กทม. แจงจัดหาสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็กตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างฯ
นายสิงห์ ลิ้มพิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตโครงการค่าใช้จ่ายในการจัดหาสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก งบประมาณ 20,439,105 บาท หลายรายการมีราคาสูงกว่าราคาตลาดว่า โครงการค่าใช้จ่ายในการจัดหาสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นให้ศูนย์บริการในสังกัดสำนักงานนันทนาการและส่งเสริมการเรียนรู้ สวท. ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 1 (จตุจักร) พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร แห่งที่ 2 (ทุ่งครุ) หอสมุดเมือง กทม. และห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ จำนวน 33 แห่ง เกิดต้นแบบการให้บริการ “มุมของเล่น” เพื่อสร้างโอกาสให้แก่เด็กและเยาวชนได้รับความสุข ความสนุกสนาน ด้วยการเลือกของเล่นที่ชอบ ลองสัมผัส ทดลองเล่น นำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์อย่างเหมาะสม ถูกต้อง แก้ปัญหาจากประสบการณ์ตามแต่ละช่วงวัย และเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ เช่น ชุดแม่เหล็ก บล็อกไม้ ตัวต่อรูปทรงต่าง ๆ แบบจำลอง โมเดล เป็นต้น
ทั้งนี้ สวท. ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมสำหรับเด็กและเยาวชนด้านการเรียนรู้ จึงได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวตามขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โดยที่มีข้อสังเกตเรื่องราคาของวัสดุที่จัดซื้อบางรายการมีราคาแพงผิดปกติกว่าเท่าตัวนั้น คณะกรรมการจัดทำรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุและกำหนดราคากลาง ได้ร่วมกันพิจารณาราคากลาง ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ลงวันที่ 1 พ.ค. 62 ส่วนที่ระบุกรณีสินค้าบางรายการมีราคาหลักหมื่นต่อชุด ควรจัดซื้อเป็นครุภัณฑ์ เช่น บันไดเรนโบว์ หรือโต๊ะเก้าอี้ต่าง ๆ แต่นำมาจัดซื้อเป็นวัสดุทิ้งขว้างเหมือนปากกา ดินสอ ไม่ต้องทำจำหน่ายเหมือนครุภัณฑ์ และทำซ่อมก็ไม่ได้ เพราะไม่มีเลขครุภัณฑ์นั้น หน่วยงานจะดำเนินการตามแนวทางการจัดการทรัพย์สินของราชการและการบริหารพัสดุกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 11 มิ.ย. 61 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการบริหารพัสดุของ กทม. และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 เมื่อสิ้นสุดกระบวนการตรวจรับพัสดุแล้ว และกรณีการลงนามในสัญญาวันที่ 30 ก.ย. 67 ก่อนปิดงบประมาณ นั้น สวท. ได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ตามขั้นตอนและกระบวนการซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ตามระยะเวลาที่กำหนดทุกขั้นตอน
กทม. – อย. – บก.ปคบ. – บช.น. ปราบปราบการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่ผสมยาอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ
นางภาวิณี รุ่งทนต์กิจ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวถึงการปราบปรามการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายในเขตกรุงเทพฯ ว่า สนอ. โดยสำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด ได้ดำเนินการและร่วมสนับสนุนความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการปราบปรามการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายในเขตกรุงเทพฯ โดยประสานสำนักงานเขต 50 เขต สำรวจและแจ้งพิกัดร้านจำหน่ายพืชกระท่อม/น้ำกระท่อม ซึ่งสำนักงานเขตได้รายงานข้อมูลและพิกัดร้านจำหน่ายน้ำกระท่อมในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 151 ร้าน (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ต.ค. 67) และพบว่า มี 8 ร้าน อาจมีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตราย ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 67 ได้ประชุมบูรณาการการปราบปราบการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสมยาอันตรายร่วมกับ 3 หน่วยงาน ได้แก่ อย. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนบูรณาการปราบปรามการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายในกรุงเทพฯ 3 ระยะ ได้แก่ การเร่งปราบ การขยายผล และการดำเนินการต่อเนื่อง โดยช่วง 2 เดือนแรก กทม. จะส่งข้อมูลพิกัดร้านที่ได้รับแจ้งจากสำนักงานเขต จำนวน 8 ร้าน ให้ บช.น ดำเนินการตรวจยึด หรือล่อซื้อ และส่งตัวอย่างให้ อย. ส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ บก.ปคบ. จะสืบสวนขยายผลด้านคดีต่อไป โดย อย. จะจัดทำแนวทางการตรวจสถานที่จำหน่ายน้ำท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตราย และเป็นศูนย์รับแจ้งสถานการณ์และแหล่งจำหน่าย เพื่อให้ อย. เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันอันตรายจากยาเสพติดที่อาจส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน สนอ. จะแจ้งสำนักงานเขต 50 เขตให้สำรวจร้านค้า รถเร่ แผงลอยที่จำหน่ายน้ำท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายอย่างต่อเนื่องตามแผนบูรณาการฯ และขอความร่วมมือสำนักงานเขตกำชับแนวทางปฏิบัติแก่เจ้าหน้าที่ กทม. หากพบการจำหน่ายน้ำกระท่อมที่มีการผสม หรือขายพ่วงยาอันตรายในพื้นที่กรุงเทพฯ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ 0 2590 7405, 0 2590 7325 หรืออีเมล : [email protected] เพื่อให้ อย. เข้าตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย
นอกจากนั้น ยังได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่กรุงเทพฯ ในทุกมิติ โดยประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการเร่งรัดการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 มิ.ย. – 31 ส.ค. 67) โดยบำบัดฟื้นฟูผู้มีปัญหาการใช้ยาเสพติดในชุมชนโดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง (Community Based Treatment and Care – CBTx) ดำเนินการในพื้นที่กรุงเทพฯ ในชุมชนเป้าหมาย 217 ชุมชน ประกอบด้วย (1) โครงการชุมชนบำบัดอย่างยั่งยืนในพื้นที่แพร่ระบาดยาเสพติดตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล (ตร.เฟส 2) ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 5 ชุมชน (2) โครงการชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่กรุงเทพฯ ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 24 ชุมชน และ (3) โครงการ CBTx กองทุนแม่ของแผ่นดิน ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมาย 188 ชุมชน ทั้งนี้ ผลการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของหมู่บ้าน/ชุมชน พื้นที่กรุงเทพฯ ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.ค. 67 ดำเนินการแล้ว 209 ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 96.31 และปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ระดับจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568
สำหรับมาตรการเชิงรุกขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของ กทม. โดยเฉพาะการเฝ้าระวังภัยยาเสพติดในสถานศึกษา สถานประกอบการ และชุมชน แบ่งเป็น สถานศึกษา ได้เฝ้าระวังความเสี่ยงภายในและนอกสถานศึกษา คัดกรองโดยครูที่พบพฤติกรรมเสี่ยงของนักเรียนและคัดกรองโดยใช้การประเมินภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติด หากพบนักเรียนที่มีความเสี่ยงจะประสานผู้ปกครองและศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เพื่อติดตามช่วยเหลือ สำหรับนักเรียนที่มีความเสี่ยงและสงสัยว่า อาจเกี่ยวข้องกับยาเสพติดจะตรวจปัสสาวะ โดยจัดทำหนังสือสัญญาและข้อตกลงร่วมกับผู้ปกครอง เพื่อให้ความยินยอมก่อนตรวจปัสสาวะ จัดกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ ทักษะ เสริมภูมิคุ้มกันยาเสพติดให้กับนักเรียน รวมถึงบันทึกข้อมูลเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อประเมินและวางแผนการช่วยเหลือแบบรอบด้านด้วยแพลตฟอร์ม “เติมเต็ม”
ส่วนสถานประกอบการได้ประสานความร่วมมือสำนักงานเขตและกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดกิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันยาและสารเสพติดให้กับพนักงาน สนับสนุนการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยยาเสพติด สนับสนุนการดำเนินงานตามเกณฑ์มาตรฐานการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ (มยส.) และโรงงานสีขาว สำหรับในชุมชน ได้จัดให้มีอาสาสมัครเฝ้าระวังภัยยาและเสพติดกรุงเทพมหานคร และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานครเชี่ยวชาญยาเสพติดในพื้นที่ 50 สำนักงานเขต เพื่อเฝ้าระวัง สร้างการรับรู้ เท่าทันต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติด และร่วมค้นหาผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา สนับสนุนการดำเนินงานกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อเป็นกลไกการป้องกันปัญหายาเสพติดในชุมชน อีกทั้ง ได้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยจัดตั้งชมรม TO BE NUMBER ONE ในสถานศึกษา ชุมชน และสถานประกอบการ เพื่อให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจของเด็ก เยาวชน และประชาชนไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
เขตจตุจักรจัดเก็บขยะรอบสถานีขนส่งหมอชิต พร้อมแจ้ง รฟท. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
นางสาวภัทร์กร สินสุข ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์ปัญหาการทิ้งขยะจำนวนมากบริเวณโดยรอบสถานีขนส่งหมอชิตว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบพบว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งการทิ้งขยะบริเวณดังกล่าวเกิดจากรถโดยสารที่รอรับผู้โดยสารจากสถานีขนส่งหมอชิต (ผู้เช่าที่ดินของ รฟท.) ทั้งนี้ สถานีขนส่งหมอชิต มีจุดทิ้งขยะภายในอาคารอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าจัดเก็บขยะจากสถานีขนส่งหมอชิตตามแผน ปฏิบัติงานเป็นประจำ นอกจากนี้ ได้มีหนังสือแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 2 ฉบับ เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 67 และวันที่ 26 ก.ย. 67 เพื่อแจ้งเรื่องร้องเรียนดังกล่าว และขอให้ รฟท. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
เขตดอนเมืองตรวจสอบการสร้างเขื่อน ค.ส.ล. ไม่มีการถมดินลงในคูนายกิม สาย 2
นายสมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการเขตดอนเมือง กทม. กล่าวกรณีประชาชนร้องเรียนหมู่บ้านจัดสรรในซอยสรงประภา 30 ถมดินลงคลองกีดขวางทางระบายน้ำ ทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบพบว่า บริเวณดังกล่าวมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) ของสำนักการระบายน้ำ โดยหมู่บ้านดังกล่าวไม่ได้มีการถมดินลงในคูนายกิม สาย 2 แต่อย่างใด