Search
Close this search box.
สภากทม.เห็นชอบงบ 68 กว่า 9 หมื่นล้านบาท

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ข้อความ

(11 ก.ย.67) นายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สอง (ครั้งที่ 1) ประจำปีพุทธศักราช 2567 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา กทม.2 (ดินแดง)

ในที่ประชุม นางกนกนุช กลิ่นสังข์ ส.ก.เขตดอนเมือง ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 รายงานผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ รายละเอียดการปรับลด รวมถึงข้อสังเกตทั่วไป และข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ซึ่งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,828,531,580 บาท โดยหลักเกณฑ์การพิจารณา คณะกรรมการวิสามัญได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ เริ่มจากชื่อร่างข้อบัญญัติ หลักการ เหตุผล คำปรารภ ตัวร่างข้อบัญญัติ เรียงตามลำดับแล้วจึงพิจารณารายละเอียดของงบประมาณรายจ่ายจนจบ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงรายละเอียดประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ กรรมการวิสามัญฯ ได้ขอสงวนความเห็นเพื่อให้สภากรุงเทพมหานครวินิจฉัยในรายการของสำนักการโยธา สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักพัฒนาสังคม และสำนักงานเขตปทุมวัน

.

“งบประมาณที่ผ่านคณะกรรมการวิสามัญฯ ในครั้งนี้มีมากกว่า 90,000 ล้านบาท จำแนกเป็น งบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน 90,000,000,000 บาท และงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวนเงิน 828,531,580 บาท คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณางบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 21 คณะ แล้วจึงรายงานผลการพิจารณา พร้อมรับฟังเหตุผลความจำเป็นในการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ เป็นไปด้วยความรอบคอบ ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้พิจารณาโดยยึดหลักของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร แผนพัฒนากรุงเทพมหานคร แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักความคุ้มค่าในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและกรุงเทพมหานคร ” นางกนกนุช กล่าว

สรุปผลการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ปรับลดงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร จำนวน 5,601,921,903 บาท เป็นงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร จำนวน 5,576,921,903 บาท และงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 25,000,000 บาท

โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่าย ภายในวงเงินที่คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาปรับลด โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ เห็นชอบรายการงบประมาณรายจ่ายที่ผู้ว่าฯ ได้เสนอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของกรุงเทพมหานคร ภายในกรอบวงเงินที่คณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณาปรับลด จำนวน 5,576,921,903 บาท

ส่วนงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ปรับลด งบประมาณของสำนักงานสถานธนานุบาลกรุงเทพมหานคร จำนวน 25,000,000 บาท และให้ผ่านงบประมาณรายจ่ายของการพาณิชย์ของกรุงเทพมหานคร จำนวน 803,531,580 บาท รวมงบประมาณรายจ่ายที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ให้ผ่านทั้งสิ้น 90,803,531,580 บาท

ในส่วนของโครงการที่คณะกรรมการวิสามัญฯได้ขอสงวนความเห็นไว้เพื่อขอให้สภากรุงเทพมหานครวินิจฉัย ได้แก่ นายนภาพล จีระกุล ส.ก.บางกอกน้อย และนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.จอมทอง ขอสงวนความเห็นในประเด็นจ้างควบคุมงานก่อสร้าง โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาล และค่าใช้จ่ายในการจ้างที่ปรึกษาของสำนักการโยธา โดยขอให้ตัดงบประมาณเนื่องจากไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ และให้ความเห็นว่าโครงการที่ใช้งบประมาณในการจ้างผู้ควบคุมงานหรือที่ปรึกษานั้นไม่คุ้มค่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานมีความรู้ความเข้าใจในโครงการและพื้นที่ความรับผิดชอบอยู่แล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ต้องสำรวจพื้นที่ของตนเองเป็นประจำ จึงไม่เห็นชอบที่ต้องจ้างบุคคลภายนอกเข้ามาทำดำเนินการ สำรวจ หรือควบคุมงานแต่อย่างใด ทั้งนี้ ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มีมติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น ให้ตัดงบประมาณของสำนักการโยธา จำนวน 3 โครงการ ในวงเงิน 29,500,000 บาท

จากนั้นที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครได้มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ให้ตั้งเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 90,773,031,580 บาท ซึ่งจะได้จัดส่งให้ฝ่ายบริหารดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ข้อบัญญัติงบประมาณฉบับนี้จะใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักการโยธา จำนวน 9,210,290,442 บาท สำนักการระบายน้ำ จำนวน 7,080,714,790 บาท และสำนักการแพทย์ จำนวน 6,897,150,390 บาท

หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับ คือ สำนักงานเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 72,188,340 บาท สำนักงบประมาณ จำนวน 87,167,000 บาท สำนักเทศกิจ จำนวน 180,575,100 บาท

สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ สำนักงานเขตลาดกระบัง จำนวน 797,063,900 บาท สำนักงานเขตหนองจอก จำนวน 763,970,000 บาท และสำนักงานเขตบางขุนเทียน จำนวน 734,130,300 บาท

สำนักงานเขตที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด 3 ลำดับ คือ สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ จำนวน 223,390,700 บาท สำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย จำนวน 246,964,300 บาท และสำนักงานเขตบางรัก จำนวน 263,344,910 บาท

“ส.ก.กนกนุช กล่าวขอบคุณประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการที่ได้ช่วยกลั่นกรองงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานตามที่ได้รับมอบหมายได้อย่าง ระสิทธิภาพ และขอบคุณคณะกรรมการวิสามัญทุกท่านที่ได้ร่วมประชุมพิจารณาจนเสร็จเรียบร้อยภายในเวลาที่กำหนด ขอบคุณผู้บริหารกรุงเทพมหานคร หัวหน้าหน่วยงานทุกหน่วยงาน ที่ได้มาร่วมประชุมชี้แจงต่อคณะกรรมการวิสามัญฯ รวมทั้งฝ่ายเลขานุการซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขานุการสภากรุงเทพมหานคร ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสำนักงบประมาณฯ ที่เป็นกำลังสำคัญในการทำงาน จนทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี

*คณะกรรมการวิสามัญฯ ตั้งข้อสังเกตทั่วไปและข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน เพื่อเป็นแนวทางขอจัดสรรงบปีต่อไป ดังนี้

สำหรับข้อสังเกตทั่วไปของคณะกรรมการวิสามัญ ได้แก่

1.กรุงเทพมหานครควรกำหนดมาตรการดำเนินการอย่างเข้มงวดกับผู้รับจ้างที่ผิดสัญญา และทิ้งงาน เช่น การปรับ การเรียกค่าเสียหาย การยกเลิกสัญญา การฟ้องร้องดำเนินคดี รวมทั้งระบุไว้ในร่างขอบเขตงาน (Term of Reference : TOR) เรื่องคุณลักษณะของผู้เสนอราคา เป็นต้น

2. กรุงเทพมหานครควรประสานงานกับหน่วยงานอื่นหรือประชาชน โดยให้ความช่วยเหลือ ความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญที่เป็นประโยชน์ในการเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งเหตุผลและความจำเป็น เพื่อให้การเบิกจ่ายเงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ สอดคล้องกับแผนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในแต่ละช่วงระยะเวลาที่มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการพัฒนาต่อไป

3. การจัดซื้อครุภัณฑ์ควรมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะที่ชัดเจน เพื่อคุณภาพ ความแข็งแรง อายุการใช้งานของครุภัณฑ์ และควรมีการรับประกันสินค้า

4. กรุงเทพมหานครควรกำหนดคุณลักษณะและรายละเอียดของครุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน และเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

ข้อสังเกตเฉพาะหน่วยงาน ได้แก่

1. สำนักการคลัง ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เพื่อจะได้ชำระค่าภาษีภายในระยะเวลาที่กำหนด และเพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีการยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สิน หากค้างชำระค่าภาษี

2. สำนักการจราจรและขนส่ง การเสนอขอตั้งงบประมาณ ค่าครุภัณฑ์ รายการกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ระบบดิจิทัลเพื่อทดแทนระบบแอนะล็อกแล้วติดตั้งในสถานที่เดิมนั้น ควรเปลี่ยนสถานที่ติดตั้งใหม่ โดยเพิ่มคุณสมบัติของเลนส์กล้องที่มีมุมมองกว้าง ครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น และติดตั้งกล้องฯ เพียงตัวเดียว ทั้งนี้ เพื่อประหยัดงบประมาณ

3. สำนักการศึกษา ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครหลายแห่งมีจำนวนนักเรียนลดลง สำนักการศึกษา ควรวิเคราะห์สาเหตุเพื่อปรับปรุงแก้ไข โดยให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นที่ยอมรับ และสร้างความไว้วางใจแก่ผู้ปกครอง และควรปรับปรุงหรือพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เทคนิคการสอน โดยสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนที่มีความทันสมัย รวมทั้งพัฒนาเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อรองรับการเรียนการสอน

4. สำนักการแพทย์ ควรจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย์เพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน และสอดคล้องกับการจัดหาระบบสารสนเทศมาใช้ในโรงพยาบาล

5. สำนักการระบายน้ำ ควรดำเนินการก่อสร้างเขื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและป้องกันการรุกล้ำ ส่วนคู คลอง ลำรางขนาดเล็ก ควรก่อสร้างดาดท้องคลองเพื่อความสะดวกในการขุดลอก

6. สำนักการโยธา การจัดทำโครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมถนน ทางเท้าทุกรายการต้องวางแผนการดำเนินงาน จัดทำแผนมาตรฐานทางวิศวกรรม จัดทำแผนงบประมาณ คำนึงถึงความคุ้มค่า และการแก้ไขปัญหาในเชิงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรวดเร็วและครบถ้วน สมบูรณ์ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

7. สำนักงานเขต ในการพิจารณาปรับปรุงทางเท้าควรคำนึงถึงอายุการใช้งาน ความชำรุด สภาพภูมิทัศน์ เช่น ทางเท้าบริเวณย่านการค้า ย่านธุรกิจและย่านอุตสาหกรรม โดยไม่ควรปรับปรุงเพียงบางส่วน แต่ควรปรับปรุงทั้งหมด เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่ แหล่งท่องเที่ยว และเพื่อความสวยงาม

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200