดให้โรงเรียนติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ ทางเว็บไซต์ www.airbkk.com หรือแอปพลิเคชัน AirBKK และแจ้งเตือนผ่านกิจกรรมการแสดงธงคุณภาพอากาศ 5 ระดับ ทุกวัน ซึ่ง ธงสีฟ้า ดีมาก ธงสีเขียว ดี ธงสีเหลือง ปานกลาง ธงสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และธงสีแดง มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ผู้อำนวยการเขต หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะพิจารณาปิดการเรียนการสอนระยะเวลาตามความเหมาะกับสถานการณ์ต่อไป

สำหรับวันนี้ นางสุชาดา ภู่ทองคำ ผู้แทนองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท. : Thai PBS) ผู้บริหารสำนักการศึกษา และสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร ผู้แทนกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้แทนกรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข ผู้แทน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) ผู้แทนศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADPC) ห้างหุ้นส่วนจำกัด เติมเต็มวิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครู และผู้เข้าร่วมกิจกรรม ร่วมพิธีเปิดโครงการ

สิ่งแวดล้อมดี #ปลอดภัยดี #กทม
————————————- (พัทธนันท์…สปส. รายงาน)

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200