(12 ก.ย.67) เวลา 13.00 น. นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในพื้นที่เขตดินแดง ประกอบด้วย
พัฒนาสวน 15 นาที สวนหย่อมริมคลองสามเสน ซี่งเขตฯ ได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดทำทางเดิน ที่นั่งพักผ่อน ปูหญ้า ปลูกไม้พุ่ม และติดตั้งไฟส่องสว่างโซล่าเซลล์ ปัจจุบันเขตฯ มีสวน 15 นาที จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1.สวนหย่อมดับเพลิงสุทธิสาร พื้นที่ 3 งาน 2.สวนที่ว่างริมคลองห้วยขวาง พื้นที่ 95 ตารางวา 3.สวนหย่อมริมคลองสามเสน พื้นที่ 200 ตารางเมตร 4.สวนการเคหะสร้างสุข พื้นที่ 100 ตารางเมตร 5.สวนภายในสำนักงานเขต พื้นที่ 100 ตารางเมตร นอกจากนี้ เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ว่าง อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำสวน 15 นาทีเพิ่มเติมอีก 6 แห่ง ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ พิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้พื้นที่ รวมถึงการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายในสวนให้ตรงตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่และประชาชนที่เข้ามาใช้บริการ เพื่อให้การจัดทำสวน 15 นาที เป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง
ตรวจมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงการ Aspire Vibha-Victory ถนนดินแดง ซึ่งเป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ความสูง 29 ชั้น จำนวน 1 อาคาร ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามวิธีและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตในการก่อสร้างตามกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (พ.ศ.2526) และแก้ไขเพิ่มเติมตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 67 (พ.ศ.2563) และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กำชับผู้ประกอบการให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเคร่งครัด อาทิ จัดทำรั้วโดยรอบในระดับความสูงไม่น้อยกว่า 6 เมตร เปิดเครื่องพ่นละอองน้ำบริเวณทางเข้า-ออกโครงการและพื้นที่โดยรอบในช่วงเวลาทำงาน จัดทำบ่อล้างทำความสะอาดล้อรถบรรทุกที่ผ่านเข้า-ออกโครงการ ตรวจวัดค่าควันดำรถบรรทุกตามรอบที่กำหนด ติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่น PM2.5 และจอแสดงผลด้านหน้าโครงการ นอกจากนี้เขตฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบและควบคุมสถานประกอบการที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้แก่ ประเภทหม้อไอน้ำ (Boiler) 3 แห่ง ประเภทอู่พ่นสีรถยนต์ 8 แห่ง ประเภทสถานที่ก่อสร้าง 5 แห่ง ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ควบคุมไม่ให้ปล่อยมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
เยี่ยมชมต้นแบบการคัดแยกขยะ โรงเรียนกีฬากรุงเทพมหานคร มีครูบุคลากรและนักเรียน 455 คน เข้าร่วมโครงการคัดแยกขยะ ตั้งแต่ปี 2560 วิธีการคัดแยกขยะ โดยจำแนกตามประเภทของขยะ ดังนี้ 1.ขยะอินทรีย์ จัดภาชนะรองรับขยะเศษอาหารในสถานที่รับประทานอาหารของนักเรียน นำไปรวบรวมในจุดพักขยะเศษอาหาร ประสานเกษตรกรให้มารับไปเลี้ยงปลาที่รังสิต 2.ขยะรีไซเคิล ตั้งวางถังรองรับขยะรีไซเคิลบริเวณจุดต่างๆ ของอาคาร จัดอบรมให้ความรู้ในการคัดแยกขยะแก่นักเรียน 3.ขยะทั่วไป ตั้งวางถังรองรับขยะทั่วไปบริเวณจุดต่างๆ ของอาคาร โดยแม่บ้านจะเก็บรวบรวมไปไว้ที่จุดรวมขยะ เพื่อให้เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ 4.ขยะอันตราย ตั้งวางถังรองรับขยะอันตราย เมื่อมีปริมาณมากจะแจ้งให้เขตฯ ดำเนินการจัดเก็บ สำหรับปริมาณขยะก่อนคัดแยกและหลังคัดแยก ดังนี้ ขยะทั่วไปก่อนคัดแยก 250 กิโลกรัม/วัน หลังคัดแยก 150-200 กิโลกรัม/วัน ขยะรีไซเคิลก่อนคัดแยก 50 กิโลกรัม/เดือน หลังคัดแยก 80 กิโลกรัม/เดือน ขยะอินทรีย์หลังคัดแยก 9,000 กิโลกรัม/เดือน ขยะอันตรายหลังคัดแยก 1 กิโลกรัม/เดือน ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้คำแนะนำแก่ทางโรงเรียน ในการคัดแยกขยะประเภทต่าง ๆ เพื่อให้การคัดแยกขยะมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บไปกำจัด ซึ่งปริมาณขยะที่คัดแยกจะมีผลต่ออัตราค่าธรรมเนียมในการจัดการมูลฝอยฉบับใหม่
ติดตามการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน บริเวณโค้งพร้อมพรรณ ถนนประชาสงเคราะห์ ปัจจุบันเขตฯ มีพื้นที่ทำการค้านอกจุดผ่อนผัน จำนวน 6 จุด รวมผู้ค้าทั้งสิ้น 275 ราย ดังนี้ 1.หน้าบริษัทไทยประกันชีวิต ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่หน้าตึก RS Tower ถึงหน้าห้าง Big C รัชดาภิเษก รวมผู้ค้า 85 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-12.00 น. ผู้ค้า 35 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 16.00-21.00 น. ผู้ค้า 50 ราย 2.หน้าธนาคารกรุงไทย ถนนประชาสงเคราะห์ ตั้งแต่สามแยกห้วยขวาง ถึงซอยประชาสงเคราะห์ 32 รวมผู้ค้า 48 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 06.00-14.00 น. ผู้ค้า 27 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-22.00 น. ผู้ค้า 21 ราย 3.หน้าตลาดกลางดินแดง ถนนประชาสงเคราะห์ ตั้งแต่ซอยประชาสงเคราะห์ 1-11 ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-23.00 น. 4.หน้าตลาดห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ รวมผู้ค้า 119 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 07.00-21.00 น. ผู้ค้า 25 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 21.00-04.00 น. ผู้ค้า 94 ราย 5.โค้งพร้อมพรรณ ถนนประชาสงเคราะห์ ตั้งแต่หน้าร้านโจ๊กหมูทอง ถึงตรงข้ามซอยประชาสงเคราะห์ 12 ผู้ค้า 10 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-24.00 น. และ 6.โค้งหอนาฬิกาห้วยขวาง ถนนประชาสงเคราะห์ ตั้งแต่สวนสมเด็จย่า 90 ถึงซอยประชาสงเคราะห์ 30 รวมผู้ค้า 3 ราย ช่วงเวลาทำการค้า 17.00-03.00 น. ซึ่งในปี 2567 เขตฯ ยกเลิกจุดทำการค้าแล้ว 2 จุด ได้แก่ 1.ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ ผู้ค้า 17 ราย (ยกเลิกเมื่อวันที่ 2 เมษายน 67) 2.บริเวณหน้า TVC แมนชั่น ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 4 ราย (ยกเลิกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 67) ในปีงบประมาณ 2568 เขตฯ มีเป้าหมายยกเลิกจุดทำการค้าอีก 2 จุด ได้แก่ หน้าตลาดกลางดินแดง ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย และโค้งพร้อมพรรณ ถนนประชาสงเคราะห์ ผู้ค้า 10 ราย
นอกจากนี้ เขตฯ ได้สำรวจพื้นที่ในจุดที่มีความเหมาะสม เพื่อจัดทำ Hawker Center จำนวน 6 จุด ได้แก่ 1.ตลาดสดห้วยขวาง ชั้น 2 พื้นที่ 512 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 2.หน้าห้างเอสพลานาด พื้นที่ 54 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย 3.หน้าโครงการพร้อมรัชดา พื้นที่ 86 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 300 ราย 4.ด้านหลังมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พื้นที่ 16 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 10 ราย 5.หน้าห้าง The Steet รัชดา พื้นที่ 90 ตารางวา รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย 6.ตลาดนัดจ๊อดแฟร์ รัชดา รองรับผู้ค้าได้ 200 ราย และ 7.เดอะพร้อมดินแดง ซอยประชาสงเคราะห์ 14 รองรับผู้ค้าได้ 20 ราย ทั้งนี้ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มอบหมายให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด กวดขันผู้ค้าไม่ให้ตั้งวางสิ่งของรุกล้ำพื้นที่ทางเท้า ขอความร่วมมือผู้ค้าให้จัดเก็บอุปกรณ์ทำการค้าและทำความสะอาดพื้นที่หลังเลิกทำการค้าในแต่ละวัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของพื้นที่
ในการนี้มี นายประเทืองวิทย์ ดีใจ ผู้อำนวยการเขตดินแดง พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดินแดง สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
สิ่งแวดล้อมดี #สุขภาพดี #เศรษฐกิจดี
—– (จิรัฐคม…สปส.รายงาน)