กทม. แจงจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องออกกำลังกายปี 65 ตามระเบียบ-หลักเกณฑ์ที่กำหนด
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กล่าวชี้แจงกรณีมีข้อสังเกตโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย กทม. ในปี 2565 มีราคาสูงผิดปกติว่า สวท. ได้ตรวจสอบการจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องออกกำลังกายจำนวน 10 รายการ เลขที่โครงการ 65037373456 ในปี 2565 ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยในวันยื่นข้อเสนอ มีผู้ประกอบการสนใจเข้ายื่นประมูลตามกำหนดเวลา 2 ราย ได้แก่ บริษัท วาล็อค สปอร์ต อีควิปเม้นท์ จำกัด และบริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด ซึ่งภายหลังได้รับการพิจารณาและคัดเลือกคุณสมบัติเป็นผู้ผ่านการพิจารณาทั้ง 2 ราย (เป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของเอกสารประกวดราคาซื้อฯ) ส่วนราคาเครื่องออกกำลังกายได้ดำเนินการสืบราคาจากท้องตลาด จำนวน 3 ราย ได้แก่ (1) บริษัท ไนส์ คอร์ปอเรท จำกัด (2) บริษัท ไอ คอมเมิร์ซ จำกัด และ (3) บริษัท วาล็อค สปอร์ต อีควิปเม้นท์ จำกัด ซึ่งคณะกรรมการกำหนดราคากลางได้พิจารณาใช้ราคาต่ำสุด
สำหรับกรณีที่ระบุเครื่องบริหารจำพวกฝึกกล้ามเนื้อ หัวไหล่ แขน ขา ราคาตลาดอยู่ที่ 40,000-50,000 บาท แต่ กทม. จัดซื้อเครื่องละ 405,000 บาท การเสนอราคาดังกล่าว ผู้ยื่นข้อเสนอได้ยื่นข้อเสนอผ่านเงื่อนไขและตรงตามคุณสมบัติของเอกสารประกวดราคาจัดซื้อฯ ครบถ้วนถูกต้องทุกประการ ราคาไม่เกินราคากลางและงบประมาณ รวมทั้งเป็นราคาตามท้องตลาด จึงได้พิจารณาจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องออกกำลังกายดังกล่าว
ทั้งนี้ การจัดซื้อครุภัณฑ์เครื่องออกกำลังกายดังกล่าวสำหรับนำไปใช้ที่ศูนย์เยาวชนทวีวัฒนา ศูนย์เยาวชนบ่อนไก่ ศูนย์เยาวชนดอนเมือง ศูนย์เยาวชนคลองสามวา ศูนย์เยาวชนบางนา ศูนย์เยาวชนลุมพินี และศูนย์เยาวชนหนองจอก เนื่องจากเป็นสถานที่ให้บริการทางด้านนันทนาการส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมด้านต่าง ๆ และกิจกรรมการออกกำลังกาย (ฟิตเนส) ให้แก่ประชาชนทุกวัย โดยเปิดให้บริการทุกวัน ระหว่างเวลา 10.00 – 20.00 น. มีผู้ใช้บริการในแต่ละแห่งประมาณ 100 – 250 คน/วัน โดยเป็นการจัดซื้อเพื่อทดแทนครุภัณฑ์เดิมของศูนย์เยาวชน (ศูนย์นันทนาการ) ที่ชำรุดและได้จำหน่ายพัสดุเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายดังกล่าว สวท. ได้กำชับเน้นย้ำเรื่องการจัดทำราคากลางให้สอดคล้องตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และหนังสือเวียนของกรมบัญชีกลางและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ราชการเป็นสำคัญและไม่ทำให้ กทม. เสียประโยชน์
กทม. บูรณาการความร่วมมือจัดระเบียบคนไร้บ้านในที่สาธารณะ พร้อมจัดระบบเก็บข้อมูลให้การช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สพส. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดระเบียบคนเร่ร่อนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยจัดตั้งจุดบริการสวัสดิการสังคม (Drop in) สำหรับคนไร้บ้าน 2 จุด เพื่อให้บริการสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น คือ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ระหว่างเวลา 10.00 – 16.00 น. ให้บริการ สำรวจ คัดกรอง บันทึกประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ การประสานส่งต่อ บริการซัก อบ อาบ ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา และการประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิสวัสดิการด้านต่าง ๆ การจัดทำฐานข้อมูล (ให้บริการทุกวัน) บริการตรวจสุขภาพ การส่งเสริมการฝึกอาชีพ การตัดผม บริการรถสุขาเคลื่อนที่ (ให้บริการทุกวันศุกร์) และบริการรถทะเบียนเคลื่อนที่ทำบัตรประจำตัวประชาชน บริการย้ายสิทธิการรักษาพยาบาล และบริการรับสมัครงาน (ทุกวันศุกร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน) และบริเวณตรอกสาเก ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ณ จุดแจกอาหารเขตพระนคร (ให้บริการทุกวัน) และจุดบริการของมูลนิธิอิสรชน(เฉพาะวันอังคาร) โดยจัดบริการให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องสิทธิสวัสดิการด้านต่าง ๆ บริการจุดรับบริจาคแจกอาหารและสิ่งของ และลงทะเบียนผู้รับในระบบคอมพิวเตอร์ด้วยการสแกนบัตรประจำตัวประชาชนคนไร้บ้าน
สำหรับผลการดำเนินงานดังกล่าว มีผู้ลงทะเบียนรวม 815 คน (ชาย 645 คน หญิง 170 คน) และมีผู้หมุนเวียนใช้บริการทั้งหมด 464,049 ครั้ง แยกเป็นการช่วยเหลือ เช่น ให้คำปรึกษาแนะนำสิทธิสวัสดิการ 815 ราย บริการแจกอาหาร 371,877 ชุด บริการตรวจสุขภาพ 2,684 ราย บริการทำบัตรประชาชน 226 ราย บริการซัก อบ อาบ 5,912 ครั้ง บริการตรวจสอบสิทธิ/ย้ายสิทธิ 477 ราย บริการตัดผม 1,233 ราย แนะนำ/ต้องการหางานทำ 180 ราย บริการห้องน้ำ ห้องสุขา 80,482 ราย บริการส่งเสริมการฝึกอาชีพ 152 ราย (ความต้องการ) ส่งกลับภูมิลำเนา จำนวน 5 ราย และส่งศูนย์คุ้มครองฯ จำนวน 6 ราย
ส่วนมาตรการเชิงรุก สำนักเทศกิจ (สนท.) และสำนักงานเขตได้จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจกวดขัน ตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่บริเวณตรอกสาเก ริมคลองหลอด ถนนราชดำเนิน พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ รวมถึงในพื้นที่ 50 เขต พร้อมสำรวจคนเร่ร่อนไร้บ้านที่พบในพื้นที่ รายงานให้ สพส. ทราบทุกเดือน เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากพบการฝ่าฝืนสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่สัญจรไปมา หรือสร้างความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ รวมถึงการพักอาศัยหลับนอนในพื้นที่สาธารณะ จะตักเตือนให้ทราบ หากฝ่าฝืนอีกจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองพ.ศ. 2535 รวมทั้งประชาสัมพันธ์จุด Drop in เพื่อการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ และขอความร่วมมือผู้มีจิตกุศลที่ประสงค์จะแจกอาหาร สามารถลงทะเบียนจองวันที่จะบริจาค ผ่าน QR Code ของสำนักงานเขตพระนคร เพื่อนำไปแจกตามจุดที่ราชการกำหนด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
นอกจากนี้ กทม. ยังมีนโยบายจัดระบบความช่วยเหลือคนไร้บ้านให้มีประสิทธิภาพ อาทิ จัดทำสำมะโนคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้การช่วยเหลือจัดสวัสดิการที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของคนไร้บ้าน เช่น ช่วยหางาน เพื่อให้มีรายได้ สร้างความมั่นคง การลงเยี่ยมบ้านเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ประกอบการพิจารณาช่วยเหลือรายบุคคล การพัฒนาและคุ้มครองสวัสดิภาพ การใช้ข้อมูลเชิงสถิติในการวางแผนด้านนโยบาย การเตรียมงบประมาณบริหารจัดการ การจัดบริการสวัสดิการสังคมได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งการสร้างระบบการส่งต่อ มาตรการการจัดระเบียบพื้นที่ เพื่อใช้ติดตาม ประสานหรือนำส่งคนไร้บ้านไปยังหน่วยงานที่ให้การช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ตามลักษณะสภาพปัญหาในแต่ละราย เพื่อพัฒนาคนไร้บ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนสามารถกลับคืนสู่ชุมชน สังคมได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังบูรณาการภารกิจร่วมกับกรมการจัดหางาน เพื่อส่งเสริมการมีงานทำ การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเร่ร่อนไร้บ้านให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ตามศักยภาพ เพื่อลดจำนวนผู้ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ รวมทั้ง กทม. อยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงบ้านอิ่มใจบริเวณพื้นที่การประปาแม้นศรี (เดิม) เพื่อใช้เป็นศูนย์คัดกรองและช่วยเหลือคนเร่ร่อนไร้บ้านและเป็นสถานที่พักชั่วคราว Emergency shelters (บ้านอิ่มใจ) ให้บริการ 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีการลงทะเบียนเข้าพักเป็นรายวัน รองรับผู้รับบริการเข้าพัก จำนวน 200 คน (แยกชาย หญิงและเพศทางเลือก)
เขตยานนาวารุดจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้าในซอยนางลิ้นจี่ 5/1 เพิ่มความสะดวกปลอดภัยให้ผู้สัญจร
นางสาววรุณลักษม์ พลหาญ ผู้อำนวยการเขตยานนาวา กล่าวกรณีมีข้อร้องเรียนผู้ค้าตั้งวางสิ่งของบนทางเท้ากีดขวางทางสัญจรบริเวณถนนนางลิ้นจี่ ซอยนางลิ้นจี่ 5/1 ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 67 พบการตั้งสิ่งของกีดขวางทางสัญจรในบริเวณดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่เทศกิจได้แจ้งผู้ค้าให้ดำเนินการรื้อย้ายสิ่งของที่ตั้งกีดขวางทางสัญจร พร้อมกำชับไม่ให้ตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางเท้า ทั้งนี้ สำนักงานเขตฯ จะจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจเข้มงวดกวดขันในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย