กทม. ขับเคลื่อนแผนป้องกันฝุ่น PM2.5 – ตรวจสอบสถานประกอบกิจการ-แหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศ
นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่า ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวโดยสมบูรณ์แล้วว่า สสล. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเพิ่มมาตรการเขตมลพิษต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯ (Low Emission Zone) เพื่อเป็นมาตรการที่จะช่วยป้องกันและลดผลกระทบของฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงที่ฝุ่นสูงอยู่ในขั้นวิกฤต โดยการห้ามรถบรรทุก 6 ล้อ ขึ้นไป เข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก ยกเว้นรถประเภท EV, NGV, EURO 5 – 6 และรถที่มีการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศต้องลงทะเบียนใน “บัญชีสีเขียว (Green List)” ซึ่งเปิดให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 67 ด้วยการกรอกข้อมูลทาง Google Form ที่ลิงก์ https://bit.ly/47RK0Yy และจะมีผลบังคับใช้จริงเมื่อสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในขั้นวิกฤต ตามเงื่อนไข คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง คือ มากกว่า 75 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มค.ก./ลบ.ม.) จำนวน 5 เขต ประกอบกับมีการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นล่วงหน้า 2 วัน ว่าค่าเฉลี่ยฝุ่น PM2.5 จะอยู่ในระดับสีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต และมีอัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตร/วินาที รวมถึงมีทิศทางลมมาจากทางตะวันออก โดยจะมีการออกประกาศให้ทราบ
นอกจากนี้ กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งในสภาวะปกติและช่วงวิกฤตอย่างต่อเนื่องตามอำนาจหน้าที่ เพื่อรองรับสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพอนามัยของประชาชน ประกอบด้วย มาตรการติดตามเฝ้าระวัง กำจัดต้นตอ และป้องกันประชาชน มาตรการเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะการตรวจจับรถยนต์ควันดำ การตรวจสอบสถานประกอบการ โรงงานอุตสาหกรรม และพื้นที่โครงการก่อสร้างต่าง ๆ เป็นประจำแห่งละ 2 ครั้ง/เดือน การเฝ้าระวังและป้องกันการเผาหญ้าและเผาขยะในที่โล่งเป็นประจำทุกวันโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต่อการเผา รวมทั้งส่งเสริมให้หน่วยงานในสังกัดจัดซื้อจัดจ้างรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ทดแทนรถราชการที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปที่เสื่อมสภาพ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศจากยานพาหนะและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังได้กำชับทุกหน่วยงานในสังกัดนำรถเข้าตรวจสภาพรถตามรอบการเช็กระยะและตรวจวัดมลพิษรถของราชการ เพื่อควบคุมการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสียให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
ขณะเดียวกันยังได้รณรงค์ส่งเสริมความรู้และให้คำแนะนำประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 โดย สสล. ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ประจำทุกวัน รวมถึงให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกประเภทและถูกวิธี เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 เข้าสู่ร่างกาย และในช่วงที่ฝุ่นสูงจะแจ้งเตือนสถานการณ์เพิ่มเป็น 3 รอบเวลาทุกวัน สำหรับประชาชนทั่วไป ขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร จำกัดระยะเวลาการทำกิจกรรม หรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงขอให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากป้องกัน PM2.5 ทุกครั้งที่ออกนอกอาคาร เลี่ยงการทำกิจกรรม หรือการออกกำลังกายกลางแจ้งที่ใช้แรงมาก และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ รวมทั้งเชิญชวนภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนร่วมกันวางแผนทำงานที่บ้าน (Work From Home) เพื่อช่วยลดจำนวนยานพาหนะบนท้องถนน ตลอดจนร่วมกับโรงเรียนในสังกัด กทม. สถานศึกษาสังกัด สพฐ. และสถานศึกษาเอกชน จัดกิจกรรมธงคุณภาพอากาศในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนเกิิดความรู้ความเข้าใจต่อสถานการณ์มลพิษทางอากาศ สามารถปกป้องตนเองอย่างปลอดภัยและสามารถส่งต่อองค์ความรู้ให้กับสมาชิกในครอบครัว เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างทันท่วงที
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวว่า สนอ. ได้ขับเคลื่อนมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเขตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมกำกับสถานประกอบกิจการ โรงงาน สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน/ท่าทราย เชิงรุก ตรวจสอบมาตรการลดฝุ่นละอองและระบบบำบัดมลพิษอากาศให้กำจัดมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีงบประมาณ 2568 สนอ. และสำนักงานเขตมีเป้าหมายตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษอากาศ จำนวน 9,000 ครั้ง ตั้งแต่เดือน ต.ค. 67 เน้นกิจการที่ก่อให้เกิดฝุ่นละอองสูง เช่น กิจการคอนกรีตผสมเสร็จ (แพลนท์ปูน) กิจการหลอมโลหะ และกิจการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (ที่มีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลและน้ำมัน) สถานที่ก่อสร้าง ถมดิน/ท่าทราย ซึ่งแต่ละแห่งจะดำเนินการตรวจสอบอย่างน้อย 1 ครั้ง/เดือน กรณีที่พบข้อบกพร่องได้แนะนำให้ปรับปรุงแก้ไขและตรวจติดตามกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการในช่วงที่มีฝุ่นละอองสูงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนตรวจแนะนำกิจการคอนกรีตผสมเสร็จให้ปฏิบัติตามมาตรการด้านสุขลักษณะ
นอกจากนี้ สนอ. ยังได้จัดหาหน้ากากอนามัย โดยส่งผ่านไปให้สำนักงานเขต 50 เขตและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงภัยจากฝุ่น PM2.5 โดยมอบให้กลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ กลุ่มที่มีโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้ค้า และประชาชนทั่วไปที่ใช้ชีวิตนอกอาคารที่ต้องสัมผัสกับฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นการป้องกันและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงขึ้น รวมทั้งมอบหมายศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. จัดทีมออกหน่วยฯ ในพื้นที่ที่รับผิดชอบ หรือพื้นที่ศูนย์สุขภาพชุมชน กรณีฝุ่น PM2.5 มีค่าระหว่าง 37.6 – 75 มค.ก./ลบ.ม. ติดต่อกัน 3 วัน ให้ออกหน่วยบริการสาธารณสุขเคลื่อนที่และจัดทีมปฏิบัติการลงพื้นที่ชุมชนและเยี่ยมติดตามผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง โรคเยื่อบุตาอักเสบ โรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้ความรู้ให้คำแนะนำ คัดกรองผู้ป่วย แจกหน้ากากอนามัย เป็นต้น
กทม. เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล-เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคไอกรนในสถานศึกษา
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีพบการระบาดของโรคไอกรนในนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งในเขตปทุมวันว่า สนอ. ได้รับรายงานผู้ป่วยยืนยันไอกรนจากโรงพยาบาลจำนวน 1 ราย และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด และเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งในทางเดินหายใจจากผู้ใกล้ชิดส่งตรวจ พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่มเติมรวม 20 ราย โดยผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีการสัมผัสใกล้ชิดและทำกิจกรรมร่วมกัน จึงได้ให้ยารักษาผู้ป่วยและยาป้องกันผู้สัมผัสใกล้ชิดที่มีอาการทุกราย แยกกักผู้ป่วยจนรับประทานยาครบ 5 วัน เน้นย้ำการปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ได้แก่ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือเป็นประจำ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงการติดเชื้อโรคไอกรน รวมทั้งให้แนวทางและมาตรการการป้องกันควบคุมโรคกับผู้บริหารโรงเรียน ขณะเดียวกันยังดำเนินการตามมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกันโรคไอกรนในสถานศึกษาสำหรับโรงเรียนทุกสังกัด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติในการป้องกันการแพร่ระบาดในวงกว้าง
นอกจากนี้ ได้ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับลักษณะอาการและวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคไอกรน รวมถึงคำแนะนำการสังเกตอาการและเน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคสำหรับประชาชน การรับวัคซีนให้ครบ หากมีประวัติใกล้ชิดผู้ป่วย หรือมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไอกรนควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสเด็กเล็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ง่ายและหากบุคคลกลุ่มเสี่ยงนี้เป็นโรคไอกรนจะมีอาการรุนแรงได้มาก
นางสาวพิศมัย เรืองศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา (สนศ.) กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการรายงานพบการระบาดและผู้ป่วยโรคไอกรนในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งจากโรงเรียนสังกัด กทม. สำนักงานเขต 50 เขต โรงพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. หรือสถานพยาบาลสังกัด กทม. อย่างไรก็ตาม สนศ. เล็งเห็นความสำคัญในสุขภาพและความปลอดภัยของนักเรียน กทม. เป็นสำคัญ จึงได้จัดทำแบบสำรวจข้อมูลสถานการณ์โรคไอกรน ในโรงเรียนสังกัด กทม. ในรูปแบบออนไลน์ (Google Form) เพื่อให้ทราบข้อมูลเชิงพื้นที่รายโรงเรียนแบบทันท่วงทีจากโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน โดยหากพบกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย หรือการระบาดดังกล่าว กำหนดให้โรงเรียนรายงานจำนวนนักเรียนที่มีความเสี่ยง หรือพบการติดเชื้อ พร้อมทั้งกำชับให้โรงเรียนเฝ้าระวังและสังเกตอาการของนักเรียนในโรงเรียนทุกคน รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการทางการแพทย์และการสาธารณสุข ซึ่ง สนศ. ได้กำหนดมาตรการความปลอดภัยในการตรวจสอบความพร้อมอาคารเรียน ห้องเรียน เครื่องเล่นเด็ก ด้านสภาพแวดล้อม ความสะอาด สุขาภิบาล วัสดุการเรียนการสอน พร้อมทั้งให้สำนักงานเขตกำกับดูแลโรงเรียน เพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน ยังได้ประสาน สนอ. เรื่องมาตรการและแนวทางการเฝ้าระวังและดูแลนักเรียนที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากโรคไอกรน เพื่อจัดทำแนวทางปฏิบัติให้โรงเรียนในสังกัด กทม. ทราบและดำเนินการตามมาตรการและแนวทางการป้องกันโรค ดูแลรักษา และการส่งต่อผู้ป่วยโรคไอกรน ตลอดจนกำชับให้โรงเรียนสังกัด กทม. จัดการเรียนการสอนในบรรยากาศพื้นที่ที่โปร่งโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก รวมทั้งกำหนดแผนบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการสื่อสารและประสานงานเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการการเข้ารับวัคซีนทั้งผู้ปกครอง นักเรียน ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไอกรน ทั้งนี้ สนศ. ได้ประสานบุคลากรจากสถานพยาบาลในพื้นที่เขต ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียนร่วมชี้แจงสิทธิการรักษา การเข้ารับวัคซีนในวันประชุมผู้ปกครองและนักเรียน ตลอดจนสนับสนุนพื้นที่ภายในโรงเรียนให้เป็นสถานที่เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและให้เป็นสถานที่สำหรับการบริการทางเลือก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง บุคลากร และประชาชนกลุ่มเสี่ยงในชุมชนโดยรอบโรงเรียนเข้ารับบริการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลสังกัด กทม.
กทม. จัดระเบียบคนเร่ร่อนไร้บ้านริมคลองหลอด ถนนราชดำเนิน และเกาะรัตนโกสินทร์
นายโกศล สิงหนาท ผู้อำนวยการเขตพระนคร กล่าวกรณีมีข้อสังเกตพบคนเร่ร่อนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณริมคลองหลอด ถนนราชดำเนิน และพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ว่า กทม. ได้ดำเนินการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่เขตพระนครอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีเป้าหมายการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ ในระยะยาว โดยดำเนินการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย (1) การกำหนดข้อปฏิบัติการแจกอาหารสำหรับคนไร้บ้านด้วยการลงทะเบียนผ่าน QR Code รอการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ เพื่อยืนยันข้อมูลการลงทะเบียน และมาถึงจุดแจกก่อนเวลาประมาณ 30 นาที โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2281 8125 ต่อ 6582 (2) มอบหมายเจ้าหน้าที่เทศกิจประชาสัมพันธ์ตรวจสอบกวดขันทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืน ไม่ให้คนเร่ร่อนไร้บ้านหลับนอนและตั้งวางสิ่งของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในที่สาธารณะ โดยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง (3) จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดำเนินการจัดเก็บขยะ รถเข็น และสิ่งของอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ตั้งวางทิ้งไว้ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย (4) จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะดำเนินการล้างทำความสะอาดพื้นผิวการจราจร บริเวณซอยเสถียร ซอยสาเก และบริเวณโดยรอบพื้นที่ (5) กำหนดจุดแจกอาหารชั่วคราว บริเวณซอยสาเก โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจกำกับดูแลจัดระเบียบการแจกอาหารและคนไร้บ้านให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยประจำทุกวัน (6) สำนักงานเขตพระนคร ได้จัดระเบียบจุดแจกอาหารโดยย้ายจากบริเวณตรอกเสถียร ซอยสาเก ไปตั้งจุดแจกอาหารชั่วคราวบริเวณหน้าโรงแรมเวียงสำราญ ตรอกสาเก เพื่อไม่ให้กลุ่มคนไร้บ้านยึดครองพื้นที่เป็นเวลานานและป้องกันไม่ให้มีการสร้างอิทธิพล เพื่อหาผลประโยชน์กับกลุ่มคนไร้บ้านที่มารับแจกอาหารในจุดเดิม โดยสำนักงานเขตพระนครจะดำเนินการในช่วงเดือน พ.ย. 67 ซึ่งการแจกอาหารได้มีการกำหนดระยะเวลาและจำนวนในการแจก เพื่อควบคุมจำนวนสิ่งของจากผู้บริจาคโดยกำหนด 100 ชุด/วัน และช่วงเวลาการแจกเวลา 16.00 น. และ (7) กรณีการยกเลิกจุดแจกอาหาร การนำคนไร้บ้านไปอบรมสร้างอาชีพ หรือดำเนินการส่งผู้ไร้บ้านกลับภูมิลำเนา กทม. ได้หารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านให้เป็นรูปธรรม ตามนโยบายของ กทม. และรัฐบาล โดยกำหนดสถานที่บริเวณประปาแม้นศรี (หลังเก่า) เขตป้อมปราบศัตรูพ่ายเป็นพื้นที่พักพิง ฝึกอบรมสร้างอาชีพ และจุดบริการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคนไร้บ้านให้มีอาชีพและรายได้ สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการเช่าและปรับปรุงพื้นที่
เขตป้อมปราบฯ กวดขันดูแลความปลอดภัย-จอดรถกีดขวางทางสัญจรรอบงานวัดภูเขาทอง
นายเพ็ชร ภุมมา ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. กล่าวกรณีสื่อสังคมออนไลน์เสนอข่าวมีผู้เรียกเก็บเงินค่ารับฝากรถและค่าแผงค้าใกล้พื้นที่จัดงานวัดภูเขาทองว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบแล้วไม่ปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตฯ เรียกเก็บเงินค่าจอดรถจักรยานยนต์ หรือเรียกเก็บเงินผู้ค้าที่ฝ่าฝืนค้าขายในที่สาธารณะแต่อย่างใด พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศกิจประชาสัมพันธ์กวดขันไม่ให้มีการฝ่าฝืนทำการค้าในที่สาธารณะและประชาสัมพันธ์ไม่ให้จอดรถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์กีดขวางทางสัญจรของประชาชน ซึ่งเจ้าพนักงานจราจรได้ผ่อนผันให้จอด อีกทั้งยังได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้าประจำกองอำนวยการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 1 และสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งบริเวณวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ระหว่างวันที่ 11 – 17 พ.ย. 67 เพื่อร่วมกันดูแลความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่ประชาชนที่มาร่วมงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ประจำปีพุทธศักราช 2567
นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้ประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 1 และสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งให้ออกประกาศข้อบังคับของเจ้าพนักงานจราจรบริเวณถนนโดยรอบพื้นที่จัดงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและสะดวกในการจราจร รวมถึงเข้มงวดกวดขันจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าและการจอดรถบริเวณริมถนนโดยรอบพื้นที่จัดงานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ พระบรมบรรพต (ภูเขาทอง) เพื่อไม่ให้กีดขวางทางสัญจรของประชาชนและคอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้มาร่วมงาน