Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม 2567

กทม. เข้มตรวจสอบสถานประกอบการย่านถนนบรรทัดทอง กำชับติดตั้งถังดักไขมัน ไม่ปล่อยน้ำเสียลงคลอง

นายอิทธิพล อิงประสาร ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์สภาพคลองติดกับถนนบรรทัดทอง มีสภาพเน่าเหม็น เนื่องจากผู้ประกอบการทิ้งสิ่งปฏิกูลและเศษอาหารลงในคลอง โดยไม่ติดตั้งบ่อดักไขมันว่า สำนักงานเขตปทุมวันได้ประสานขอความร่วมมือสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อกำกับดูแลผู้เช่าอาคาร ซึ่งเป็นผู้ดำเนินกิจการให้ดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในคลองบริเวณถนนบรรทัดทอง โดยปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้เแก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งขอความร่วมมือเฝ้าระวังไม่ให้ลักลอบระบายน้ำเสีย หรือทิ้งสิ่งปฏิกูลและเศษอาหารลงในคลอง อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม รวมถึงสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่พักอาศัยในบริเวณใกล้เคียง ขณะเดียวกันสำนักงานเขตฯ โดยฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และฝ่ายเทศกิจ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกำกับดูแลสถานประกอบการ ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสวนหลวง เขตปทุมวัน และสร้างความเข้าใจกับประชาชนที่มีบ้านเรือนริมคลองให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวม เพื่อให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ด้านสุขลักษณะ โดยเน้นย้ำให้ติดตั้งถังดักไขมันที่มีประสิทธิภาพก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงสู่คูคลอง ซึ่งเป็นไปตามข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง สถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร พ.ศ. 2565 รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูล ปล่อยน้ำเสีย หรือเศษอาหารลงคลองสาธารณะ ทั้งนี้ หากตรวจพบว่า ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ได้ออกแบบตรวจแนะนำของเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ให้ผู้ดำเนินกิจการทราบและปรับปรุงแก้ไข พร้อมทั้งติดตามผลการแก้ไขเมื่อครบกำหนดระยะเวลา
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกับ กทม. ดำเนินการตามแนวทางการปรับปรุงงานทางกายภาพในพื้นที่บรรทัดทอง-สวนหลวงอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทางเท้า ไฟฟ้าส่องสว่าง การจัดการขยะ จุดรับส่งอาหาร รวมถึงการบำบัดน้ำทิ้ง-น้ำเสีย และการปรับปรุงคุณภาพน้ำในคลองสวนหลวง เพื่อให้พื้นที่บรรทัดทองมีความน่าอยู่ น่ามา และน่ามองมากยิ่งขึ้น

นายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ (สนน.) กทม. กล่าวว่า สนน. ได้ดำเนินการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียรวมและเปิดบริการแล้ว 8 แห่ง โดยคลองสวนหลวงอยู่ในพื้นที่บริการระบบบำบัดน้ำเสียรวมของโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง กทม. ซึ่งโดยปกติน้ำเสียที่มาจากอาคาร สถานประกอบการจะระบายลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะที่ถูกต้องของทางราชการและจะถูกเก็บรวบรวมส่งไปบำบัดที่โรงควบคุมคุณภาพน้ำของ กทม. แต่ปัญหาน้ำเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นกรณีร้านอาหารย่านบรรทัดทองปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองสวนหลวง ทำให้น้ำเน่าเหม็น นั้น เกิดจากบ้านเรือนและสถานประกอบการทิ้งน้ำเสียไหลลงสู่คลองโดยตรง ซึ่ง สนน. ได้ถ่ายเทไหลเวียนน้ำตามความเหมาะสมของฤดูกาล รวมถึงจัดเก็บขยะในคลองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีขยะตกค้างในลำคลอง แต่เนื่องจากมีการทิ้งน้ำเสียตลอดเวลา การถ่ายเทไหลเวียนน้ำจึงไม่สามารถช่วยบรรเทาปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม กทม. มีแผนปฏิบัติและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยระยะสั้นสำนักงานเขตปทุมวันได้ใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมร้านอาหารและสถานประกอบการให้ติดตั้ง การใช้และบำรุงดูแลบ่อดักไขมันให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งบำบัดน้ำเสียจากอาคารให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

ส่วนในระยะยาว สนน. มีแผนดำเนินการเก็บรวบรวมน้ำเสียจากท่อน้ำเสียของร้านอาหารและอาคารที่ระบายลงคลองโดยตรงส่งเข้าระบบบำบัดน้ำเสียรวมของ กทม. ได้แก่ งานก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย (เพิ่มเติม) บริเวณคลองสวนหลวงเข้าโรงควบคุมคุณภาพน้ำดินแดง เป็นการก่อสร้างท่อน้ำเสียรอง HDPE ขนาด 315 มิลลิเมตร เพื่อรวบรวมน้ำเสียครัวเรือนจากบริเวณดังกล่าว รวมถึงจากร้านอาหารบนถนนบรรทัดทองด้านฝั่งตะวันตกของคลองสวนหลวงไปบำบัดให้ได้มาตรฐานน้ำทิ้งก่อนระบายลงสู่แหล่งน้ำ คาดว่า จะได้รับงบประมาณในปี 2568 ทั้งนี้ จากการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในคลองสวนหลวง เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 67 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะดำเนินการก่อสร้างท่อรวบรวมน้ำเสียด้านฝั่งตะวันออกของคลองสวนหลวง (ด้านฝั่งถนนบรรทัดทอง) ควบคู่ไปกับก่อสร้างระบบท่อรวบรวมน้ำเสียเพิ่มเติมฯ ของ กทม. เมื่องานก่อสร้างดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยจะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำเสียในคลองสวนหลวงได้อย่างยั่งยืนต่อไป

 

 

กทม. กำชับผู้บริหารตลาดคลองเตยเร่งปรับปรุงสุขลักษณะ-ความสะอาด-แก้ปัญหาจราจร

นางทวีพร โชตินุชิต รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) ปฏิบัติราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์บริเวณหน้าตลาดคลองเตยไม่เป็นระเบียบและมีกลิ่นเหม็นว่า สนอ. ร่วมกับสำนักงานเขตคลองเตย พร้อมด้วยผู้บริหารตลาดคลองเตยได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวพบว่า ตลาดคลองเตยบริหารจัดการโดยบริษัท ตลาดคลองเตย (255551) จำกัด ซึ่งเช่าพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินกิจการตลาด 4 แห่ง และจะหมดสัญญาเช่าในปี 2571 ดังนี้ (1) ตลาดคลองเตย (หลังที่ 1) พื้นที่ส่วนใหญ่จำหน่ายเสื้อผ้า สภาพพื้นโดยทั่วไปจึงไม่เปียกแฉะ มีการล้างและทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ (2) ตลาดคลองเตย (หลังที่ 2) อยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุง ซึ่งสัญญาจะแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในเดือน ธ.ค. 67 ถนนโดยรอบมีสภาพทรุดโทรมและอยู่ระหว่างประสานการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อปรับปรุงถนนโดยรอบ (3) ตลาดคลองเตย (หลังที่ 3) และ (4) ตลาดคลองเตย (หลังที่ 4) ซึ่งตลาดทั้ง 2 หลัง จำหน่ายวัตถุดิบและอาหารสด รวมถึงสินค้า อาหารพร้อมปรุงและพร้อมบริโภค โดยตลาดมีแผนดำเนินการปรับปรุงสุขลักษณะหลายด้าน ทั้งการจัดอบรมผู้ค้า การทำความสะอาด การกำหนดตารางการล้างตลาดทั้งในและรอบบริเวณตลาด รวมทั้งจัดการขยะและน้ำเสียภายในตลาดให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งนี้ ทีมบริหารฯ ตลาดคลองเตยแจ้งข้อจำกัดในการประกอบการ โดยการปรับปรุงแก้ไขบางส่วนต้องใช้เวลาดำเนินการ เนื่องจากเป็นเพียงผู้เช่าดำเนินกิจการ ทำให้การบริหารจัดการ หรือการดำเนินการบางส่วน เช่น การขุดเจาะ การบำรุงรักษาถนนต้องผ่านการขอความเห็นชอบจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม สนอ. และสำนักงานเขตฯ ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการควบคุม กำกับ ดูแลสุขลักษณะและความสะอาดของตลาดทุกหลังให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนลงสู่อาหาร และก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชนบริเวณใกล้เคียง โดยให้ปฏิบัติให้ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาลอาหาร และเป็นไปตามกฎกระทรวง ว่าด้วยสุขลักษณะของตลาด พ.ศ. 2551 อย่างเคร่งครัด โดยเน้นย้ำการล้างทำความสะอาดตลาดทั่วบริเวณตั้งแต่หลังคา แผงจำหน่าย รางระบายน้ำ พื้น รวมทั้งการจัดการน้ำเสียเป็นประจำ การจัดการขยะภายในตลาดให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่อาศัยของแมลงและสัตว์นำโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคติดต่อ ผู้ขายของและผู้ช่วยขายของในตลาดต้องผ่านการอบรมและตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น โดยแจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการทันที และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัญหาการจอดรถจักรยานยนต์บนทางเท้าและการจอดรถกีดขวางเส้นทางการจราจร ทำให้การจราจรบริเวณหน้าตลาดติดขัด การจัดการปัญหาจราจรอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในพื้นที่สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ และ สน. ท่าเรือ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่รอบตลาดคลองเตย สำนักงานเขตฯ ได้มีหนังสือประสานขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจให้กวดขันการจอดรถบริเวณตลาดคลองเตย ขณะที่ปัญหาการตั้งวางสินค้าบริเวณทางเท้า ทำให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรบริเวณทางเท้าได้สะดวก สำนักงานเขตฯ ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจตรวจสอบกวดขันอย่างต่อเนื่อง พร้อมติดป้ายประชาสัมพันธ์ห้ามจอดรถขายสิ่งของทุกชนิด ทั้งนี้ สนอ. ได้เน้นย้ำให้ผู้บริหารตลาดฯ ดูแลการจราจรในตลาดอย่างเหมาะสม โดยจัดหาเจ้าหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการให้ประชาชนจอดยานพาหนะในบริเวณที่ตลาดจัดให้ รวมทั้งบริหารจัดการถนนรอบอาคารตลาดให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยกว้างไม่น้อยกว่า 4 เมตร และมีทางเข้า-ออกบริเวณตลาดกว้างไม่น้อยกว่า 4 เมตร อย่างน้อยหนึ่งทาง เพื่อให้ประชาชนสัญจรได้สะดวกและช่วยลดปัญหาการจราจรบริเวณรอบตลาดและบนถนนหลักอีกทางหนึ่ง

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200