“วันนี้มาที่สำนักพัฒนาสังคม เป็นสำนักที่มีความสำคัญ เพราะดูแลผู้เปราะบาง รวมถึงผู้ที่มีโอกาสไม่เท่ากับคนอื่นในเมืองและยังต้องการโอกาสที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์เรา คือ อยากจะให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน โดยเรามีหลายโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ การดูแลคนที่อยู่ในชุมชน ผู้พิการ ผู้ที่ยากไร้ และผู้ที่ขาดโอกาส จะเห็นได้ว่า โครงการต่าง ๆ ที่สำนักพัฒนาสังคมดำเนินการนั้นเดินหน้าไปด้วยดี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่ช่วยเหลือผู้เปราะบาง/อ่อนแอในสังคมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมเพื่อรับฟังการนำเสนอภารกิจของสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร ซึ่งมี คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักพัฒนาสังคม และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมกิจกรรม ณ สำนักพัฒนาสังคม เขตดินแดง วันนี้ (17 ม.ค. 66)
สำนักพัฒนาสังคม เป็นหน่วยงานระดับสำนัก ลำดับที่ 7 ของกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร (สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักอนามัย สำนักเทศกิจ สำนักการระบายน้ำ) โดยในเวลา 12.00 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกับข้าราชการและบุคลากรสำนักพัฒนาสังคม จากนั้นเดินเยี่ยมชมสวนเกษตรดาดฟ้า สพส. เยี่ยมชมห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เข้าห้องประชุมเพื่อรับฟังการนำเสนอภารกิจของ สพส. หลังจบการประชุมได้เยี่ยมชมห้องฝึกช่างจักรยานยนต์ไฟฟ้า เยี่ยมชมบาริสต้า และเยี่ยมชมห้องฝึกตัดแต่งขนสุนัข ของโรงเรียนฝึกอาชีพดินแดง
● กทม.มุ่งช่วยเหลือคนรายได้น้อยอย่างยั่งยืนด้วยการสร้างอาชีพ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โครงการหลัก ๆ ของสำนักพัฒนาสังคมก็คือ เราเริ่มมีโครงการอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) ที่ให้อาสาสมัครแต่ละชุมชนไปดูเรื่องเทคโนโลยี ไปช่วยสอนคนในชุมชนให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น เพราะว่าจะเป็นตัวที่ทำให้เขาหลุดพ้นจากความยากจน และสามารถเข้าถึงโอกาสได้ ซึ่งตอนนี้เราเริ่มมีการจ้างแล้วประมาณ 491 คน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ 2,000 คน โดย อสท. จะเป็นคนที่นำข้อมูลต่าง ๆ เข้าระบบดิจิทัลส่งเข้ามาสู่ส่วนกลาง เพื่อจะได้เห็นว่าแต่ละชุมชนมีข้อมูลหรือปัญหาอย่างไร อันจะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง
เรามีการพัฒนา Bangkok Food Bank คือนำอาหารส่วนเกิน (Food Surplus) ที่ยังบริโภคได้จากที่ต่าง ๆ ส่งต่อให้กับผู้เปราะบาง โดยเราได้ร่วมมือกับมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) มูลนิธิ วีวี แชร์ (VV Share) และเครือข่ายต่าง ๆ ที่บริหารจัดการอาหารส่วนเกินแจกจ่ายไปยังคนที่มีความต้องการ ซึ่งเราได้ดำเนินการแล้วใน 10 เขตนำร่อง
ในมิติของผู้พิการ เราได้มีการจ้างงานคนพิการ โดย กทม. จ้างแล้วประมาณ 300 คน จากเป้าหมาย 600 คน และพยายามทำฐานข้อมูลเพื่อให้คนพิการเข้าถึงอาชีพได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องเกษตรกรรมด้วย เพราะเกษตรกรรมเป็นอีกหนึ่งวิชาชีพ เราก็จะมีโครงการทำสวนเกษตรอินทรีย์กระจายไปในพื้นที่กรุงเทพฯ 200 แห่ง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ปัจจุบันทำได้แล้วประมาณ 130 แห่ง โดยมีสวนที่อยู่ตามชุมชน โรงเรียนต่าง ๆ ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ปลูกผักบริโภคกันเองหรือนำไปขายได้ เราอยากทำ Farmer Market เขตละ 1 แห่ง รวม 50 แห่ง ให้เกษตรกรนำสินค้ามาขาย ก็จะเป็นจุดที่ทำให้สามารถซื้ออาหารได้ในราคาไม่แพง
อีกเรื่องหนึ่งที่สำนักพัฒนาสังคมดูแล คือ ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน เราก็จะนำศูนย์เด็กอ่อนเข้าสู่ระบบให้มากขึ้น อีกทั้งยังได้มีการปรับค่าอาหารกลางวัน จาก 20 บาท เป็น 32 บาท/คน/วัน ปรับค่าวัสดุอุปกรณ์การเรียนการสอนและอุปกรณ์เสริมทักษะ จาก 100 บาท เป็น 600 บาท/คน/ปี เพื่อให้สามารถตอบโจทย์เด็กที่อายุ 2-6 ขวบ ได้ดีขึ้น
นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า นอกจากที่ผู้ว่าฯ กล่าวมานั้น ยังมีเรื่องโรงเรียนฝึกอาชีพ ซึ่ง กทม. มีอยู่ 10 แห่ง มีหลักสูตรต่าง ๆ มากมาย อาทิ บาริสต้ากาแฟ นวดแผนไทยเพื่อสุขภาพ ตัดผมชาย-เสริมสวย การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ และจะมีเรื่องนำมอเตอร์ไซค์น้ำมันมาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้า เป็นต้น โดยเรามีแผนที่จะให้ครูพี่เลี้ยงจาก 10 ศูนย์ฝึกอาชีพใหญ่กระจายลงทุกเขต แต่ละเขตก็จะมีการฝึกอาชีพย่อยและจะมีกิจกรรมตลอดทั้งปี
“เพราะเรื่องฝึกอาชีพเป็นหัวใจของการทำให้คนที่ขาดรายได้มีโอกาสมากขึ้น” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ย้ำ
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า เราได้ให้นโยบายว่า โรงเรียนฝึกอาชีพทั้ง 10 แห่ง ต้องเป็นดาวเด่นของสำนักพัฒนาสังคม เพราะเป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชน และอาชีพที่ฝึกให้จะต้องเป็นอาชีพที่สอดคล้องกับอนาคต เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชในการเพิ่มหลักสูตรฟื้นฟูผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) เพื่อให้ผู้ที่มาฝึกอาชีพสามารถนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้
“กทม.ไม่สามารถนำเงินลงไปช่วยคนที่มีรายได้น้อยได้ทุกคน แต่เราสามารถให้อาชีพและให้ความรู้ได้ ดังนั้น ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาการฝึกอาชีพ เพื่อให้หลักสูตรสามารถต่อยอดกับฝั่ง demand site ได้ คือเราต้องคุยกับบริษัทที่ต้องการแรงงานด้วย เพื่อจะได้พัฒนาแรงงานให้เหมาะสมกับที่เขาต้องการ ซึ่งจะทำให้มีช่องทางให้คนที่ฝึกวิชาชีพแล้วไหลไปยังแหล่งงานได้เลย รวมทั้งต้องมีการจัดทำแพลตฟอร์มรวบรวมแรงงานที่มีคุณภาพในชุมชนต่าง ๆ เพื่อให้แหล่งงานสามารถหาแรงงานที่ต้องการในชุมชนใกล้เคียงได้ และเป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงงานให้คนในชุมชนด้วย ดีกว่าการให้เงิน เพราะให้เงิน 1 เดือนก็หมด แต่ให้งานสามารถสร้างเงินต่อเนื่องได้ เพราะฉะนั้น เราจึงเน้นพัฒนาในสิ่งที่ยั่งยืน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวต่อไปว่า ส่วนคนไร้บ้านที่ไม่มีมือถือ เราได้กำหนดจุด Drop In หรือบ้านอิ่มใจที่จะมีในอนาคต เพื่อนำเขาเข้ามาสู่ระบบ ให้เขาได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบมากขึ้น แต่ตอนนี้ปัญหาของเราคือคนที่ไร้บ้านส่วนใหญ่เป็นคนที่อายุเยอะแล้ว อายุ 50 กว่าปี ตกงานช่วงโควิดแล้วไม่สามารถกลับคืนเข้าสู่ระบบงานได้เพราะว่าอายุเกิน คงต้องดูอีกทีว่าจะทำอย่างไร หรือจะมีหน่วยงานไหนที่อาจจะมีความต้องการที่สอดคล้องกับความสามารถของแต่ละคนหรือไม่ ส่วนคนไร้บ้านที่มีความบกพร่องทางสติปัญญานั้นยังมีไม่เยอะ แต่ถ้าเราพบ ก็ต้องแยกและให้การบำบัด
ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไร้บ้านจะอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลางจำนวนมาก เพราะว่ามีผู้ที่นำอาหารมาให้ เราจึงได้กำหนดจุด Drop In สำหรับคนไร้บ้าน จุดที่ 1 บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า มีผู้รับอาหารประมาณวันละ 200 ราย จุดที่ 2 บริเวณซอยสาเก ถนนอัษฏางค์ มีผู้รับอาหารประมาณวันละ 150 ราย ซึ่งผู้มีจิตกุศลสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์นำอาหารมาแจกจ่ายแก่คนไร้บ้านได้ที่ https://forms.gle/2hZzssfChcJtrALK9 เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมือง นอกจากนี้จุดบริการดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูเรื่องการลงทะเบียน ดูสิทธิสวัสดิการของรัฐ/สิทธิการรักษาพยาบาลให้ รวมถึงมีการหางานให้ด้วย เพื่อแก้ปัญหาคนไร้บ้านที่ต้นเหตุมากขึ้น ส่วนบ้านอิ่มใจ ตอนแรกตั้งอยู่ที่ประปาแม้นศรี แต่ได้มีการยกเลิกไปเนื่องจากหมดสัญญาเช่าที่ดิน ตอนนี้เรากำลังหาที่ตั้งใหม่ เพื่อให้สามารถช่วยคนไร้บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“อย่างไรก็ตาม ผมต้องกราบขอบพระคุณผู้ที่มีเจตนาดีนำมาอาหารมาแจกคนไร้บ้าน และต้องขอความร่วมมือผู้ใจบุญมาร่วมกันในจุดที่จัดไว้ให้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกว่า เพราะสุดท้ายแล้วเราจะสามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
● ตรุษจีนปีนี้ เน้นความปลอดภัย ย้ำจัดระเบียบจราจร วอนใช้ธูปสั้นหรือเผาลดลงเพื่อลดฝุ่น PM2.5
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตรุษจีนปีนี้เรายังคงเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยและอัคคีภัย ซึ่งได้มีการตรวจสอบและเตรียมความพร้อมมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงเช้าได้ให้รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ประชุมเกี่ยวกับตรุษจีนที่เยาวราช เพราะคาดว่าปีนี้ตรุษจีนต้องคึกคักเนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก ซึ่งปัญหาหลัก ๆ คือเรื่องการเดินทาง รถที่จอดเกะกะ แท็กซี่/สามล้อที่จอดรับ-ส่งคน จึงได้มีการประชุมทุกฝ่าย ทั้งท่าน ส.ก. ผู้อำนวยการเขต ตำรวจ เอกชนในพื้นที่ ในการจัดระเบียบจราจรให้ดี จัดจุดส่งคนและรอรับคนให้ชัดเจน ถ้าเป็นไปได้ขอความร่วมมือประชาชนที่จะไปเยาวราชเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เรามีสถานีวัดมังกร เดินไม่ไกลก็ถึง
เรื่องที่ 2 ร้านค้าที่กีดขวางทางเดิน ก็ได้มีการสั่งการให้จัดระเบียบตรงนี้ให้ดีขึ้น ให้เป็นแนว เพื่อให้คนสามารถเดินได้สะดวก อนาคตอาจจะมีการปรับเส้นทางให้คนเดินได้สะดวกมากขึ้น เรื่องที่ 3 ขยะ ได้ขอให้ร้านค้านำขยะมาตั้งในเวลาที่กำหนด อย่ามาตั้งก่อนเวลา เพราะมีโอกาสถูกชนล้ม กระจัดกระจาย รกรุงรัง ส่วนทางกทม.จะเพิ่มรอบเก็บให้ถี่ขึ้น ซึ่งเยาวราชก็จะเป็นโมเดลแรก และจะขยายไปจุดอื่นที่มีการจัดกิจกรรม
“กิจกรรมตรุษจีนปีนี้มาในช่วง High Season ของฝุ่น PM2.5 เข้าใจว่าเป็นประเพณีที่อาจมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง หรือการจุดธูป หากสามารถทำให้ลดลงได้ ก็จะช่วยลดต้นตอเรื่องฝุ่นได้ โดยอาจเลือกใช้ธูปขนาดสั้นลง น่าจะลดลงได้บ้าง หากเราร่วมมือกันก็อาจจะทำให้ภาวะฝุ่นในพื้นที่ไม่รุนแรงมาก” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว
● เร่งแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย จัดหาพื้นที่ขายให้ คืนพื้นที่ให้ผู้ใช้ทางเท้า
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า สำหรับกรณีหาบเร่แผงลอยเป็นเรื่องสำคัญ ช่วงโควิดหาบเร่แผงลอยอาจน้อยลง พอนักท่องเที่ยวกลับมาก็จะเห็นหาบเร่แผงลอยมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นชุมชน แหล่งออฟฟิศ เช่น สีลม สุขุมวิท รัชดาภิเษก แต่นโยบายคือให้สิทธิ์คนเดินถนนก่อน ความเป็นระเบียบเรียบร้อยก่อน กทม.ไม่ใช่เจ้าของฟุตบาท ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน กทม.แค่มีหน้าที่ดูแล ไม่มีสิทธิ์ให้ใครคนใดคนหนึ่งเข้าไปขาย ที่ผ่านมาได้จัดหาสถานที่ให้ไปขายหรือเข้าไปขายในซอย บางจุดอาจต้องจ่ายค่าเช่าแต่ได้มีการเจรจาค่าเช่าที่ไม่แพง เราไม่ได้ไล่ แต่อยากให้คำนึงประโยชน์สาธารณะของเมืองเป็นหลัก บางจุดที่กทม.จัดหาให้ ผู้ค้าบอกไกลก็ไม่ไป หรือมีค่าใช้จ่ายบ้างก็ค่อย ๆ คุยกัน หาทางออกร่วมกัน
● สวนเบญจกิติออกแบบเฉพาะ มีความหลากหลาย กทม.ดูแลต่อเนื่องไม่ละเลย
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวว่า สวนเบญจกิติเป็นสวนที่ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องสวน ซึ่งเป็นสวนที่ไม่เคยมีมาก่อนในกรุงเทพฯ เมื่อออกแบบเสร็จ กรมธนารักษ์ได้จ้างทหารช่างจากราชบุรีก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จมอบให้กรุงเทพมหานครดูแล แต่ระบบน้ำต่าง ๆ ยังอยู่ในความรับประกันของทหารช่างจากราชบุรี ซึ่งได้มีการพูดคุยกันตลอด ในการดูแลสวนเบญจกิติมีการนำน้ำจากคลองไผ่สิงโตมาใช้ ซึ่งน้ำจากคลองไผ่สิงโตอาจไม่สะอาดมาก ในสวนมีบึงอยู่ 4 บึง มีบึงลึกบึงตื้น น้ำจะซึมเข้าบ่อตื้นแล้วไปบ่อลึก พอหน้าแล้งน้ำก็จะแห้งไป อย่างไรก็ตามในส่วนที่มีระบบฉีดน้ำจากสปริงเกอร์ก็จะเขียวตลอด แต่ส่วนเป็นเกาะซึ่งผู้ออกแบบไม่ได้มีการติดสปริงเกอร์ไว้ จากการพูดคุยเป็นการออกแบบที่ไม่ได้ให้มีการรดน้ำ เหมือนเราไปเที่ยวป่าต่างจังหวัดจะมีเหลืองบ้างเขียวบ้างตามฤดูกาล มีความหลากหลาย ปัจจุบันได้มีการดึงน้ำที่คุณภาพดีมาใช้ในสวนเบญจกิติเพิ่มมากขึ้น จะเห็นว่าน้ำในสวนดีขึ้น กรุงเทพมหานครมีการจัดเจ้าหน้าที่ดูแลสวนต่อเนื่องตลอดไม่ได้ละเลย ซึ่งจะต้องคิดต่อว่าในอนาคตจะนำน้ำที่มีคุณภาพมาจากไหน ต้องคิดถึงระยะยาว ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การรดน้ำ แต่อยู่ที่การจะหาแหล่งน้ำที่มีคุณภาพจากไหนมาใช้ ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันในการดูแลสวนเบญจกิติด้วย