Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2567

กทม. ทำสัญลักษณ์พื้นทางจักรยาน เร่งส่งสีที่เหมาะสมกับการใช้งานบนผิวทาง

นายไทภัทร ธนสมบัติกุล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตทางจักรยาน กทม. บริเวณถนนศรีบูรพา เขตบางกะปิ สีหลุดร่อนหลังเพิ่งทาได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ว่า การทำสัญลักษณ์พื้นทางแสดงทางจักรยานใช้ร่วมกับคนเดินบนทางเท้าและทางจักรยานใช้ร่วมกับรถยนต์บนผิวจราจร เป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่ง สจส. ได้จัดทำแผ่นแบบ (Template) สัญลักษณ์พื้นทางและสีน้ำจราจรให้แก่สำนักงานเขตไปใช้ทาสีก่อน แต่ปรากฏว่า ช่วงนี้มีฝนตก พื้นผิวทางมีความชื้น หรือคราบสกปรก ทำให้สีน้ำจราจรที่ใช้ทาไม่คงทนและชำรุดเสียหายเร็วกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม สจส. จะจัดส่งสีที่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน เช่น สีเทอร์โมพลาสติก สีโคลด์พลาสติก (สีตีเส้นจราจรและทางม้าลาย) ที่มีความคงทนและเหมาะสมต่อการใช้งานบนผิวทางมากกว่า เพื่อส่งให้สำนักงานเขตปรับปรุงแก้ไขให้เรียบร้อยโดยเร็วต่อไป

 

 

กทม. ตั้งเป้าสร้างสวน 15 นาทีให้ได้ 500 แห่งภายในปี 69

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวถึงแนวทางจัดทำโครงการสวน 15 นาทีว่า สสล. ได้ประสานความร่วมมือการจัดทำสวน 15 นาที ร่วมกับสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต เพื่อให้มีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด โดยจัดประชุมคณะทำงานสวน 15 นาทีทั่วกรุง ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว คณะกรรมการนโยบายด้านการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และคณะอนุกรรมการด้านการเพิ่มสวน 15 นาทีทั่วกรุง ตามกรอบการดำเนินงาน เพื่อพิจารณาเกณฑ์การประเมินสวน 15 นาที และเป็นแนวทางพัฒนาให้มีคุณภาพตอบสนองการใช้งานของประชาชน ทั้งนี้ “สวน 15 นาที” เป็นหนึ่งในนโยบายสิ่งแวดล้อมดีที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่ แต่มุ่งเน้นเรื่องการเข้าถึงง่ายภายใน 15 นาที ระยะการเดินไม่เกิน 800 เมตร

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ดักจับฝุ่น PM2.5 การใช้ต้นไม้เป็นเครื่องฟอกอากาศธรรมชาติ และช่วยดูดซับน้ำตามธรรมชาติ โดยเกณฑ์การประเมินจะแบ่งเป็น 4 หมวดหลัก และมีหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ดังนี้ (1) เกณฑ์มาตรฐาน ประกอบด้วย การเข้าถึงพื้นที่ซึ่งต้องรองรับการเข้าถึงของประชาชนภายในระยะเวลาการเดินไม่เกิน 15 นาที มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน อาทิ ป้ายทางเข้า ป้ายแสดงข้อมูล ถังขยะ ที่นั่ง ฯลฯ กิจกรรมการใช้งานของทุกเพศทุกวัย การออกแบบควรสอดคล้องกับความต้องการใช้งานของคนในชุมชนสอดคล้องกับบริบททางธรรมชาติและวัฒนธรรม รวมถึงความปลอดภัย เช่น กล้องวงจรปิด (CCTV) ไฟฟ้าส่องสว่างและการรักษาความสะอาด (2) เกณฑ์ด้านการมีส่วนร่วม เช่น มีภาคีร่วมสนับสนุนและการร่วมบริหารจัดการ (3) เกณฑ์ด้านสุขภาวะ มีพื้นที่ หรืออุปกรณ์สนับสนุนการออกกำลังกาย การผ่อนคลายทางจิตใจด้วยองค์ประกอบทางธรรมชาติ และ (4) เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม มีการฟื้นฟูระบบนิเวศให้มีคุณภาพดี มีความหลากหลายทางชีวภาพ การเก็บต้นไม้เดิมในพื้นที่ มีการใช้พลังสะอาดเลือกใช้ทรัพยากรหมุนเวียน ลดการสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ทั้งนี้ กทม. มีเป้าหมายดำเนินการสร้างสวน 15 นาทีให้ได้ 500 แห่ง ภายในปี 2569 ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยการพัฒนาพื้นที่เดิมควบคู่การเพิ่มพื้นที่ใหม่ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน หากประชาชน หรือเอกชนสนใจ สามารถเสนอพื้นที่มาได้ที่ สสล. หรือติดต่อที่เพจเฟซบุ๊ก สำนักสิ่งแวดล้อม กทม.

 

 

กทม. ประสาน รฟม. กำชับผู้รับจ้างเข้มงวดควบคุมดูแลความปลอดภัยโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดิน

นายธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุรถเครนในไซส์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินบริเวณปากซอยตากสิน 9/3 ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ล้มทับรถจักรยานยนต์ของประชาชนว่า อุบัติเหตุดังกล่าวอยู่ในพื้นที่งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญาที่ 4 บนถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จากการประสานทราบว่า เป็นรถเครนที่อยู่ระหว่างการขุดดิน เพื่อทำกำแพงกันดินได้ล้มลงระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย โดยผู้รับจ้างของ รฟม. ได้กู้รถเครนดังกล่าวขึ้นเรียบร้อยและเปิดการจราจรได้เป็นปกติ ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บ ผู้รับจ้างได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเยียวยาให้เป็นที่น่าพอใจแล้ว

ทั้งนี้ สนย. ได้แจ้ง รฟม. ให้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบและกำชับผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเข้มข้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงให้ตรวจสอบทางวิศวกรรมกรณีมีข้อสังเกตบริเวณสถานที่เกิดเหตุมีลักษณะคล้ายพื้นดินมีการยุบตัวด้วย

ว่าที่ร้อยตรี เดชาธร แสงอำนาจ ผู้อำนวยการเขตธนบุรี กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทศกิจอำนวยความสะดวกด้านการจราจรระหว่างเจ้าหน้าที่ดำเนินการกู้เครน ทั้งฝั่งขาเข้าและฝั่งขาออก เพื่อใช้สัญจรได้ฝั่งละ 1 ช่องทาง โดยได้ดำเนินการกู้เครนและเคลื่อนย้ายไปในจุดที่ปลอดภัยภายในพื้นที่ก่อสร้างเรียบร้อย และสามารถเปิดช่องทางการจราจรได้ตามปกติ

กทม. ตรวจสอบความแข็งแรงต้นไม้ใหญ่ พร้อมประเมินความเสี่ยงอันตรายรองรับสถานการณ์ลมพายุ

นางสาวสุขวิชญาณ์ นสมทรง ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุต้นไม้ใหญ่บนทางเท้าริมถนนบรรทัดทอง บริเวณปากซอยจุฬาลงกรณ์ 34 เขตปทุมวัน หักโค่นลงมาบนถนน ภายหลังฝนตกหนักและมีลมกระโชกแรงว่า จากการตรวจสอบ พบว่า ต้นไม้ที่โค่นล้มคือ ต้นชมพูพันธุ์ทิพย์ ที่ระบบรากและลำต้นส่วนโคนที่อยู่ใต้ผิวดินมีเนื้อไม้ผุ เปื่อยยุ่ยเป็นโพรงอยู่ด้านใน ไม่สามารถมองเห็นและตรวจสอบพบได้จากภายนอก ซึ่งต้นไม้มีรากส่วนที่สมบูรณ์แผ่กระจายอยู่บ้างเพียงเล็กน้อย มีขนาดไม่ใหญ่ ทำให้ต้นไม้ขาดความมั่นคงแข็งแรง ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าวและช่วงที่ใกล้เคียงก่อนหน้านั้นมีฝนตกหนักต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากการสอบถามประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงทราบว่า ช่วงเวลาดังกล่าว มีลมพายุรุนแรง จึงเป็นสาเหตุให้ต้นไม้โค่นล้มกีดขวางหน้ารถบรรทุกแบบฉับพลัน ทำให้ถูกเฉี่ยวชนจนได้รับความเสียหาย โดยหลังเกิดเหตุหน่วยบริการเร่งด่วน (หน่วย BEST) ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกับเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยบรรทัดทอง โดยตัดย่อยซากของกิ่งไม้ต้นไม้ที่โค่นล้มออกกองไว้บริเวณริมทางเท้าที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ตลอดแนวถนนบรรทัดทองในระดับการประเมินความเสี่ยงอันตรายจากต้นไม้ด้วยสายตา (Visual tree assessment : VTA) ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการตัดโค่น แต่ได้ตัดแต่งกิ่งไม้ตามแผน เพื่อความปลอดภัยเป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ ได้เพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่สาธารณะที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ตลอดแนวถนนบรรทัดทอง รวมทั้งดำเนินการตามแนวทางบำรุงรักษาต้นไม้ในพื้นที่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุหักโค่นล้ม หรือเหตุที่อาจทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยลักษณะดังกล่าวและจะได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อม เพื่อขอรุกขกรช่วยสำรวจและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ในระดับการประเมินขั้นพื้นฐาน รวมถึงประสานหน่วยงานเอกชน เพื่อสำรวจและตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของต้นไม้ ในระดับการประเมินขั้นสูง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวว่า สสล. ได้แจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องการดูแล เฝ้าระวังต้นไม้ใหญ่ในที่สาธารณะที่อาจได้รับผลกระทบจากลมพายุ โดยให้สำนักงานเขต 50 เขต ที่รับผิดชอบดูแลต้นไม้บนถนนสายหลัก สายรอง ทางเท้า สวนหย่อม สวนสาธารณะและสวน 15 นาที รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดที่รับผิดชอบสวนสาธารณะและต้นไม้บนถนนสายสำคัญ โดยให้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจตราพื้นที่ในความรับผิดชอบ เพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์แข็งแรงของต้นไม้บนถนน ทางเท้า และที่สาธารณะ หากพบความเสี่ยงต่อการหักโค่น หรือพายุลมกระโชกแรง ให้ตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งผุ ตรวจสอบลำต้น หาร่องรอยการเข้าทำลายของแมลงและตัดแต่งต้นไม้ตามหลักวิชาการและงานรุกขกรรม และให้เร่งสำรวจประเมินความเสี่ยงของต้นไม้เพิ่มเติมกรณีอาจมีพายุลมแรงในเวลาอันใกล้ โดยตัดแต่งกิ่งต้นที่ทรงพุ่มหนาทึบต้านลม เพื่อแก้ไขทรงพุ่มต้นไม้ใหญ่โดยตัดสางโปร่งให้ลมพัดผ่านได้ ลดการฉีกหัก โค่นล้ม

ทั้งนี้ กทม. ได้เตรียมความพร้อมทั้งอุปกรณ์ บุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลด้านรุกขกรรมต้นไม้และผู้ปฏิบัติงานบนต้นไม้ ทั้งไม้ยืนต้นและไม้ดอกไม้ประดับที่ผ่านการอบรมแล้วทั่วกรุงเทพฯ รวมทั้งจัดเตรียมหน่วย BEST แก้ไขเหตุต้นไม้หักโค่นกีดขวางถนนสายสำคัญในความรับผิดชอบและแจ้งให้สำนักงานเขต 50 เขต จัดหน่วย BEST จัดเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุต้นไม้หักโค่น 24 ชั่วโมง พร้อมเครื่องมือ และยานพาหนะออกปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ต้นไม้หักโค่นกีดขวางถนน หรือหักโค่นทับบ้านเรือนประชาชนได้ทันทีที่เกิดเหตุ เพื่อเร่งเปิดการจราจรให้ประชาชนสัญจรผ่าน หรือบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนได้เร็วที่สุด ขณะเดียวกันได้ซักซ้อมแผนการช่วยเหลือฉุกเฉินและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปฏิบัติการ เช่น สถานีตำรวจพื้นที่ สำนักสิ่งแวดล้อม และสถานีดับเพลิงและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ หากเกิดเหตุต้นไม้หักโค่นจากพายุลมแรงกีดขวางถนนในที่สาธารณะ ถนน หรือในย่านชุมชน

นอกจากนี้ หากประชาชนพบเห็นต้นไม้ในที่สาธารณะที่อาจเสี่ยงต่อการหักโค่นจากพายุลมกระโชกแรง สามารถแจ้งข้อมูลและพิกัดต้นไม้ได้ในระบบ Traffy Fondue ทาง https://citydata.traffy.in.th/ และหากประชาชนมีความประสงค์ขอรับบริการตัดแต่งต้นไม้ในบ้าน สามารถติดต่อได้ที่ฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตพื้นที่ที่บ้านเรือนตั้งอยู่ โดยมีอัตราค่าบริการตามระเบียบที่ กทม. กำหนด

 

 

เขตหนองจอกชี้ประกวดราคาก่อสร้างสวน 15 นาที เลียบวารี 21 ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง

นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กทม. กล่าวกรณีมีข้อสังเกตการประกวดราคาโครงการก่อสร้างสวน 15 นาที เลียบวารี 21 พบบริษัทซื้อซอง ยื่นเสนอราคารายเดียวว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบงานปรับปรุงสวน 15 นาที เลียบวารี 21 ถนนเลียบวารี แขวงโคกแฝด ได้รับการจัดสรรงบกลางในช่วงปลายปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ประกาศเผยแพร่แผนการจัดซื้อจัดจ้างในระบบของกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 67 งบประมาณ 8,488,000 บาท ทั้งนี้ ได้ดำเนินการจัดจ้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างไม่มีผู้วิจารณ์และอุทธรณ์ ผลปรากฏว่า มีผู้ยื่นเสนอราคา จำนวน 1 รายการ โดยคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาได้พิจารณาตามข้อ 56 วรรคหนึ่ง ซึ่งระบุไว้ว่า “ในกรณีที่ปรากฏว่า มีผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว หรือมีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย ถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนดในเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียวให้คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์เสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่ เพื่อยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ครั้งนั้น แต่หากคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุผลสมควรที่จะดำเนินการต่อไปโดยไม่ต้องยกเลิกการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ให้คณะกรรมการดำเนินการตามข้อ 57 หรือข้อ 58 แล้วแต่กรณี โดยอนุโลม”

ทั้งนี้ คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาฯ ได้ร่วมกันพิจารณาผลการเสนอราคา โดยใช้เกณฑ์ราคารวมต่ำสุดในการพิจารณาแล้วเห็นว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด พี.ที.สถาปัตย์ เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว และยื่นเอกสารเสนอราคาครบถ้วน ถูกต้องตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดไว้ในประกาศและเอกสารประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โดยเสนอราคาเป็นเงิน 7,306,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำสุด คณะกรรมการฯ ได้ร่วมกันต่อรองราคาแล้ว ห้างฯ ขอยืนยันราคาเดิมตามที่เสนอไว้ เนื่องจากเป็นราคาต่ำสุดอยู่แล้ว เป็นเงิน 7,306,000 บาท คณะกรรมการฯ จึงพิจารณาตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 56 โดยมีความเห็นว่า งานก่อสร้างดังกล่าวหากดำเนินการล่าช้า อาจเกิดความเสียหายแก่ กทม. เนื่องจากเป็นงานส่วนหนึ่งตามนโยบายของผู้บริหาร กทม. และเห็นว่าราคาที่เสนอนั้นต่ำกว่าวงเงินงบประมาณ 1,182,000 บาท (งบประมาณ 8,488,000 บาท) คิดเป็นร้อยละ 13.93 ต่ำกว่าราคากลาง 811,901.79 บาท (ราคากลาง 8,117,901.79 บาท) คิดเป็นร้อยละ 11.12 ซึ่งมีความคุ้มค่าในการใช้เงินงบประมาณของ กทม. ประกอบกับได้มีแนวทางการปฏิบัติตามหนังสือของคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กรมบัญชีกลาง เรื่อง การดำเนินการกรณีมีผู้ยื่นข้อเสนอราคาเพียงรายเดียว ซึ่งได้ระบุไว้ในย่อหน้าที่สองว่า คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 114 บัญญัติให้ผู้อุทธรณ์ต้องเป็นผู้ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอแล้ว แต่ไม่ได้รับการประกาศผลเป็นผู้ชนะ หรือไม่ได้รับการคัดเลือกเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐจากหลักเกณฑ์ดังกล่าว
สำหรับกรณีที่หน่วยงานได้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีคัดเลือกแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ยื่นข้อเสนอราคาและผ่านการพิจารณาเพียงรายเดียว และหน่วยงานของรัฐพิจารณาแล้วเห็นควรให้ผู้ยื่นข้อเสนอรายนั้นเข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐได้ จึงไม่มีผู้อุทธรณ์ตามนัยมาตรา 114 แต่อย่างใด ดังนั้น เพื่อมิให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐล่าช้าและเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 66 วรรคสองข้างต้น จึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 29 (4) ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 161 วรรคสอง ในกรณีที่มีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ยื่นข้อเสนอและผ่านการพิจารณาเพียงรายเดียวและเป็นผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐสามารถลงนามในสัญญาได้โดยไม่ต้องรอให้ล่วงพ้นระยะเวลาอุทธรณ์

 

 

เขตบางกอกใหญ่แจงชุมชนวัดหงส์ฯ จัดงาน “ชิม ช็อป ใช้” ยืนยันไม่มีเรียกเก็บค่าเช่าที่

นายสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้อำนวยการเขตบางกอกใหญ่ กทม. กล่าวกรณีมีข้อวิจารณ์การเรียกเก็บค่าเช่าที่ถนนคนเดินหน้าวัดหงส์รัตนารามว่า สำนักงานเขตฯ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการจัดงานชิม ช็อป ใช้ หน้าวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งเป็นงานที่ประชาชนชาวชุมชนวัดหงส์รัตนารามจัดขึ้น เพื่อสมทบทุนตามกำลังศรัทธาหารายได้ต่อเติมสร้างกำแพงโบสถ์ให้สูงขึ้น เพื่อป้องกันคนเร่ร่อนปีนเข้ามาพักอาศัยและป้องกันการขโมยของบริเวณโบสถ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการลักขโมยและทรัพย์สินของชาวบ้านสูญหายหลายราย

นอกจากนี้ การจัดงานดังกล่าวยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในชุมชนวัดหงส์รัตนารามและชุมชนในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ทั้ง 29 ชุมชน สร้างงานเพิ่มอาชีพให้กับผู้สูงอายุ คนว่างงานได้มีงานทำ มีรายได้ เพื่อพัฒนาเป็นตลาดนัดชุมชนคนวัดหงส์รัตนารามอย่างยั่งยืน โดยจะมีสินค้ามือสอง หรือที่ไม่ใช้แล้วและยังใช้ได้ของชุมชนมาจำหน่ายในงาน ทั้งนี้ การจัดงานใช้พื้นที่ของวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ และไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ค้า แต่จะทำบุญตามกำลังศรัทธาและนำเงินที่ได้สมทบทุน เพื่อต่อเติมสร้างกำแพงโบสถ์วัดหงส์รัตนาราม

    

นายแสนยากร อุ่นมีศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า จากการประสานข้อมูลการจัดงานชิม ช็อป ใช้ หน้าวัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ ทราบว่า คณะกรรมการชุมชนร่วมกับคณะกรรมการวัดหงส์รัตนาราม ได้กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 12 – 20 ก.ย. 67 รูปแบบของงานเป็นการหารายได้ เพื่อบำรุง ศาสนสถานและสมทบทุนตามกำลังศรัทธา เพื่อสร้างกำแพงวัดให้สูงขึ้น พร้อมติดตั้งเหล็กดัดป้องกันเหตุโจรกรรมที่วัด โดยการจัดงานทำบุญดังกล่าวถือเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายรัฐบาลอีกทางหนึ่งที่ดำเนินการโดยภาคประชาชน ซึ่งกรณีที่มีการเรียกเก็บค่าแผง หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดนั้น จะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของคณะกรรมการผู้จัดงานฯ

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สพส. ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการเสริมสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขี้นให้กับประชาชน โดยได้จัดประชุมมอบนโยบายแก่สำนักงานเขต เพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ กทม. ตามนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 67 โดยกำหนดแนวทางดำเนินงาน อาทิ ให้สำนักงานเขตเปิดพื้นที่ให้กับผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายเล็ก และผู้ประกอบการชุมชน ได้จำหน่ายสินค้าภายในสำนักงานเขต รวมทั้งให้กลุ่มการปฏิบัติงานของสำนักงานเขต 6 กลุ่มเขต ประสานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการค้าภายใน ผู้ประกอบการจัดงานจำหน่ายสินค้า เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ (โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย) กลุ่มเขตละ 2 ครั้ง/เดือน รวมทั้งหมด 36 ครั้ง ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล โดย กทม. ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินงานระหว่างวันที่ 20 ส.ค. – 31 ต.ค. 67

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200