บริหารจัดการขยะเขตดุสิต ชมคัดแยกขยะโรงเรียนสุโขทัย คุมเข้มค่าฝุ่น PM2.5 โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ตรวจจุดทำการค้าหน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ติดตามผู้ค้า Hawker Center ถนนสังคโลก
(17 ม.ค.66) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดุสิต ประกอบด้วย
เยี่ยมชมการคัดแยกขยะ อาคารสำนักงานเขตดุสิต วิธีการคัดแยกขยะ โดยมีถังขยะแยกประเภท ดังนี้ ถังขยะเศษอาหาร (สีเขียว) ได้แก่ ขยะเศษอาหาร เศษผักผลไม้ ถังขยะทั่วไป (สีน้ำเงิน) ได้แก่ ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ ย่อยสลายยาก แต่ไม่เป็นพิษ ถังขยะรีไซเคิล (สีเหลือง) ได้แก่ กระดาษ พลาสติก กระป๋อง ถังขยะอันตราย (สีส้ม) ได้แก่ ขยะที่มีสารปนเปื้อน วัตถุอันตราย สารเคมี ถังขยะติดเชื้อ (สีแดง) ได้แก่ หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว หรือสิ่งของที่สัมผัสกับสารคัดหลั่ง พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรของเขตฯ และประชาชนที่มาติดต่อราชการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อความสะดวกในการจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ สำหรับการจัดเก็บขยะในพื้นที่ เขตฯ จัดเก็บทุกวันในเวลา 20.00 น. ปริมาณขยะที่จัดเก็บได้ 300 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ขยะทั่วไป 285 กิโลกรัม/วัน ขยะอินทรีย์ 10 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิล 5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตราย 0.2กิโลกรัม/วัน โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนสุโขทัย มีนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 รวมทั้งสิ้น 352 คน เขตฯ รณรงค์ให้ความรู้ในเรื่องการคัดแยกขยะให้กับเด็กนักเรียน ให้มีความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ของการคัดแยกขยะ รวมทั้งนำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับครอบครัวและชุมชน กิจกรรมเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะภายในโรงเรียน ได้แก่ ธนาคารขยะ การทำน้ำหมักชีวภาพ การหมักปุ๋ยจากเศษอาหาร การเลี้ยงไส้เดือน การปลูกพืชผักสวนครัว การทำน้ำยาอเนกประสงค์ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวโดยการใช้ถัง Green Cone ซึ่งเป็นการลดปริมาณขยะเศษอาหาร เขตฯ จัดเก็บขยะทุกวัน สำหรับปริมาณขยะในการจัดเก็บ 90 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะทั้งหมดหลังดำเนินการ 75.34 กิโลกรัม/วัน ปริมาณขยะที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ ขยะอินทรีย์ 10 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิล 4.5 กิโลกรัม/วัน ขยะอันตราย 0.2 กิโลกรัม/วัน รวมปริมาณที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ 14.70 กิโลกรัม/วัน
ติดตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการศุภาลัย ถนนนครไชยศรี ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัยขนาดใหญ่ อยู่ในการกำกับดูแลของสำนักการโยธา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบวัดค่าฝุ่น PM2.5 พร้อมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้จัดทำบ่อล้างล้อรถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออกโครงการบริเวณประตูทางเข้า-ออก ทั้ง 2 แห่ง ติดตั้งตาข่ายคลุมอาคารที่ก่อสร้างให้ครอบคลุมตัวอาคารทั้งหมด ตรวจสอบเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณโดยรอบให้สามารถใช้การได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในอาทิตย์หน้า พร้อมทั้งมอบหมายให้เขตฯ ติดตามมาตรการควบคุมมลพิษทางอากาศและมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5
ตรวจความเป็นระเบียบเรียบร้อยพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน หน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถนนทหาร โดยรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดหาพื้นที่ว่างบริเวณใกล้เคียง เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ให้ผู้ค้าเข้ามาทำการค้าภายในจุดเดียวกัน ทั้งนี้ เขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 5 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 406 ราย ดังนี้ 1.จุดประชาวิวัฒน์ ถนนพระรามที่ 5 ตั้งแต่ปากซอยระนอง 1 ถึงปากซอยระนอง 2 ผู้ค้า 14 ราย เวลาทำการค้า 06.00-16.00 น. 2.หน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง) ตั้งแต่ถนนพระรามที่ 6 ถึงทางเข้ากรมช่างอากาศอำรุง ผู้ค้า 77 ราย เวลาทำการค้า 04.00-09.00 น. 3.ตลาดริมคลองผดุงกรุงเกษม (มหานาค) ตั้งแต่สะพาน 7 ถึงต้นโพธิ์ ผู้ค้า 75 ราย เวลาทำการค้า 06.00-24.00 น. 4.ถนนคลองลำปัก ตั้งแต่ปากซอยคลองลำปัก ถึงต้นโพธิ์ ผู้ค้า 228 ราย เวลาทำการค้า 02.00-08.00 น. และ 5. หน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ถนนทหาร ตั้งแต่หน้าศูนย์ราชการเกียกกาย ถึงหน้าวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ผู้ค้า 12 ราย เวลาทำการค้า 06.00-16.00 น.
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้า Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณถนนสังคโลก เขตดุสิต ความยาว 210 เมตร รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 78 ราย เวลาทำการค้า 06.00-17.00 น. ดังนี้ พื้นที่ตั้งร้านค้าตั้งแต่ต้นโพธิ์ถึงประตูทางเข้าบ้านเลขที่ 157/15 ความยาว 57 เมตร ผู้ค้า 11 ราย พื้นที่ตั้งร้านค้าตั้งแต่ประตูทางเข้าบ้านเลขที่ 157/15 ถึงประตูทางเข้าบ้านเลขที่ 157/13 ความยาว 34 เมตร ผู้ค้า 13 ราย พื้นที่ตั้งร้านค้าตั้งแต่ประตูทางเข้าบ้านเลขที่ 157/13 ถึงประตูทางเข้าดุสิตคอนโดอเวนิว ความยาว 100 เมตร ผู้ค้า 46 ราย พื้นที่ตั้งร้านค้าตั้งแต่ประตูทางเข้าดุสิตคอนโดอเวนิว ถึงประตูทางเข้ากรมตรวจสอบภายในกองทัพบก ความยาว 19 เมตร ผู้ค้า 8 ราย โดยตั้งเป็นรถเข็น มีลักษณะร่มเป็นรูปแบบเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่สำหรับล้างภาชนะและอุปกรณ์ประกอบอาหาร และบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชและธนาคารกรุงไทยในการจัดหาร่ม โต๊ะ เก้าอี้ และป้ายไวนิล สำหรับ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) บริเวณถนนสังคโลก เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักเทศกิจ สำนักงานเขตดุสิต และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ในการจัดหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center (ศูนย์อาหาร) ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เน้นจุดที่มีความต้องการของผู้บริโภค อยู่ใกล้กับพื้นที่ทำการค้าเดิม พร้อมทั้งบริหารจัดการด้านความสะอาดโดยกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่การดูแลทำความสะอาดพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ การตรวจความสะอาดของสินค้าและอาหารที่จำหน่าย จุดล้างทำความสะอาดภาชนะ จุดคัดแยกขยะและกำจัดขยะรวม
ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ กำชับผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของเกินแนวเส้นที่กำหนดไว้ ขอความร่วมมือทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้า รวมถึงคัดแยกเศษอาหารนำไปทิ้งในถังขยะที่รองรับเศษอาหาร เพื่อความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย ผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้พื้นที่ทางเท้าร่วมกันได้โดยสะดวกและปลอดภัย
ในการลงพื้นที่วันนี้มี นายสุริยชัย รวิวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดุสิต สำนักเทศกิจ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนสุโขทัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
#สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)