(11 พ.ย.67) เวลา 10.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตราษฎร์บูรณะ
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แพลนท์ปูนบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ซอยราษฎร์บูรณะ 30 ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ปรับปรุงรั้วด้านหน้าให้มีความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร ตรวจสอบบ่อคายกากคอนกรีตและบ่อตกตะกอนไม่ให้มีตะกอนสะสม ปรับปรุงพื้นให้มีความลาดเอียงป้องกันไม่ให้น้ำปูนหรือเศษหินเศษทรายตกค้าง ตรวจวัดค่าควันดำรถโม่ปูนให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการที่มีการใช้หม้อไอน้ำ (Boiler) 8 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 3 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 3 แห่ง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 กำชับสถานประกอบการในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมค่าฝุ่น PM2.5 ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ติดตามการจัดทำ Hawker center บริเวณหน้า 7-11 ซอยราษฎร์บูรณะ 23 ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 31 ราย ดังนี้ 1.ซอยสุขสวัสดิ์ 26 ผู้ค้า 22 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. 2.หน้าโรงพยาบาลราษฎร์บูรณะ ผู้ค้า 9 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้า 1 จุด บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 16 ผู้ค้า 4 ราย (ยกเลิกเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567) นอกจากนี้ เขตฯ ได้จัดทำ Hawker center จำนวน 3 จุด ได้แก่ 1.บริเวณซอยราษฎร์บูรณะ 22 พื้นที่ 30 ตารางวา สามารถรองรับผู้ค้าได้ 60 ราย ช่วงเวลาทำการค้า รอบเช้า 06.00-14.00 น. รอบบ่าย 15.00-21.00 น. มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 24 ราย 2.บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 วัดแจงร้อน รองรับผู้ค้าได้ 4 ราย มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 4 ราย 3.บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 สุขสวัสดิ์ 26 รองรับผู้ค้าได้ 9 ราย มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 4 ราย 4.บริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ 7-11 ซอยราษฎร์บูรณะ 23 รองรับผู้ค้าได้ 8 ราย มีผู้ค้าเข้าไปทำการค้า 4 ราย จัดเก็บค่าเช่าในอัตราที่เจ้าของพื้นที่กำหนด ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำเข้ามาในทางเท้า รวมถึงขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในแต่ละจุดให้เรียบร้อย เตรียมพร้อมการตรวจประเมินตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
พัฒนาสวน 15 นาที บริเวณซอยสุขสวัสดิ์ 26 แยก 9 ซึ่งเขตฯ พัฒนาพื้นที่ว่าง ตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่ จัดทำทางเดินวิ่งออกกำลังกาย ตัดหญ้าและปลูกต้นไม้เพิ่มเติม เพื่อความร่มรื่นและสวยงาม ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนสุขเวชชวนารมย์ ซอยสุขสวัสดิ์ 26 แยก 2 พื้นที่ 2 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา 2.สวนวัดแจงร้อน ซอยราษฎร์บูรณะ 37 พื้นที่ 1 ไร่ 3.สวนซอยราษฎร์บูรณะ 1 พื้นที่ 1 ไร่ 1งาน 82 ตารางวา 4.สวนหน้าคอนโดแชปเตอร์วัน ซอยราษฎร์บูรณะ 33 พื้นที่ 2 ไร่ 3 งาน 34.20 ตารางวา 5.สวนซอยสุขสวัสดิ์ 26 แยก 9 พื้นที่ 2 งาน 61 ตารางวา แล้วเสร็จ 80% 6.สวนซอยสุขสวัสดิ์ 54 พื้นที่ 84 ตารางวา อยู่ระหว่างดำเนินการ 7.สวนซอยสุขสวัสดิ์ 30 พื้นที่ 3 งาน อยู่ระหว่างดำเนินการ ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสมเพื่อจัดทำสวน 15 นาทีให้ครบทั้ง 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมถึงออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับในการเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ ชุมชนรุ่งอรุณ ซอยสุขสวัสดิ์ 1 พื้นที่ 10 ไร่ มีประชากร 1,002 คน บ้านเรือน 305 หลังคาเรือน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ คัดแยกขยะนำไปทำน้ำหมักชีวภาพและทำปุ๋ยหมัก 2.ขยะรีไซเคิล แต่ละบ้านจะคัดแยก นำไปจำหน่ายเป็นรายได้ของครัวเรือน 3.ขยะทั่วไป เขตฯ จัดเก็บสัปดาห์ละ 3 ครั้ง 4.ขยะอันตราย มีถังแยกประเภทสำหรับทิ้งขยะอันตราย เขตฯ จัดเก็บทุกเดือน สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 14 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 12 ตัน/เดือน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 2 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 0.5 ตัน/เดือน ขยะอินทรีย์ก่อนคัดแยก 2 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 1 ตัน/เดือน ขยะอันตรายก่อนคัดแยก 0.1 ตัน/เดือน หลังคัดแยก 20 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ชุมชนในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่ พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการคัดแยกขยะ สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย ตามร่างข้อบัญญัติฯ ค่าธรรมเนียม พ.ศ. … (ฉบับใหม่) ดังนี้ 1.ปริมาณขยะไม่เกิน 20 ลิตร/วัน หรือไม่เกิน 4 กิโลกรัม/วัน ไม่คัดแยกขยะ คิดค่าธรรมเนียมเต็ม 60 บาท/เดือน ถ้าคัดแยกขยะและลงทะเบียนตามเงื่อนไขที่กรุงเทพมหานครกำหนด คิดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำ 20 บาท/เดือน 2.ปริมาณขยะเกิน 20 ลิตร/วัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือเกิน 4 กิโลกรัม/วัน แต่ไม่เกิน 200 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 20 ลิตร หรือ 4 กิโลกรัม อัตราค่าธรรมเนียม 120 บาท/หน่วย 3.ปริมาณขยะเกิน 1 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือเกิน 200 กิโลกรัม/วัน คิดเป็นหน่วย หน่วยละ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ 200 กิโลกรัม อัตราค่าธรรมเนียม 8,000 บาท/หน่วย
ในการนี้มี คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตราษฎร์บูรณะ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)