(8 พ.ย. 67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตประเวศ
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการศุภาลัย เซนส์ ศรีนครินทร์ (Supalai Sense Srinakarin) ซอยสุภาพงษ์ 3 แยก 8 ถนนศรีนครินทร์ ดำเนินการโดย บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย จำนวน 3 อาคาร ประกอบด้วย อาคาร A ความสูง 7 ชั้น จำนวน 57 ยูนิต อาคาร B ความสูง 8 ชั้น จำนวน 210 ยูนิต อาคาร C ความสูง 8 ชั้น จำนวน 210 ยูนิต ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด ตรวจสอบเครื่องพ่นละอองน้ำให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกก่อนออกจากโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนด นอกจากนี้ เขตฯ จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ประเภทสถานประกอบการ/โรงงาน 18 แห่ง ประเภทแพลนท์ปูน 5 แห่ง สถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ท่าจอดรถตู้ รถสองแถว และรถเมล์ 5 แห่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงแรมดุสิตปริ๊นเซส ศรีนครินทร์ ถนนศรีนครินทร์ พื้นที่ 7 ไร่ บุคลากร 120 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2567 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ ตั้งวางถังขยะคัดแยกเศษอาหาร บริเวณศูนย์อาหาร มีเครื่องบดอาหาร บดผักผลไม้ ไข่ไก่ เพื่อนำมาทำปุ๋ยในสวนเกษตร 2.ขยะรีไซเคิล คัดแยกขวดพลาสติก กระดาษ กระป๋อง มีจุดคัดแยกขยะไว้ให้ประชาชนคัดแยกขยะ 3.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังขยะสำหรับทิ้งตามจุดที่กำหนด มีจุดพักขยะทั่วไป เพื่อรอการจัดเก็บตามวันเวลาของเขตฯ 4.ขยะอันตราย มีห้องจัดเก็บขยะอันตราย แจ้งเขตฯ จัดเก็บไปกำจัดอย่างถูกวิธี รวมถึงรอองค์กรมารวบรวมเพื่อนำไปกำจัดตามแบบที่องค์กรได้ตั้งมาตรฐานไว้ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 7,200 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 3,750 กิโลกรัม/เดือน ขยะรีไซเคิลหลังคัดแยก 500 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 2,850 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 100 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงแรมในการคัดแยกประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การจัดเก็บมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยฉบับใหม่ นอกจากนี้ได้มอบหมายให้เขตฯ บริหารจัดการใช้รถเก็บขนมูลฝอยให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งรถเก็บขนมูลฝอย 1 คัน ควรใช้งานให้ได้ระยะทาง 200 กิโลเมตร/วัน หรือ 16 ชั่วโมง/วัน เพื่อจัดเก็บขยะให้ได้มากที่สุด ป้องกันปัญหาขยะตกค้างในชุมชน
ติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทำการค้า บริเวณหน้าอาคารนิรันดร์เรสซิเดนซ์ 5 และหน้าอาคารยงเจริญคอมเพล็กซ์ ซอยศรีนครินทร์ 40 โดยวันนี้เป็นการลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าในการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน 2567 อย่างไรก็ตาม เขตฯ ได้ตรวจสอบที่ดินบริเวณดังกล่าว พบว่าเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ไม่ได้เป็นที่ดินนิติบุคคลของอาคารดังกล่าว ซึ่งบริเวณด้านหน้าอาคารนิรันดร์เรสซิเดนซ์ 5 ผู้ค้า 50 ราย จำนวน 56 รถเข็น ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารยงเจริญคอมเพล็กซ์ เฟส 1 และเฟส 2 ผู้ค้า 48 ราย ด้านหน้าอาคารยงเจริญคอมเพล็กซ์ เฟส 3 ผู้ค้า 16 ราย ผู้ค้าได้จ่ายค่าเช่าพื้นที่ทำการค้าให้กับนิติบุคคลของอาคารดังกล่าว ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทำการค้าปี 67 ซึ่งเขตฯ จะเชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในพื้นที่ทำการค้าในวันที่ 11 พ.ย. 67 โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ จึงเป็นไปตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาด และการปรับเป็นพินัย ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 2 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 155 ราย ดังนี้ 1.ซอยอ่อนนุช 70/1 แยก 2 ผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-19.00 น. 2.ชุมชนโรงถ่าน ถนนสุขาภิบาล 2 ผู้ค้า 23 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-09.00 น. ผู้ค้า 13 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-21.00 น. รวมผู้ค้า 36 ราย ส่วนพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน จำนวน 1 จุด คือ พื้นที่ว่างปากซอยอ่อนนุช 70 ผู้ค้า 53 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-23.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ดำเนินการยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 2 จุด ได้แก่ 1.ซอยเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 21 ผู้ค้า 26 ราย 2.หน้าโรงเรียนบ้านหนองบอน ผู้ค้า 7 ราย (ยกเลิกเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567)
พัฒนาสวน 15 นาที สวนพัฒนาภิรมย์ ซึ่งเขตฯ จะพัฒนาลานกีฬาอเนกประสงค์กลางแจ้ง เป็นลานกีฬาในร่มในรูปแบบอินดอร์ ตามแนวคิดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการลงพื้นที่สัญจรเขตประเวศรอบ 2 ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารเขตฯ ได้ร่วมกันปลูกต้นราชพฤกษ์ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มความร่มรื่นสวยงามภายในสวนดังกล่าว ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที (สวนเดิม) จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1.สวนพัฒนาภิรมย์ พื้นที่ 60 ไร่ 2.สวนสุขภาพประเวศ พื้นที่ 10 ไร่ 3.สวนวงเวียนเจ้าแม่กวนอิม พื้นที่ 2 งาน 4.สวนเฉลิมพัฒน์ พื้นที่ 3 ไร่ 5.สวนกาญจนาบารเมษฐ์ พื้นที่ 3 ไร่ 6.สวนคลองปักหลักพัฒนา พื้นที่ 2 ไร่ สวน 15 นาที (สวนใหม่) จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ 1.สวนคลองปักหลัก 2 ริมถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษกฝั่งขาเข้า พื้นที่ 3 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวง 2.สวนริมถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษกฝั่งขาออก บริเวณหน้าบริษัทมิตแลนท์ พื้นที่ 1 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวง 3.สวนริมถนนคู่ขนานกาญจนาภิเษกฝั่งขาออก บริเวณหน้าร้านอาหารเลคเฮ้าส์ พื้นที่ 1.5 ไร่ กรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นของกรมทางหลวง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ สำรวจพื้นที่ว่างที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำสวน 15 นาที ให้ครบ 10 แห่ง ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเข้ามาใช้บริการอย่างแท้จริง
ติดตามการแก้ไขปัญหาพื้นที่รกร้างและการลักลอบทิ้งขยะ บริเวณถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 62 ต่อเนื่องจากการลงพื้นที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งเขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ลักลอบทิ้งขยะพบว่ามีจำนวน 23 แปลง ผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน 17 ราย ประสานเจ้าของที่ดินจัดทำแนวรั้วล้อมรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันการบุกรุกและลักลอบทิ้งขยะ นอกจากนี้ เขตฯ ได้ติดตั้งป้ายประกาศห้ามทิ้งขยะ จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกตรวจพื้นที่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการลักลอบนำขยะชิ้นใหญ่และเศษวัสดุจากการก่อสร้างมาทิ้งในพื้นที่ดังกล่าว
ในการนี้มี นายดิชา คงศรี ผู้อำนวยการเขตประเวศ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตประเวศ สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส. รายงาน)