Search
Close this search box.
กทม. ชี้แจงข่าวร้องเรียน ประจำวันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567

กทม. ตรวจสอบร้านยาดองในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก เตือนประชาชนหลีกเลี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิต

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวกรณีพบผู้ป่วยดื่มสุราปลอมเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) หลายรายว่า สนอ. ได้บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการตรวจสอบการจำหน่ายสุราปลอมในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก โดยเฉพาะพื้นที่เขตคลองสามวาและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบผู้ป่วยจากการดื่มสุราปลอมจำนวนมาก โดยเปิดศูนย์ EOC เพื่อบริหารจัดการเหตุการณ์ดังกล่าว รวมทั้งลงพื้นที่ตรวจสอบร้านที่รับสุราเถื่อน (เมทานอล) ไปจำหน่ายในพื้นที่กรุงเทพฯ ตะวันออก จำนวน 18 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 6 สำนักงานเขต ได้แก่ เขตมีนบุรี เขตคลองสามวา เขตหนองจอก เขตลาดกระบัง เขตประเวศ และเขตคันนายาว เพื่อตรวจสอบร้านเหล้า แหล่งผลิตเมทานอล และข้อมูลผู้ป่วย พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ให้หลีกเลี่ยงการดื่มสุราเถื่อนและเฝ้าระวังสังเกตอาการเบื้องต้น เพื่อให้ความช่วยเหลือและส่งต่อกรณีพบผู้ป่วยในชุมชน เนื่องจากอาจจะเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

ส่วนมาตรการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับร้านค้า หรือผู้ที่ลักลอบจำหน่ายสุราปลอมเป็นอำนาจของสรรพสามิตตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 แบ่งลักษณะความผิดได้ 2 กรณี คือ (1) การขายเหล้ายาดองที่ทำจากสุราที่เสียภาษีแล้ว จะผิดกฎหมายของกรมสรรพสามิตตามมาตรา 155 (ไม่มีใบอนุญาตขาย) มาตรา 157 (เปลี่ยนแปลงภาชนะบรรจุสุรา) และมาตรา 158 (เปลี่ยนแปลงสุรา) ซึ่งมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 5,000 บาทและ (2) การขายเหล้ายาดองที่ทำจากสุราที่ไม่ได้เสียภาษี จะผิดกฎหมายกรมสรรพสามิต ตามมาตรา 191 (ขายสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต) และมาตรา 192 (ซื้อหรือครอบครองสุราที่ผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาต) ซึ่งมีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตและกองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้ตรวจสอบต้นตอโรงงานผลิต พบลักลอบผสมเมทานอล และได้สั่งปิดซุ้มยาดองทั้ง 18 แห่งเรียบร้อยแล้ว และได้แยกของกลางเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกให้กรมสรรพสามิตตรวจ และอีกส่วนจะส่งตรวจกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อใช้ประกอบสำนวนคดี ส่วนในพื้นที่เขตมีนบุรีที่มีผู้เสียชีวิต ขณะนี้ได้ส่งพิสูจน์และอยู่ระหว่างรอผล เพื่อนำมาเชื่อมโยงการกระทำความผิด

นายสมหวัง ชัยประกายวรรณ์ ผู้อำนวยการเขตคลองสามวา กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สำรวจ ตรวจสอบ และคัดกรองประชาชนผู้ที่มีประวัติดื่มยาดอง หรือเคยดื่มยาดอง ตามพิกัดร้านและซุ้มยาดองอันตรายในพื้นที่เขตคลองสามวา จำนวน 9 จุด ได้แก่ ถนนเจริญพัฒนา (ตลาดกีบหมู) ซอยสามวา 11/1 ประชาร่วมใจ 19 ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง 1 ซอย 7 แยก 1 ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง 1 ซอย 7 ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง 1 ซอย 9 ถนนซอยประชาร่วมใจ 43/1 ถนนซอยนิมิตใหม่ 9 และซอยหทัยราษฎร์ 33 โดยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในบริเวณใกล้เคียง เพื่อสร้างการรับรู้และความตระหนักถึงอันตรายของเหตุดังกล่าว รวมทั้งแจ้งเตือนให้ผู้มีประวัติดื่มสุราเถื่อน (ยาดอง) ใน 9 จุดข้างต้นได้สังเกตอาการและพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ เบื้องต้นพบผู้ที่เคยดื่มจากร้านขายสุราเถื่อนดังกล่าวและตรวจเลือดพบว่า มีเลือดเป็นกรด จำนวน 3 ราย แต่ยังไม่มีอาการ จึงให้สังเกตอาการอยู่ที่บ้านและหากมีอาการเพิ่มขึ้นให้รีบมาพบแพทย์โดยทันที

ทั้งนี้ จากการลงสำรวจพื้นที่เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 67 พบร้านขายสุรา (ยาดอง) จุดเสี่ยงทั้ง 9 จุด ได้ปิดร้านแล้วทั้งหมด จากการตรวจสอบบริเวณที่สาธารณะในพื้นที่เขตคลองสามวาไม่พบร้านจำหน่ายสุราเถื่อน (ยาดอง) ที่ตั้งขายในพื้นที่สาธารณะและในตลาด อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ จะได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันการลงพื้นที่ตรวจตราและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

 

 

กทม. รับฟังความเห็นชาวซอยปรีดีพนมยงค์ 26 เตรียมเสนอทบทวนแนวถนนโครงการสาย ก 30

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง (สวพ.) กทม. กล่าวกรณีประชาชนที่พักอาศัยในซอยปรีดีพนมยงค์ 26 คัดค้านการขยายถนนตามร่างผังเมืองใหม่ว่า ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและการขนส่ง กำหนดถนนโครงการสาย ก 30 ขนาดเขตทางกว้าง 12 เมตร เป็นถนนเดิมกำหนดให้ขยายเขตทางและบางส่วนเป็นถนนโครงการกำหนดให้ก่อสร้างใหม่ ตั้งแต่ถนนสุขุมวิท 71 (ซอยปรีดีพนมยงค์) บริเวณซอยปรีดีพนมยงค์ 26 (ซอยพัฒนเวศม์) ในเขตวัฒนา ถึงถนนพัฒนาการ ในเขตสวนหลวง ระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร เพื่อพัฒนาโครงข่ายถนนสายรองเชื่อมต่อระหว่างซอยปรีดีพนมยงค์กับถนนพัฒนาการให้มีความสะดวกต่อการสัญจรและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ไม่ได้มีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้เกิดอาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่แต่อย่างใด อีกทั้งแนวถนนดังกล่าวเป็นถนนเดิมตามผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่กำหนดไว้เป็นถนนสาย ข 40 และ ข 51 ขนาดเขตทาง 16 เมตร ซึ่งใช้บังคับมากว่า 10 ปีแล้ว โดยมุ่งหวังให้เกิดระยะถอยร่นของอาคาร (set back) สำหรับอาคารที่จะก่อสร้างขึ้นใหม่และเกิดเป็นแนวถนนได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้มีการศึกษาทบทวนถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในชุมชนและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงเปรียบเทียบความเป็นไปได้และผลกระทบที่มีต่อประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในแนวสายทางของถนนดังกล่าว จึงได้ลดขนาดเขตทางจากเดิม 16 เมตร เป็น 12 เมตร ซึ่ง สวพ. ได้จัดประชุมรับฟังความเห็นของประชาชนแบบรายเขต เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับฟังปัญหาจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น

ทั้งนี้ ได้จัดประชุมที่สำนักงานเขตสวนหลวง เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 67 และสำนักงานเขตวัฒนา เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 67 โดยประชาชนได้แสดงความคิดเห็นคัดค้านแนวถนน ก 30 เนื่องจากมีความกังวลเรื่องการเวนคืนที่ดิน การเกิดอาคารสูง และการเพิ่มปัญหาจราจรในพื้นที่ ซึ่ง สวพ. ได้รับทราบประเด็นดังกล่าวแล้ว โดยจะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนเสนอต่อคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาทบทวน แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกแนวถนนดังกล่าวออกจากร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งจำเป็น ต้องดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ต่อไป

แชร์ข่าว:
กรุงเทพฯ มีอะไร อัพเดทข่าวสารฉับไว กิจกรรมที่น่าสนใจ และมีส่วนร่วมได้ รวมไว้ให้ที่นี่

©2022 สงวนลิขสิทธิ์ กรุงเทพมหานคร

สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กทม. 10200